ก้าวแรกของ SME ในการเดินทางสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ครรชิต มาลัยวงศ์
การทำธุรกิจของ SME ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นอาจกล่าวได้ว่าเริ่มรู้จักใช้ประโยชน์จากระบบคอมพิวเตอร์, อินเทอร์เน็ต และ เครือข่ายสังคมมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกๆ แล้ว การใช้งานยังคงเป็นระดับผิวเผิน และไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถของเทคโนโลยีสารสนเทศได้เต็มที่ งานส่วนใหญ่คืองานพิมพ์ด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เวิร์ด เสร็จแล้วก็พิมพ์ออกมาเป็นแผ่นกระดาษ ทำให้ยังคงต้องใช้กระดาษจำนวนมากและยังคงต้องมีตู้เก็บเอกสารขนาดใหญ่
ในด้านงานบัญชีนั้น SME จำนวนมากนิยมจ้างบริษัทบัญชี ยกเว้น SME ที่มีรายการค้าจำนวนมากจึงมีนักบัญชีของตนเอง ในกรณีหลังนี้ SME อาจจะซื้อโปรแกรมระบบบัญชีขนาดเล็กซึ่งสามารถจัดทำรายงานบัญชีได้ แต่ยังไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงินได้อย่างละเอียด แม้ในกรณีแรกเอง ผู้บริหาร SME ก็ไม่สามารถจะได้รับสารสนเทศที่จำเป็นสำหรับใช้ในการตัดสินใจทางด้านธุรกิจได้
ในด้านอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมนั้น SME เริ่มรู้จักทำเว็บและใช้เฟสบุ๊กมากขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละ SME แทบไม่ได้สารสนเทศอะไรจากระบบเหล่านี้เลย ในทางตรงกันข้าม หากทำอะไรพลาดพลั้งไปเพียงเล็กน้อยก็อาจจะกลายเป็นผลร้ายด้ายซ้ำ
ดังนั้น จึงมีคำถามว่าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่รัฐบาลพยายามผลักดันนั้น SME จะต้องทำอย่างไร?
ผู้ที่จะให้คำตอบได้มีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ผลักดัน และส่วนที่สองก็คือ SME ซึ่งจะต้องเตรียมตัวรับไม้จากรัฐบาล ส่วนที่สองนี้สำคัญมากเพราะไม่ว่ารัฐบาลยุคต่อๆไปจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอีกหรือไม่ SME ก็ยังคงจะยืนหยัดอยู่บนคลื่นดิจิทัลของโลกนี้ได้อย่างมั่นคงองอาจ
ปัญหาสำคัญของ SME ในวันนี้ก็คือ การขาดข้อมูล และ ไม่รู้จักใช้สารสนเทศ
ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการประกอบธุรกิจทุกวันนี้ ผู้ประกอบการในญี่ปุ่น, อเมริกา และ ยุโรป สามารถหาข้อมูลในด้านต่างๆเกี่ยวกับประชากร, เศรษฐกิจ, พื้นที่, ความสนใจ, ความต้องการ, การแข่งขัน, บริการของรัฐ, เทคโนโลยี และ งานวิจัยต่างๆ ได้โดยง่าย เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งส่วนที่รัฐจัดเก็บเผยแพร่และที่เอกชนจัดทำขึ้นได้โดยง่าย แต่ในเมืองไทยนั้น รัฐแทบไม่ได้บริการข้อมูลให้ประชาชนเลย มิหนำซ้ำถึงแม้หน่วยงานรัฐจะมีข้อมูลก็ยังไม่เปิดเผยด้วย การที่ SME ไทยไม่ได้มีข้อมูลให้ใช้ จึงทำให้ SME พลอยไม่สนใจและไม่เรียนรู้ที่จะใช้ข้อมูลไปด้วย ประเด็นนี้ทำให้ SME จำนวนมากทำงานแบบคนตาบอด และ แก้ปัญหาไปทีละวัน ส่วน SME ที่รู้จักใช้ข้อมูลก็สามารถขับเคลื่อนธุรกิจของตนขึ้นไปสู่ระดับสูงได้
เจ้าของและผู้บริหาร SME จะต้องเริ่มสนใจข้อมูลมากขึ้น ต้องพยายามหาข้อมูลในด้านต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น โดยเริ่มจากข้อมูลที่ธุรกิจของตนเกี่ยวข้องมากที่สุด และนำข้อมูลเหล่านั้นมาแปลงให้เป็นสารสนเทศเพื่อให้สามารถเข้าใจถึงสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ, สังคม, และการแข่งขัน ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ได้ดีขึ้น ข้อมูลที่จะต้องแสวงหานั้นมีทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานภายในของตนเอง และข้อมูลทุกด้านที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมธุรกิจภายนอกตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าในยุคนี้ย่อมรวมไปถึงเขตประเทศอาเซียนด้วย
การค้นหาข้อมูลและสารสนเทศจากภายนอกนั้นเป็นเรื่องที่ยากและอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูง องค์กรต่างประเทศว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในประเทศไทยให้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับตลาดด้านต่างๆของไทยส่งไปให้เขาอยู่เสมอ ดังนั้นผู้ประกอบการในประเทศอื่นจึงรู้จักธุรกิจและตลาดเมืองไทย แต่ไทยเรากลับไม่รู้จักตลาดต่างประเทศ หรือแม้แต่ของไทยด้วยกันเอง
อย่างไรก็ตามโดยที่ปัจจุบันนี้ระบบดินเทอร์เน็ตมีผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูล (search engine) ที่มีข้อมูลมากมายทุกด้านบนโลก ดังนั้น SME จึงต้องหัดใช้บริการสืบค้นข้อมูลเหล่านี้เพื่อทำความรู้จักและเข้าใจการทำธุรกิจที่ตนเองกำลังดำเนินการอยู่ให้ทะลุปรุโปร่งมากขึ้น ต้องศึกษายุทธศาสตร์การดำเนินงาน, แผนงานธุรกิจ, นโยบายการตลาด, แนวโน้มสินค้า, แหล่งวัตถุดิบ, แหล่งทรัพยากร, เทคโนโลยี และ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
โดยที่ข้อมูลเหล่านี้มีจำนวนมาก ดังนั้นผู้บริหาร SME จะต้องเริ่มรู้จักสืบค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ต้องฝึกฝนการใช้คำเพื่อการสืบค้นเป็นภาษาอังกฤษให้ชำนาญ และ ต้องสามารถดึงข้อมูลและสารสนเทศที่สืบค้นพบออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
การรู้จักสืบค้นนี้ นอกจากจะทำให้ได้ข้อมูลดีๆแล้ว ยังจะช่วยเปิดหูเปิดตาให้เห็นว่าธุรกิจในประเทศอื่นกำลังก้าวรุดหน้าไปอย่างไรบ้าง
นี่คือ ก้าวแรก ที่ขอเสนอให้ SME ใช้ในการเดินทางไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล