ครัวเมืองเว้ ร้านอาหารเวียดนามที่ได้มาจากมรดกเชื้อชาติ


ครัวเมืองเว้ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารเวียดนามจากมรดกเชื้อชาติที่ตนได้มา ล้มลุกคลุกคลานกับธุรกิจร้านอาหาร จนสามารถยืนหยัดได้

มีธุรกิจหลายรายที่ต้องชะงักเพราะลูกค้าหดหาย ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต้องล้มละลาย แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามถ้าหากต้องการให้ธุรกิจของตนเองอยู่รอดและมั่นคง เพียงแค่ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ รู้จักสังเกตธุรกิจคู่แข่งและพัฒนาธุรกิจของตนให้ดีขึ้นเท่านั้น อย่างประสบการณ์ของคุณสมพงษ์  มุกดาพิพัฒน์กุล นี้ที่สามารถเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการทุกคนรู้จักการบริหารธุรกิจของตนเองได้เป็นอย่างตรงจุด

คุณสมพงษ์ มุกดาพิพัฒน์กุล เล่าถึงที่มาของครัวเมืองเว้ว่า ธุรกิจร้านอาหารครัวเมืองเว้ได้ทำร่วมกับคุณพ่อซึ่งเป็นร้านอาหารเวียดนาม และตนเองก็เป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนามเช่นกัน โดยปกติพ่อกับแม่จะอยู่จังหวัดมุกดาหารทำเฟอร์นิเจอร์ แต่เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ตนและพี่น้องรวม 4 คน ต้องเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ คุณพ่อก็เลยมาซื้อบ้านที่กรุงเทพฯแล้วเปิดเป็นร้านอาหารเวียดนาม และในขณะเดียวกันตอนนั้นคุณอาก็ได้เปิดร้านอาหารเวียดนามที่ใช้ชื่อครัวไซ่ง่อนอยู่ 2 สาขา ตนจึงมีไอเดียที่จะนำสูตรของอามาทำเป็นร้านของตนเองที่มีชื่อร้านว่าครัวเมืองเว้ โดยปกติตนจะดูแลเรื่องการตลาด ใช้วิธีติดต่อสื่อให้มาแนะนำร้าน ก็เลยไปติดต่อสื่อทั้งเชลล์ชวนชิม ไทยรัฐ เดลินิวส์ ทั้งหมดมาทำประชาสัมพันธ์ให้ หลังจากนั้นก็เริ่มขายดี และตอนเที่ยงของทุกวันจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเน้นออกสื่อนั้นจะออกประมาณ 3 เดือนต่อครั้ง เพราะการออกสื่อในกรุงเทพฯได้ผลแน่ ซึ่งคนในกรุงเทพฯมีกว่า 10 ล้านคน ตีสัก 3 – 4 หมื่นที่เห็น เอาแค่ 100 คนมาที่ร้านก็เต็มแล้ว แต่ถ้าเกิดเราไม่ออกสื่อ เราขายไปปีหนึ่งลูกค้าอาจจะได้สัก 100 คน แต่ออกสื่อครั้งหนึ่งภายในหนึ่งอาทิตย์เราจะได้ลูกค้าสัก 100 – 200 คน เท่ากับย่นระยะเวลาเปิดร้านไปสัก 1 – 2 ปี ก็ทำให้ร้านดังภายในปีเดียวเท่านั้น

