สอนเหนือชั้น งานเหนือความคาดหมาย
ดร.พนม ปีย์เจริญ ผู้สอนกับผู้รับการสอนนั้นต้องมีความเชื่อถือศรัทธาซึ่งกันและกัน โดยผู้สอนจะต้องเป็นบุคคลที่สามารถสร้างความเชื่อถือศรัทธาให้กับผู้รับการสอน ด้วยบุคลิกภายนอกและบุคลิกภายในตลอดจนศรัทธาที่มาจากความเคารพนับถือในความเป็นกูรูที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ในขณะที่ผู้สอนเองก็ต้องมีความเชื่อและความศรัทธาแก่ผู้รับการสอนว่าเขาเหล่านั้นสามารถพัฒนา เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตามศักยภาพของผู้สอนก็ยังมีบทบาทมากกว่าปัจจัยแวดล้อมอื่น เพราะผู้สอนงานที่ดีต้องสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทุกสถานการณ์ ดังนั้นผู้สอนงานจึงจำต้องมีคุณสมบัติที่เหนือชั้นดังต่อไปนี้ 1. มีความรู้จริง ผู้สอนงานจะต้องมีความรู้ความสามารถจริงในเรื่องที่สอน ยิ่งถ้าหากมีประสบการณ์จริงด้วยแล้วยิ่งถือว่าสุดยอดของครูผู้สอนเลยก็ว่าได้ และไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์จริงที่ประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง อาจมีบางประสบการณ์ที่ล้มเหลวหรือผิดพลาดก็ได้ เพราะจะเป็นประสบการณ์ที่ช่วยชี้แนะถึงสิ่งที่ควรระมัดระวังที่จะไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีกครั้ง ผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถจริง จะรู้ลึก รู้ละเอียดและรู้ปัญหาพร้อมหนทางป้องกันอย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ต้องต้องรอให้ผู้เรียนกลับไปลองผิดลองถูกให้เกิดความเสียหายต่องานที่ทำ 2. มีความสุข ผู้สอนที่มีความสุขกับสิ่งที่ทำและนำมาสอนจะแสวงหา ค้นคว้า หาความรู้ใหม่ๆโดยไม่ต้องบังคับ เคี่ยวเข็ญ ให้ต้องแสวงหา และพัฒนาตนเอง เพราะบุคคลเหล่านี้มีความสุขที่จะค้นคว้า แสวงหาความรู้ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องไปบังคับขู่เข็ญให้เขาต้องเรียนรู้ ค้นคว้า หาสิ่งใหม่ๆมาเติมเต็มศักยภาพของตนเอง ผู้สอนที่มีความสุข พร้อมเสมอที่จะถ่ายทอดประสบการณ์(Experience) และองค์ความรู้(Body of knowledge)ที่ตนมีอย่างเต็มใจ,เต็มที่,เต็มเวลาแก่ผู้ที่จะเรียนรู้ พร้อมทั้งมีความสุขสนุกสนานในการเรียนรู้ การเรียนรู้กับผู้สอนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ผู้เรียนจะรู้สึกผ่อนคลายในการเรียนรู้ เพราะผู้สอนมีความสุขในการถ่ายทอด ดังนั้นจะไม่ค่อยพบสิ่งที่ผิดและถูกในการสอนกับบุคคลลักษณะแบบนี้ แต่จะเป็นการค้านของสิ่งที่ดีที่สุดรวมกัน โดยจะพบแต่สิ่งที่ถูกมากกับถูกน้อยตลอดเวลาการเรียนรู้ร่วมกัน 3. ความรัก เป็นความรักของผู้สอนที่มีจิตวิญญานของความเป็นครูโดยแท้จริง รักในสิ่งที่ทำ รักในสิ่งที่รู้ รักในศิษย์ ปรารถนาอยากให้เขาประสบความสำเร็จ รักในเป้าหมายที่อยากให้ทุกคนมีอนาคตที่ดี ความรักเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สอนมีความมุ่งมั่นในการสอน ที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้ นำความรู้ไปพัฒนาตนเอง และงานที่รับผิดชอบให้ดีที่สุดผู้สอนที่ไม่มีความรักในการสอน ก็จะสอนแบบไม่มีความสุข การสอนงานก็จะไม่ราบรื่น ผู้เรียนเองก็จะไม่มีความสุขในการเรียนรู้ ความสำเร็จของการพัฒนาคน พัฒนางาน