ความเป็นมาของ “หม้อห้อม”
ผ้าหม้อห้อม เป็นผ้าพื้นเมืองของจังหวัดแพร่ เป็นที่นิยมในการสวมใส่ของคนภาคเหนือ และของคนทั่วประเทศ ซึ่งแสดงได้ถึงเอกลักษณ์ผ้าไทย ซึ่งเป็นการใช้ผ้าฝ้ายที่ได้จากการทอ ย้อมด้วยสีครามที่ได้จากต้นฮ่อมหรือต้นคราม ปัจจุบันนำมาตัดชุดต่าง ๆ เช่น กางเกง กระโปรง เสื้อ ชุดเดรส สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย
“ม่อฮ่อม” หรือ “หม้อห้อม” หมายถึงเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย มีสีน้ำเงินเข้มที่ได้จากการย้อมด้วยต้นห้อมในหม้อดิน จึงเรียกว่า “หม้อห้อม” ต่อมามีการเพี้ยนมาเป็น “ม่อฮ่อม” หรือ “ม่อห้อม” หม้อห้อม จัดเป็นเครื่องแต่งกายพื้นบ้านของไทย มาตั้งแต่ยุคไทลื้อในสิบสองปันนา ยุคของลาวในประเทศลาว และยุคของไทล้านนา ทางภาคเหนือของไทย ชาวอีสานเรียกสีครามว่าสีนิล สีหม้อ หรือสีหม้อนิล ชาวอีสานตอนบนนิยมนำไปย้อมผ้า และมัดเป็นลาย เรียกว่า ผ้าย้อมคราม ผ้าสีครามล้ำค่าจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษนี้ เป็นผ้าพื้นเมืองที่สำคัญของจังหวัดแพร่ ซึ่งมีการถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน และแม้ว่าจะมีวิธีการเขียนได้หลายแบบ เช่น ม่อฮ่อม ม่อห้อม หม้อฮ่อมหม้อห้อม แต่ทุกคำล้วนมีความหมายเดียวกัน คือ เสื้อผ้าที่มีสีครามที่เกิดจากภูมิปัญญาช่างย้อม เป็นการใช้ผ้าฝ้ายที่ได้จากการทอ ย้อมด้วยสีครามที่ได้จากต้นห้อมหรือต้นคราม ได้ผ้ามีสีเดียวกันตลอดทั้งผืน การทำผ้าหม้อห้อมมีการทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ในการย้อมผ้า ชาวทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ นำเอาส่วนที่เป็นลำต้น และใบของต้นห้อมมาหมักในหม้อตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ทำให้ได้น้ำสีคราม แล้วนำมาย้อมกับผ้าสีขาวให้เป็นผ้าคราม
ใครสนใจอยากอนุรักษ์ของไทย ใส่เสื้อผ้าไทย ก็ลองหา ชุดหม้อห้อมมาใส่กันดู