ส่อง 5 ตลาดอาเซียน หวั่นประเทศไทยน่าเป็นห่วง


ส่องตลาดอาเซียน 5 กลุ่ม ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยอาการน่าห่วง พาณิชย์สั่งอัดกิจกรรมกระตุ้นยอด 4 ใน 5 ตลาดเก่า ยังหนักใจกับอุปสรรคขวางทางอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีทั้งกฎระเบียบภายใน ผลิตเองลดนำเข้า ค่าเงินผันผวน  และตั้งฐานผลิตสินค้าเองในประเทศ

นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกิจกรรมสนับสนุนการส่งออกของไทยไปยังตลาดอาเซียนเก่า 5 ประเทศในปีนี้ประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนว่า สำหรับประเทศสิงคโปร์ในปี้นี้เน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้า  และซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งแผนในปีหน้าจะนำคณะผู้แทนการค้าสินค้ายานยนต์ สินค้าไลฟ์สไตล์ เดินทางมาเจรจาธุรกิจในประเทศไทย ส่วนทางด้านมาเลเซียเน้นจัดคณะผู้แทนสินค้าผลไม้ สินค้าแฟชั่นออนไลน์ เสื้อผ้า และจัดงานไทยแลนด์วีค ในช่วงเดือนกันยายน ส่วนปีหน้าเน้นโครงการบุกเจาะตลาดการค้าในหัวเมืองหลักทางเศรษฐกิจ โดยจัดงานแสดงสินค้าไทยในรัฐเซลังงอร์ และงานไทยแลนด์วีค ช่วงสิงหาคมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ทั้งนี้ทางด้านตลาดอินโดนีเซีย เน้นขยายการเจาะตลาดหัวเมืองหลัก หัวเมืองรอง และเน้นจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งในปีนี้จะมี 3 งาน เน้นงานไทยแลนด์วีค นอกจากนี้ยังส่งเสริมการขายสินค้าแฟชั่นและแบรนด์สินค้าที่มีคุณภาพในกลุ่มตลาดบน เป็นต้น ส่วนปีหน้ายังคงเน้นจัดงานไทยแลนด์วีคเหมือนเดิม ซึ่งการนำผู้แทนการค้า ผู้นำเข้าสินค้าประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์มาเจรจาการค้าที่ไทย อีกทั้งประเทศฟิลิปปินส์ปีนี้ยังเน้นการขยายตลาดในทุกหัวเมืองและการจัดงานแสดงสินค้า 4 งาน เช่น เข้าร่วมงานแสดงสินค้า IFEX 2015 ในลักษณะการประชาสัมพันธ์ พร้อมจัดกิจกรรมสาธิตปรุงอาหารในช่วงเดือนพฤษภาคม ส่วนปีหน้าได้วางโครงการบุกเจาะตลาดการค้าหัวเมืองหลักทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ โดยเน้นสินค้าอุปโภคบริโภค การนำผู้แทนการค้า ผู้นำเข้ามาเจรจาธุรกิจที่ไทยในช่วงเดือนสิงหาคม 2559

นอกจากนี้ยังมีประเด็นหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อการส่งออกไทยไปอาเซียนในปีนี้มีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น สิงคโปร์มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนาม เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยในประเทศเหล่านี้ลดลงเพราะผลิตได้เองในประเทศ หรือกรณีรัฐบาลสิงคโปร์ลดการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ทำให้การนำเข้าสินค้าวัสดุก่อสร้างลดลง อินโดนีเซีย มีนโยบายพึ่งพาตนเองโดยเน้นปลูกสินค้าเกษตรภายในประเทศและยังมีมาตรการเข้มงวดในการทำการประมงในอนาคตไทยต้องเปลี่ยนการนำเข้าอาหารทะเลจากแหล่งอื่นมากขึ้น

ส่วนตลาดฟิลิปปินส์ในสินค้าสัตว์ปีกเช่นไก่ แม้ว่าทางฟิลิปปินส์จะยกเลิกการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของไทยแล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ยังติดปัญหาด้านกระบวนการขั้นตอนการนำเข้าที่มีความล่าช้า และมาเลเซีย ผลจากค่าเงินริงกิตอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าน่าจะใช้เวลาถึงสิ้นปีนี้กว่าจะมีเสถียรภาพ ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปมาเลเซีย

ด้านนายบูรณ์ อินธิรัตน์ อัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายการพาณิชย์)  ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่า โดยภาพรวมของตลาดอาเซียนในปีที่ผ่านมาขยายตัวรูปดอลลาร์ 0.20% ขณะที่ในปีนี้เดิมตั้งเป้าขยายตัวที่ 7% แต่มีการปรับลดเป้าลงหลังจากมีการประชุมทูตพาณิชย์เมื่อกลางเดือนมีนาคมเหลือ 1% เนื่องจากหลายตลาดในอาเซียนติดลบ ทั้งนี้เมื่อแยกรายประเทศได้ตั้งเป้าส่งออกไปสิงคโปร์ ขยายตัวที่ 1% หรือมีมูลค่า 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, มาเลเซียขยายตัว 0.5% หรือมีมูลค่า 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, อินโดนีเซียขยายตัวติดลบ 5% หรือมีมูลค่า 9.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ,  ฟิลิปปินส์ ตั้งเป้าขยายตัว 12% หรือมีมูลค่า 6.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบรูไน ขยายตัว 0% หรือมีมูลค่า 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