ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ
สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง
หลังจากการรัฐประหาร ๒๒ พค. ๒๕๕๘ วลีที่น่าจะฮิตที่สุดน่าจะเป็นของท่านรองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองามที่เตือนบรรดาบุคคลดัง ๆ ที่ทาง คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น สมาชิก สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ), สปช.(สภาปฏิรูปแห่งชาติ)ว่า จะพูดอะไรคิดอะไรขอให้อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ”
ที่ท่านต้องพูดเช่นนั้นเป็นเพราะหลายคนดังชอบเสนอความคิดต่อสาธารณะว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นควรเป็นอย่างนั้นควรเป็นอย่างนี้ บางคนคิดได้ขนาดเหาะเกินกรุงลงกา(สำนวนท่านรอง ฯ อีกเช่นเคยหมายถึงคิดเกินกว่าที่เขาให้คิด) จนทำให้ชาวบ้านชาวเมืองที่ได้ยินได้ฟังเกิดความสับสนว่า ตกลงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกมาอย่างไรกันแน่
สิ่งที่ท่านพูดหมายความว่า คนที่พูดควรจะรู้ว่า จะคิดจะอ่านอย่างไรนั้นจะต้องคิดว่า ใครเป็นคนตั้งตนมา ที่เขาตั้งนั้นเพราะเขาคิดว่าคนที่ถูกตั้งจะทำสิ่งที่เขาต้องการให้ได้ พูดง่าย ๆ ว่า ตั้งมาเพื่อให้ทำงานสนองความต้องการของคนตั้ง เพราะฉะนั้นจะคิดจะพูดอะไรต้องอ่านใจคนตั้งให้ออกว่าเขาต้องการอย่างไร อย่าไปทำอะไรขัดใจคนตั้ง
เปรียบเหมือนเราลงเรือแป๊ะ ก็ต้องนั่งลงในที่ ๆ เจ้าของเรือคือแป๊ะกำหนดให้นั่ง จะไปเลือกนั่งตามอัธยาศัยหรือความต้องการของตนเอง คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะแป๊ะย่อมรู้ดีว่า จุดศูนย์ถ่วงของเรืออยู่ตรงไหน นั่งกระจายกันอย่างไรจึงจะทำให้เรือแล่นได้ดี ไม่แล่นเอียงกระเท่เร่ไม่ตรงทิศไม่ตรงทาง
หลักการ “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ”นี้ แม้จะเป็นคำพูดของคนโบราณแต่น่าที่คนทำงานในยุคปัจจุบันควรจะเอามาเป็นวัฒนธรรมในการทำงานให้ประสพความสำเร็จ เพราะจะเตือนสติว่า ทำงานที่ไหนก็แล้วแต่ให้อ่านใจเจ้าของหรือผู้ประกอบการว่า เขาต้องการคนอย่างไรรวมทั้งต้องการให้ทำงานแบบไหน เพราะถ้าเราเป็นคนประเภทที่เขาต้องการเราก็จะมีแต่ความก้าวหน้า ประสพความสำเร็จในที่ทำงานแห่งนั้น
ดังนั้นเมื่อเข้าทำงานที่ไหนสิ่งที่คนทำงานต้องศึกษาหรือค้นให้พบคือ “วัฒนธรรมองค์กร”ของที่ทำงานนั้นว่า เป็นอย่างไร และพยายามปรับตัวให้เข้ากับแนวทางดังกล่าว หากรับไม่ได้หรือไม่ชอบวัฒนธรรมองค์กร ทางที่ดีต้องหาทางขยับขยายไปหาที่อื่นทำงาน เพราะอยู่ที่เก่าย่อมมั่นใจได้ว่าคงหาความเจริญได้ยาก
เหมือนอย่างผมกับเพื่อน ๆ ร่วมรุ่น เราจบการศึกษา “รัฐศาสตร์” จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน จบมาแล้วก็แยกย้ายกันไปทำงาน เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ไม่แยกกันต้องเรียกว่าแห่กันเข้าทำงานสังกัดกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เพราะค่านิยมของรัฐศาสตร์บัณฑิตสมัยก่อนคือนักปกครอง จุดหมายสูงสุดคือตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” หรืออย่างไม่ก้าวหน้าแต่ควรได้เป็นแน่ ๆ คือ “นายอำเภอ” เว้นแต่บางคนไปไหนไม่ไกลจริง ๆ เริ่มงานในตำแหน่ง “ปลัดอำเภอ” ท้ายสุดก็เกษียณในตำแหน่งเดิม มีแต่คำว่า “อาวุโส”ต่อท้ายก็มีเป็นบางคน
ผมนั้นไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกาจึงปลีกตัวจากค่านิยมกลุ่มหันมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ปรากฏว่าในบรรดาเพื่อนร่วมรุ่นที่จบมาพร้อม ๆ กัน ผมเติบโตในหน้าที่การงานรวดเร็วกว่าคนอื่น ปี ๒๕๒๖ ผมดำรงตำแหน่งอธิการบดีเทียบเท่าระดับ ซี ๑๐(เพราะตำแหน่งในมหาวิทยาลัยได้มาด้วยการเลือกตั้ง) ในขณะที่เพื่อนผมที่อยู่กรมการปกครองยังเป็น ซี ๖ ซี ๗ อยู่เลย
