การคลัสเตอร์ของธุรกิจ SME (1)
นายทรงฤทธิ์ อมรวิทย์กุล
ในปลายปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวสู่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ร่วมกับอีก 9 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศเมียนมาร์ ประเทศลาว ประเทศเวียตนาม ประเทศกัมพูชา ( ที่เราเรียกชื่อกลุ่ม ประเทศนี้ว่า กลุ่ม CLMV ) ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศบูรไน และ ประเทศติมอร์เลสเต ซึ่งจะมีประชากรรวม 670 ล้านคน อันเป็นการขยายตลาดจากขนาดตลาดในประเทศที่มี 60 ล้านคน เป็น 670 ล้านคน เท่านั้นยังไม่พอยังมีการร้องขอจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมกลุ่มเป็นกลุ่มอาเซียน + 3 และ จากประเทศอินเดีย ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ เข้าร่วมกลุ่มเป็นกลุ่มอาเซียน + 6 ส่งผลให้การขยายตลาดจากขนาดตลาดในประเทศไทยที่มี 60 ล้านคน เป็นตลาดอาเซียนที่มีประชากรโดยรวม 670 ล้านคน 2,000 กว่าล้านคน 3,000 กว่าล้านคน ตามลำดับ ที่อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นตลาดในโลกการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ผู้ประกอบการ SME ไทยเราจะมีแนวทางการปรับตัว เตรียมความพร้อมของตนเองอย่างไรในการที่จะขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน อย่างมากจากขนาดตลาดที่ขยายตัวตามกลุ่มประเทศ และ จะรับมือการไหลหลากของผู้ประกอบการชาติต่างๆที่อยู่ในกลุ่มประชาคมและกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆนโลกที่จะมาเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการ พันธมิตรทางการค้าและการลงทุน คลัสเตอร์ด้านการผลิตทุกด้าน ร่วมกันในการดำเนินธุรกิจในโลกการค้า การลงทุน หรือ อาจจะเป็นคู่แข่งทางธุรกิจก็ได้ โอกาส และ วิกฤติ ย่อมเดินคู่กันเสมอ
ดังนั้นผู้ประกอบการ SME ไทยเรา จะต้องดำเนินการในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจการค้าและการลงทุน เราจะสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการพันธมิตร หรือ คลัสเตอร์ ได้อย่างไร ในรูปแบบอย่างไร
ในอดีตที่ผ่านมา โลกธุรกิจการค้าเป็นในรูปแบบการพึ่งพากัน เกื้อกูล ในกลุ่มธุรกิจประเภทเดียวกัน ที่คล้ายเหมือนกัน ในรูปแบบ “เถ่าปั๊ว หรือ ผู้ผลิต ยี่ปั๊ว หรือ ผู้ค้าส่ง ซาปั๊ว หรือ ร้านค้าส่งชุมชน” จนประสพความสำเร็จด้วยดี ผ่านพ้นอุปสรรค วิกฤตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2527 และวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ.2540 จะมีบางสาขาอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ไม่ค่อยประสพความสำเร็จที่ต้องยุติหรือเปลี่ยนกิจการ……..ที่กล่าวมานี้เป็นการสร้างเครือข่ายแบบหนึ่งที่ทางผู้ประกอบการได้กระทำมามาแต่ช้านาน ยังไม่มีการกล่าวขานกัน นั่นคือเป็นการสร้างเครือข่ายแบบทางตรงภายในกลุ่มธุรกิจ ดั่งคำนิยามว่า “ ปฐมภูมิภาคี”
การค้าโลกธุรกิจแบบตะวันออกที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่จัดรูปแบบ Cluster ด้านการผลิต ในแต่ละอุตสาหกรรมรายสาขา มีการเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง Cluster ที่ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นประสพความสำเร็จสร้างความมั่งคั่งแก่ประเทศชาติ หลายประเทศในเอเซียนำแนวทางไปปรับประยุกต์ใช้จนประสพความสำเร็จ เช่น ประเทศจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ฯลฯ………การนำรูปแบบนี้ไปใช้เป็นการสร้างเครือข่ายทางตรงและทางอ้อมดั่งคำนิยามว่า “ทวิภูมิภาคี”
จากแนวทางนี้เองที่ทำให้มีการศึกษาอย่างจริงจังจากนักวิชาการ ส่งผลให้มีการบัญญัติศัพท์ในกลุ่มคือ connection , networking , cluster มาปรับใช้มากขึ้นในวงกว้าง จนประสพความสำเร็จ มีประสิทธิภาพประสิทธิผล
ผู้ประกอบการSME ไทย ควรที่จะศึกษานำแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้ในธุรกิจของตนเอง ในการที่จะลดต้นทุนในการผลิต การบริการ การเกษตร โดยรักษาคุณภาพสินค้าให้คงที่อยู่เสมอด้วยเทคโนโลยี่และนวัตกรรมใหม่ที่ผ่านการวิจัยและการพัฒนา เน้นสร้างความแตกต่าง ช่วยกันสนับสนุน เติมเต็มซึ่งกันและกัน อย่าแข่งขันกันเองในด้านราคาและผลิตภัณฑ์ อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับทัศนคติและโลกทัศน์ของผู้ประกอบการ SME ไทย ให้เกิดการยอมรับและเปิดโลกทัศน์ในการอยู่ร่วมกันแบบหุ้นส่วนเศรษฐกิจชาติ
ส่วนตัวผมนั้น ผมได้นำแนวทางการสร้าง “คลัสเตอร์ภาคการผลิต” จาก ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มาใช้ จนสามารถลดต้นทุนด้านการผลิต ลดความสูญเสียจากการผลิต และ สร้างผลกำไร จากภาคนี้เพิ่มขึ้นพอสมควร จากนั้นสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า เพิ่มช่องทางการตลาดทางอ้อม โดยการสนับสนุนจากเพื่อนๆในเครือข่าย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสภาวะการที่มีการแข่งขันกันสูง การค้าที่มีเงื่อนไข มาตรการกีดกันต่างๆที่ยากจะดำเนินการของผู้ประกอบการ SME ไทยส่วนใหญ่
การดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการ SME ไทยส่วนใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้ประกอบการ SME ไทยส่วนใหญ่คือเสาหลักที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจประเทศไทยเรา เป็นซัพพลายส์เชนที่สำคัญแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศ ดังนั้นขั้นตอนในการสร้างเครือข่าย และ แนวทางจะดำเนินการได้อย่างไร ในรูปแบบใด ผมจะนำมากล่าวในฉบับหน้านะครับ