กรมส่งเสริมการค้าฯเผยอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างรับทรัพย์ แนวโน้มขยายตัวดีรองรับการเปิด AEC โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ หนุนเจรจาเปิดตลาด FTA อินเดีย – จีน
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกวัสดุก่อสร้างว่า 2 เดือนแรก(ม.ค.-ก.พ.)ของปี 58 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 1,385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ขยายตัว 9.6% คาดว่าปีนี้จะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นราว 8,707 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 5% (จากปี 57 ที่ส่งออกรวมกว่า 8,292 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากตัวเลขส่งออกเหล็กและเหล็กกล้ามูลค่ากวา 912 ล้านเหรียญสหรัฐส่งออกไปยังตลาดหลัก ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และ ออสเตรเลีย
“ล่าสุดออสเตรเลียและสหรัฐฯมีการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มขึ้น 148% และ 55% ตามลำดับ ซึ่งออสเตรเลีย โดยบริษัท ทองเฮีย ฟาสเทนเนอร์ ได้รับคำสั่งซื้อ Bolts & Screws และ Stud Bolts Treaded Rods เป็นจำนวนมาก ส่วนสหรัฐฯนำเข้าสินค้าท่อเหล็ก จากสหไทย สตีล และ บอลี่ไพพ์ และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม” นางนันทวัลย์ กล่าว และว่า ในขณะที่ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง ยังคงส่งออกปูนซีเมนต์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พม่า กัมพูชา ลาว เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
สำหรับจุดแข็งในอุตสาหกรรมนี้ พบว่าไทยเป็นผู้ส่งออกเหล็กโครงสร้าง(Module) พร้อมการให้บริการแรงงานก่อสร้าง อย่างไรก็ตามไทยจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น หากไทยมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ซึ่งจะทำให้ลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าต่างประเทศ, มีการแข่งขันที่เป็นธรรมจากเพื่อนบ้าน เช่น การบิดเบือน HS Code เพื่อให้ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล รวมถึงค่าขนส่งที่มีราคาสูง และขาดแคลนเรือขนส่งแบบเทกอง (Bulk) สำหรับการขนส่งเหล็กและคอนกรีตไปพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการสินค้าสูง
นางนันทวัลย์ กล่าวว่า กลยุทธ์หลักที่ไทยได้เร่งดำเนินการ อาทิ การส่งเสริมและเร่งให้มีการเจรจาเปิดตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์ ให้มากขึ้นและพิจารณาเรื่อง กฎแหล่งกำเนิดสินค้าก่อนจัดทำข้อตกลง FTA กับอินเดีย และจีน โดยเฉพาะสินค้าเหล็กเพื่อจะได้ทราบกำหนดขอบเขตทางการค้าที่จะจัดทำขึ้น เนื่องจากสินค้าเหล็กเป็นสินค้าที่จะต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศน้อยกว่า 40% และเป็นสินค้าที่มีกฎการนำเข้าเฉพาะ(Product Specific Rules) มีการออกกฎหมายเพื่อปกป้องสินค้าเหล็กภายในประเทศ เพื่อทำให้เกิดสภาวะแข่งขันภายในประเทศ และ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ไทยเสียดุลการค้าน้อยลง , การส่งเสริมการขยายตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวด้านการก่อสร้างและสาธารณูปโภค, ผู้ประกอบการไทยควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปที่เป็นจุดแข็งของตน หรือขยายรูปแบบเหล็กสำเร็จรูปใหม่ๆเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่า
ทั้งนี้ภาคเอกชนคาดการณ์ว่า ปีนี้ธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง เนื่องจากจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งประเภทที่อยู่อาศัย โรงแรมและพาณิชยกรรม มีแนวโน้มการขยายตัวไปยังต่างจังหวัด ประกอบกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) จะส่งผลต่อความต้องการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เช่น อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย
นอกจากนี้นิวซีแลนด์ได้วงเงินกำลังอยู่ระหว่างการบูรณะประเทศจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง ทำให้มีนักธุรกิจก่สร้างเดินทางมาไทย เพื่อแสดงหาสินค้าวัสดุก่อสร้าง ซึ่งน่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น