คุณสมพงษ์เล่าถึงการขยายกิจการครัวเมืองเว้ว่า พอกิจการครอบครัวดีขึ้นแล้วจึงคิดที่จะขยายสาขาเพิ่ม แต่คุณพ่อกลับบอกว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะคุณพ่อมองว่าเรายังเป็นเด็ก จนกระทั่งเปิดร้านได้ประมาณ 5 ปี ก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านการตลาดที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และจึงกลับไปพูดกับคุณพ่ออีกครั้ง คุณพ่อก็เลยให้เงินมา 800,000 บาท เพื่อไปหาร้านเปิดสาขาที่สอง แต่เนื่องจากคอนเซ็ปต์ร้านครัวเมืองเว้เป็นระดับพรีเมี่ยม ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ก็เลยเปลี่ยนแผนที่จะเปิดร้านครัวเมืองเว้เป็นอย่างอื่นแทน แต่ก็นับว่าโชคดีที่ไปเจอร้านหมูกระทะร้านหนึ่งประกาศเซ้งราคา 600,000 บาท จึงไปเซ้งต่อจากเขา ดังนั้นเมื่อเปิดร้านหมูได้ 3 – 4 เดือนแรกปรากฏว่าขาดทุน เพราะในละแวกนั้นมีร้านหมูกระทะอยู่ใกล้ ๆ อีก 2 ร้าน ซึ่งถ้าเทียบกับ 2 ร้านนั้นเราสู้เขาไม่ได้เลย เพราะทั้ง 2 ร้านนั้นมีทั้งเตาเผา อาหารทะเล แต่เรามีแค่หมูอย่างเดียว ก็เลยไปขอเงินทุนพ่อเพิ่มอีก 300,000 บาท เพื่อปรับปรุงร้าน แล้วตั้งชื่อร้านใหม่ว่าอิ๋งอิ๋งหมูกะทะ และนำเอาอาหารเวียดนามที่เราชำนาญอยู่แล้วมาสร้างเป็นจุดขายอีกด้วย 
                และในขณะนั้นเองร้านหมูกระทะตลอดทั้งซอยอยู่ในขายราคา 89 บาท ตนจึงไปชักชวนร้านอื่น ๆ ให้ขึ้นราคาเป็น 99 บาทแทน ซึ่งก็คิดว่าเมื่อขึ้นราคาแล้วควรต้องมีอาหารเวียดนามบุฟเฟ่ต์ มีทะเลเผา และจะต้องออกกุ้งไม่หยุด แต่ในขณะที่คนอื่น ๆ เขาขึ้นราคาเพราะอยากได้แค่รายได้เพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้พัฒนาร้านเลย จากที่ร้านอิ๋งอิ๋งหมุกระทะเคยอยู่อันดับ 3 ก็เป็นกลายอันดับ 1 ในซอยนั้นแล้ว หลังจากเปิดกิจการหมูกระทะได้ประมาณ 2 ปี ถือว่าอยู่ตัวในระดับหนึ่ง คุณพ่อก็เกิดล้มป่วยทำให้ต้องเลือกว่าจะสานต่อกิจการร้านอาหารเวียดนามครัวเมืองเว้ต่อ หรือทำร้านหมูกระทะเป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเอง แต่ในที่สุดจึงตัดสินใจปิดร้านอาหารเวียดนามครัวเมืองเว้ไป ไม่นานนักหลังจากทำร้านหมูกระทะจนอยู่ตัว เริ่มมีกำไรในแต่ละเดือนแล้ว ก็คิดถึงร้านอาหารเวียดนามครัวเมืองเว้ จึงคิดอยากจะเปิดร้านอาหารเวียดนามใหม่อีกครั้ง แต่มีงบประมาณไม่เพียง ก็เลยไปชวนเพื่อนมาร่วมหุ้นเปิดเป็นบูทเล็ก ๆ โดยใช้เงินลงทุนประมาณคนละ 60,000 บาท

ซึ่งก็เรียกได้ว่าบทพิสูจน์นี้คือความพยายามอย่างหนึ่ง ที่ต้องมาพร้อมกับการคาดการณ์ล่วงหน้าในธุรกิจตนเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่รู้จักมองอย่างรอบคอบธุรกิจนั้นก็อาจล้มละลายไปเลยก็ได้ และในปัจจุบันครัวเมืองเว้ก็ได้มีเปิดให้บริการอยู่ที่ซอยลาดกระบัง 1/5 แขวง/เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร คุณสมพงษ์กล่าวทิ้งท้าย