สสว. เผยทิศทางการส่งเสริม SMEs ปี 2558


        สสว. เดินหน้าส่งเสริม SMEs สนองตอบนโยบายรัฐบาลด้วยบทบาทเป็นหน่วยงานเชิงยุทธศาสตร์ ประสานและบูรณาการภาครัฐ-เอกชน ขับเคลื่อนการส่งเสริม SMEs นำร่องด้วยงบบูรณาการงานส่งเสริม SMEs ของประเทศประจำปี 2559 พร้อมประสานความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ เพื่อบูรณาการให้บริการต่างๆ ภาครัฐเข้าถึงผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ล่าสุดจับมือศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เปิดจุดบริการความรู้และรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ เพื่อประสานส่งต่อความต้องการของ SMEs ไปยังหน่วยงานให้บริการ

        ภายหลังจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็น ประธานฯ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มุ่งเน้นการทำงานในเชิงยุทธศาสตร์ และให้เน้นการประสานและบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงเครือข่ายผู้สนับสนุนและให้บริการ ในการขับเคลื่อนการส่งเสริม SMEs ของประเทศ การดำเนินงานของ สสว. จึงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยมีงานนำร่องภายหลังปรับโครงสร้างใหม่ คือความร่วมมือกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เปิดจุดให้บริการความรู้และรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ

        นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs และเข้าถึงบริการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์ดำรงธรรม จึงได้ร่วมกับ สสว. ในการให้บริการข้อมูลและรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ พร้อมทั้งเชื่อมโยงเว็บไซต์ของ 2 หน่วยงานในการเชื่อมต่อข้อมูล ความรู้ รวมถึงงานบริการด้านต่างๆ ไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากศูนย์ดำรงธรรม มีจุดให้บริการรับเรื่องราวของประชาชนในทุกจังหวัดทั่วประเทศอยู่แล้ว การเพิ่มจุดให้บริการ SMEs จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ

        นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง สสว. และ ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ในครั้งนี้ จะช่วยให้ สสว. มีจุดรับเรื่องราว รวมถึงการรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการทั่วประเทศซึ่งจะเป็นหน้าด่านสำคัญที่ทำให้ สสว. รับรู้ตัวตนของผู้ประกอบการ รับรู้ความต้องการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ นำมาใช้ในการจัดกลุ่มผู้ประกอบการตามประเภทธุรกิจ และวงจรธุรกิจ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการส่งเสริม SMEs ได้สอดคล้องกับความต้องการของ SMEs ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารรวมถึงบริการต่างๆ ที่ภาครัฐมี ไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs อีกด้วย

        ทั้งนี้ ภายหลังที่ สสว. ได้ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การดำเนินงานของ สสว. จะมุ่งเน้นบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวง และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่มีภารกิจในการส่งเสริม SMEs รวมถึงองค์กรภาคเอกชน เพื่อให้กลไกการส่งเสริม SMEs มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เกิดการซ้ำซ้อนในการทำงาน สำหรับการดำเนินงานของ สสว. ในปี 2558 นี้ จะดำเนินงานภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ บูรณาการการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อส่งเสริม SMEs ให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและพัฒนา SMEs โดยมุ่งเน้นการพัฒนาตามวงจรธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของ SMEs เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

        โดยงานที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม สะท้อนการเป็นหน่วยงานเชิงนโยบายที่ชี้นำการส่งเสริม SMEs ของประเทศ คือ การจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการงานส่งเสริม SMEs ของประเทศ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว และแผนงานดังกล่าวจะเป็นคู่มือให้สำนักงบประมาณใช้เป็นเป้าหมายหลักในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานกระทรวง และส่วนราชการต่างๆ ที่เสนอของบประมาณเกี่ยวกับการส่งเสริม SMEs ในปี 2559

        งบประมาณแบบบูรณาการ ดังกล่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณฯ โดยมีหน่วยงานในระดับกระทรวงและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นคณะทำงาน ในส่วน สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา วิเคราะห์ เพื่อกำหนดเป้าหมายการส่งเสริม SMEs และร่วมพิจารณากลั่นกรองแผนงานส่งเสริม SMEs ที่ครอบคลุมทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคเกษตรแปรรูป และในทุกวงจรของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงการส่งเสริม SMEs ของประเทศอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของแผนงาน งบประมาณ และผลการส่งเสริม

       ขณะเดียวกันได้ดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริม SMEs ระยะเร่งด่วน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริม SMEs อาทิ โครงการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ซึ่งนำร่องด้วยการร่วมกับศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเปิดจุดให้บริการรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ โครงการสนับสนุนเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ใน 18 กลุ่มจังหวัด โดยร่วมกับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งและนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ โครงการจัดทำฐานข้อมูล SME แห่งชาติ โครงการศูนย์บริการ SME ครบวงจร โครงการสุดยอด SME จังหวัด (SME Provincial Champions) และ.โครงการสนับสนุนและพัฒนา SME ที่มีศักยภาพสูง (SME National Champions) เป็นต้น

        นอกจากนี้ สสว. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริม SMEs ทั้งในส่วนที่เป็นภารกิจพื้นฐาน ใน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การวางแผนและจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริม SMEs การให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน สนับสนุนและส่งเสริม SMEs การเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และการเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการองค์กร รวม 14 งาน 9 โครงการ อาทิ จัดทำร่างแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs (พ.ศ.2560-2564) จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริม SMEs รายสาขา โครงการจัดทำมาตรการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพ SMEs ในพื้นที่ชายแดน โครงการศึกษาและจัดทำมาตรการส่งเสริม SMEs ตามขนาดธุรกิจ จัดทำรายงานสถานการณ์รวมถึงดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจสำหรับ SMEs จัดทำและปรับปรุงฐานข้อมูล SMEs ประเทศไทย งานพัฒนาศูนย์ข้อมูล SMEs Knowledge Center โครงการจัดงาน SMEs National Awards ภาคการผลิต การค้าและบริการ เป็นต้น

         อย่างไรก็ดีการดำเนินงานต่างๆ ดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มของการขับเคลื่อนการส่งเสริม SMEs ภายใต้บทบาทที่ได้รับมอบหมาย เพื่อสร้างกลไกการส่งเสริม SMEs ที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง ลดความซ้ำซ้อน สามารถตอบสองความต้องการของ SMEs ในแต่ละวงจรธุรกิจตรงจุด ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย และบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ SMEs สามารถพัฒนาเข้าสู่ Global Supply Chain ในที่สุด