เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ SMEs ตามมติครม.


เอสเอ็มอีแบงก์พร้อมเดินหน้าปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำตามมติครม. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดภาระค่าใช้จ่ายหลังจากที่เศรษฐกิจในช่วงนี้ยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าโครงการนี้จะสามารถเริ่มได้ภายในเดือนเม.ย.นี้เป็นต้นไป

คุณสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยมาตรการช่วย SMEs ที่ ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้ธนาคารมีส่วนร่วมในการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในวงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยจะคิดดอกเบี้ยจาก SMEs ในอัตรา 4% ต่อปี และอยู่ระหว่างการขอให้กระทรวงการคลังชดเชยให้เอสเอ็มอีแบงก์ 3% ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายภายในธุรกิจให้แก่ SMEs ในช่วงนี้ที่เกิดสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวนี้ พร้อมทั้งยังไม่ตัดโอกาส SMEs ที่มีประวัติค้างชำระในเครดิตบุโรกับผู้ที่มีความสุจริตใจ เพื่อให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะสามารถดำเนินการได้ในเร็ว ๆ นี้

สำหรับเป้าหมายของการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ SMEs มี 4 รูปแบบหลักดังนี้

1.ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ 

2. SMEs ในระยะเริ่มแรกที่มีนวัตกรรม 

3. SMEs ขนาดเล็กที่มีศักยภาพจะเติบโตเป็นขนาดกลางได้ 

4. SMEs ที่ประสงค์จะค้าขายหรือลงทุนในกลุ่มประเทศ AEC 

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 เรื่องที่สำคัญซึ่งทาง สสว. เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และเอสเอ็มอีแบงก์มีส่วนเข้าร่วมมือด้วยไม่น้อย โดยทาง สสว. จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ สสว. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้แก่ โครงการ Machine Fund ที่ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งโครงการนี้ สสว. เป็นผู้รับผิดชอบ และให้ธนาคารทุกแห่งเข้ามีส่วนร่วม  ซึ่งทางเอสเอ็มอีแบงก์ก็จะมาเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยเช่นกัน และโครงการต่อมาคือการจัดตั้ง Website ในลักษณะ E-commerce ร่วมกับสมาพันธ์ SMEs ไทย และ สสว. เพื่อให้ SMEs รายย่อยขายสินค้าแบบ Business to Business ผ่านช่องทาง Online ในลักษณะเดียวกับ Website ของ Alibaba.com ที่มีระบบการชำระเงินที่เชื่อถือได้  ถึงอย่างไรก็ตามจากที่ SMEs รายย่อยมีข้อจำกัดในเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า ดังนั้นควรช่วยให้มีการขายแบบ Online ได้ เพราะเป็นวิธีที่สะดวก และมีต้นทุนค่าการตลาดต่ำที่สุด โดยในขั้นแรกจะให้ครอบคลุมตลาดในประเทศก่อน และจะต่อยอดไปในตลาด AEC รวมถึงการใช้ Website ในการหาผู้ร่วมลงทุน หรือผู้ซื้อสินค้าในจำนวนไม่มากนักในตลาดเพื่อนบ้านคุณสาลินี กล่าวทิ้งท้าย