เมื่อผมประสพความสำเร็จได้เป็น “อธิการบดีที่หนุ่มที่สุด”ของประเทศไทยในขณะนั้น และเป็นสถิติที่ยังไม่มีใครทำลายจนทุกวันนี้ พรรคพวกก็จัดเลี้ยงแสดงความยินดีให้ตามธรรมเนียม ในงานเลี้ยงประธานรุ่นได้กล่าวสรรเสริญผมมีความตอนหนึ่งว่า “เสียดายที่สุขุมไปอยู่มหาวิทยาลัย นี่ถ้าอยู่มหาดไทยเหมือนพวกเรา วันนี้เป็น ซี ๑๐ ก็จะเป็นต้นไม้ใหญ่ให้พวกเราได้ห้อยโหน…….” เรียกเสียงปรบมือจากเพื่อน ๆ ได้อย่างอึงคะนึง
ในตอนที่ผมขึ้นกล่าวตอบจึงชี้แจงว่า “ไม่แน่นะ ถ้าผมอยู่มหาดไทยผมอาจจะไม่ก้าวหน้าเหมือนเพื่อน ๆ ก็ได้ เพราะผมเป็นคนปากไวหรือจะเรียกว่าปากเสียก็ได้ ชอบวิพากษ์วิจารณ์ อยู่มหาวิทยาลัยจึงมีความเจริญก้าวหน้า เพราะคนมหาวิทยาลัยชอบคนกล้าคิดกล้าพูด แต่มหาดไทยชอบคนประเภทเปิดปุ๊บติดปั๊บสนองนโยบายข้างบนได้ดี ใครอยู่มหาดไทยแล้วปากมากชอบพูดชอบวิจารณ์ มีหวังแป๊กไม่มีอนาคต”
เห็นไหมครับ คนทำงานไม่เหมือนคนดี คนดีท่านว่า อยู่ที่ไหน “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” แต่คนทำงานนั้นจะเป็นคนเก่งหรือก้าวหน้าในที่ทำงานต้องเป็นคนที่เป็นไปตาม “วัฒนธรรมองค์กร” ถ้าองค์กรแห่งนั้นชอบคนวิพากษ์วิจารณ์ คุณเป็นชอบพูดชอบแสดงความคิดก็จะประสพความสำเร็จ ถ้าคุณเป็นคนปากดีแต่อยู่ในองค์กรที่เขาต้องการให้คนก้มหน้าก้มตาทำงานไม่พูดมาก อย่าหวังเลยว่าจะก้าวไปข้างหน้า มีโอกาสถอยกลับหลังด้วยซ้ำไป ขอให้เชื่อ
เพราะฉะนั้นคนที่อยากประสพความสำเร็จในการทำงาน จะเข้าทำงานที่ใดก็ตามต้องศึกษา “วัฒนธรรมองค์กร” ของที่นั่นด้วย ดูว่าวัฒนธรรมของที่นั่นเราเห็นด้วยหรือไม่ เราปฏิบัติได้หรือไม่ ทัศนคติเราไปกับองค์กรได้หรือไม่ ไม่งั้นทำงานไปอาจจะพบกับความผิดหวัง ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรหรือไม่ก้าวหน้าเลย อาจเกิดความอีดอัดในการทำงานอีกด้วย
ผมเคยไปบรรยายอบรมพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง ในระหว่างพักมีพนักงานคนหนึ่งมากระซิบกระซาบกับผมว่า “มีหนทางใดที่จะเปลี่ยนเจ้าของบริษัทหรือไม่”* เล่นเอาผมสะดุ้งเฮือกต้องกระซิบกระซาบตอบเช่นกันว่า “เปลี่ยนงานทำง่ายกว่าเปลี่ยนเจ้าของนะ” จะบอกให้
อ่านแล้วคงเข้าใจนะครับว่า ทำไมเขากระซิบกระซาบถามผม แล้วทำไมผมกระซิบกระซาบตอบ เรื่องอย่างนี้ขืนพูดเสียงดังให้เข้าหูคนเป็นเจ้าของหรือประธานบริษัท เขาคงไม่รอให้เลือก เขาคงเลือกให้เสร็จว่าพนักงานคนนั้นควรทำอย่างไร นี่แหละเป็นเพราะไม่เข้าใจว่า “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ “ ไปคิดว่าลงเรือแป๊ะแล้วสามารถไล่แป๊ะขึ้นจากเรือได้ ใครคิดแบบนี้อย่าให้แป๊ะล่วงรู้ความคิดเชียวนะ อันตรายแก่ตัวเป็นอย่างยิ่ง
…………………………………………………………………………………………………………………………..
*ผมได้สอบถามว่า ทำไมถึงอยากเปลี่ยนเจ้าของ ? เชาตอบว่า เจ้าของเป็นคนไม่ฟังพนักงาน เสนออะไรก็ไม่ยอมทำ. ผมจึงถามเจ้าของว่า เป็นคนไม่ฟังลูกน้องจริงหรือ เขาตอบว่า “ฟังซีครับ ทำไมไม่ฟัง” แต่จะทำตามหรือไม่ขอผมพิจารณาก่อน เพราะบริษัทนี้ผมทุ่มทั้งชีวิตสร้างขึ้นมา ถ้ามันจะพังก็ต้องให้มันพังเพราะผมคิดผิด ไม่ใช่พังเพราะเชื่อคนนั้นเชื่อคนนี้ ใครเสนออะไรผมต้องมาคิดก่อนว่า เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยต่อให้พนักงานคิดว่าดีอย่างไรผมก็ไม่เอาด้วย ก็บริษัทของผมนี่ครับ ถ้าจะพังก็ต้องพังเพราะผม ไม่ใช่เพราะคนอื่น. คนทำงานฟังแล้วคงต้องยอมรับว่ามีเหตุผลทีเดียว.