เอกชนตั้งเป้าส่งออกธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ 1.5 ล้านล้านบาท


กรมส่งเสริมการค้าฯชูนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์  หนุนส่งออกสินค้าปลอดภัย ยืดอายุผลิตภัณฑ์ รูปลักษณ์โดนใจผู้บริโภค เอกชนตั้งเป้าส่งออกธุรกิจการพิมพ์ฯ 1.5 ล้านล้านบาท

         นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงธุรกิจบริการการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ภาคเอกชนตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกธุรกิจบริการการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ มีมูลค่า  1.5 ล้านล้านบาทในปี 58 โดยมีตลาดเป้าหมายอยู่ที่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม  ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยร่วมกันพัฒนาสินค้า บริการ และเทคโนโลยี เน้นการตอบสนองความต้องการของตลาด  เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่กัน

        “ไทยมีความแข็งแกร่งในการผลิตอุปโภคบริโภค(Consumer products) และเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่เป็นที่นิยมมากในตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนม่าร์และเวียดนาม) จะเห็นได้จากการค้าชายแดน มีสินค้าไทยจำหน่ายได้ดีเป็นจำนวนมาก และไทยมีแบรนด์เนมเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง มีเทคโนโลยีการพิมพ์ขั้นสูง เทียบเท่ากับประเทศเจริญแล้ว ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งที่สุดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) และยังเป็นศูนย์กลางการพิมพ์บนกระดาษต่อเนื่องมาหลายปี จากกรณีที่ยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจนี้ได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย”นางนันทวัลย์ กล่าว

            แนวโน้มธุรกิจบริการการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์นั้น     ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่แตกต่างไปจากเดิม คนส่วนใหญ่หันไปซื้อสินค้าเพื่อใช้เองจากร้านสะดวกซื้อ หรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต พฤติกรรมการบริโภคอาหารเปลี่ยนไปเป็นการบริโภคอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารแช่แข็งมากขึ้น ทำให้ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ดังนั้นกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก จะเน้นความต้องการของตลาดเป็นที่ตั้ง กับการให้ความสำคัญกับการค้าชายแดน

          “ภาคเอกชนต้องการให้ ภาครัฐสนับสนุนให้ SMEs สามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้สามารถส่งไปจำหน่ายในที่ห่างไกล และยังคงคุณภาพของสินค้าดีอยู่ ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกในเขตชายแดนได้ เพื่อทดแทนตลาดใหญ่ๆ ที่มูลค่าลดลง เนื่องจากมูลค่าการค้าชายแดนยังคงเติบโตขึ้น   5 – 6% ทุกปีอย่างสม่ำเสมอ ” นางนันทวัลย์ กล่าวและว่า การเพิ่มมูลค่าส่งออกนั้น หากภาคเอกชนควรศึกษาแนวโน้มตลาดของลูกค้า เช่น ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)และสหรัฐฯจะให้ความสำคัญกับวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ผลิตภัณฑ์สีเขียว , ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์อาหารควรใช้วัสดุตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food safety) เพื่อสุขอนามัยที่ดี ทำให้สามารถเก็บรักษาอาหารได้นาน ตลอดระยะเวลาขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค

           ภาพรวมธุรกิจบริการการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์นั้น เป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ มากมาย อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและยา เป็นต้น คลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์แบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามชนิดของวัสดุ คือ กระดาษ แก้ว พลาสติก และโลหะ ซึ่งมูลค่าส่งออกทางอ้อม(Indirect Export) เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 3% ของมูลค่าตลาดรวม มูลค่าการส่งออกกลุ่มธุรกิจนี้ เห็นได้ชัดเจนจากการส่งออกของกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์ โดยในปี 57 มีการส่งออก 2,563 ล้านบาท เฉพาะไตรมาสแรก(ม.ค.– มี.ค.)ปี 58 มีมูลค่า 194.37 ล้านบาท ลดลง 8.2%