ก็จะไกลเป้าหมายออกไปทุกที ดังนั้น หากผู้สอนไม่รักงานที่สอนเสียแล้วการพัฒนาในการสอนก็แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะผู้สอนก็เพียงแต่สอนให้พ้นๆ ผ่านๆไปในแต่ละครั้ง ผู้เรียนเองก็แทบจะไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไรนอกจากข้อมูลเดิมๆที่ซ้ำซากจำเจ ท้ายที่สุดผลเสียก็จะเกิดขึ้นกับทุกคนในองค์กร 4. ความอดทน ผู้สอนมืออาชีพจะต้องมีความอดทนต่อผู้เรียนที่มีความหลากหลาย กล่าวคือมีทั้งผู้เรียนที่เป็นบัวเหนือน้ำ บัวใต้น้ำ ตลอดจนบัวที่อยู่ในโคลนตม ที่อยู่ภายในห้องเดียวกัน ผู้สอนต้องมีความมานะอดทน พยายามที่จะคิดค้นหาวิธีที่ให้ผู้เรียนรู้ได้เข้าใจเนื้อหาสาระที่พยายามถ่ายทอดด้วยหลากหลายวิธี นั่นหมายรวมถึงว่าผู้สอนนั้นจะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การเรียนการสอนนั้นถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จร่วมกัน โดยเฉพาะความสำเร็จของผู้เรียนรู้ทุกคนในห้อง แม้ความสำเร็จนั้นอาจไม่เท่ากันก็ตาม 5. มีความสามารถในการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารแบบEdutainment คือมีทั้งสาระความรู้(Education)และความสนุกสนานบันเทิง(Entertainment)ในการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ที่สามารถยืดเวลาความสนใจได้มากกว่ายาวนานกว่าการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของความเป็นคนไทยที่เป็นคนชอบความสุข สนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจมากกว่าสาระหนัก ซึ่งผู้สอนเองต้องทำหน้าที่วิเคราะห์ผู้ฟังว่าด้วย การศึกษา, อายุ, อาชีพ, อารมณ์, ฯลฯ ควรจะแบ่งขอบเขตของการให้ความรู้กี่เปอร์เซ็นต์ และความสนุกสนานกี่เปอร์เซ็นต์ในแต่ละกลุ่มผู้เรียนรู้ เพราะจากงานวิจัยการสอนด้วยการใช้Edutainmentในการสื่อสาร สามารถสร้างความเข้าใจ สร้างการจดจำ ได้ยาวนานกว่าการสอนด้วยสาระหนักเพียงอย่างเดียว ซึ่งเรื่องการสอนด้วยEdutainmentนี้จะนำมาขยายความในครั้งต่อๆไป 6. มีความพร้อมในการตอบคำถาม ผู้สอนที่ดีต้องเป็นผู้ตอบคำถามที่ดีด้วย เพราะผู้สอนที่จะตอบคำถามได้ดีนั้นต้องเป็นผู้รอบรู้ ตามทฤษฎีตัวที(T)คือต้องรู้กว้างและรู้ลึก จึงจะสามารถตอบคำถามจากผู้เรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งเข้าใจ มีผู้ที่ทำตัวเป็นกูรูหลายคนที่ตอบคำถามผู้เรียนรู้ ชนิดยิ่งตอบยิ่งรู้ว่ากูรูท่านนั้นไม่รู้ลึก รู้แค่รู้กว้าง เพราะอ่านของเขามาจำของเขามาแต่ไม่เคยลงมือทำ เวลายกตัวอย่างก็จะยกตัวอย่างธุรกิจใหญ่ๆ ที่ฝรั่งเขียนให้อ่านอย่างเช่นMcDonald, KFC, Starbucks, i-Phone, Samsungเป็นต้น พอผู้เรียนรู้ถามเจาะลึกลงไปจริงๆก็อารมณ์เสียเพราะตอบไม่ได้ เนื่องจากไม่รู้ ไม่เคยลงมือทำจริงมาก่อนเพราะอ่านที่เขาเขียนมา อ่านจากตำรามาแค่นี้ นี่เองจึงทำให้ผู้เรียนรู้ส่วนใหญ่อยากเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์จริงในการทำงานมากกว่า เพราะสามารถนำความรู้และประสบการณ์จริงจากผู้สอนไปแก้ปัญหาจริงได้ นี่เป็นคุณสมบัติบางส่วนของผู้สอนที่ดีที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จร่วมกันระหว่างผู้เรียนรู้และผู้สอน ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรในที่สุด