ธุรกิจกงสี…ยั่งยืนอย่างมีเงื่อนไข
วีรยุทธ เชื้อไทย
ในอดีตยุคโล้เรือสำเภาเข้าไทย…เสื่อผืนหมอนใบ จนสามารถประสบความสำเร็จกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ล้วนมีที่มาจากความเป็น “ธุรกิจครอบครัว” ใครจะเชื่อว่า SME ไทย กว่าร้อยละ 90 เป็นธุรกิจครอบครัว หรือที่เรียกว่า “ธุรกิจกงสี”
ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยล้วนเป็นธุรกิจครอบครัว ตระกูลเจียรวนนท์ (CP) ตระกูลจิราธิวัฒน์ (Central) ตระกูลภิรมย์ภักดี (สิงห์) ตระกูลสิริวัฒนภักดี (ช้าง) ตระกูลอยู่วิทยา (กระทิงแดง) ตระกูลโอสถานนท์ (โอสถสภา)
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ แม้จะมีรูปแบบการบริหารจัดการที่เป็นสากล แต่ก็ยังมีการบริหารจัดการแบบ “กงสี” ควบคู่กันไปด้วยทุกตระกูล อะไรคือสิ่งที่ทำให้ครอบครัวเหล่านี้มั่นคงยั่งยืนส่งต่อธุรกิจให้กับลูกหลานได้ จนสามารถยิ่งใหญ่แข่งขันได้ในโลกธุรกิจปัจจุบัน
ประเด็นน่าสนใจสำหรับ SME ซึ่งกำลังประสบปัญหารุ่นลูกไม่สนใจกิจการพ่อแม่!!
ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อกิจการ และมีผลกระทบต่อครอบครัวอย่างมาก หรือพ่อแม่ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้ลูกรับกิจการต่อ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันกับพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้บริหารกิจการ จะส่งผลกระทบต่อลูก และคนในครอบครัวโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3 เงื่อนไข “เริ่มต้น” สร้างธุรกิจครอบครัวให้แข็งแรง
1. สร้างระบบ “การสื่อสาร” พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวให้รับรู้เรื่องราวความเป็นมาเป็นไปในธุรกิจ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวเกิดความ “ตระหนัก” (Awareness) เห็นความสำคัญของธุรกิจของครอบครัว เกิดแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ
การสื่อสารพูดคุย หรือมีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว คือ “การปลูกฝังทัศนคติ” ให้กับลูกหลาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแรงบันดาลใจ บุคลิกภาพ รวมถึงแนวคิดต่างๆ ที่จะส่งผลต่อกิจการในอนาคตเมื่อลูกหลาน เติบโตขึ้นมารับช่วงกิจการ โดยการสื่อสารในครอบครัวต้องมีความต่อเนื่อง และเป็นระบบ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว
2. ยึดมั่นใน “กฎบ้าน” คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการ “ปลูกฝัง” ค่านิยมภายในบ้าน เพราะเราใกล้ชิดกันมากจนคิดว่า กฎ ไม่มีความสำคัญ หลายบ้านไร้กฎ ลูกต้องการอะไรพ่อแม่หาให้ โดยลืมคิดว่าทุกการกระทำของพ่อแม่ส่งผลต่อค่านิยมส่วนตัวของลูกในอนาคต เมื่อลูกเติบโตสู่วัยทำงาน เขาจะกลายเป็นคนไม่มีเหตุผล เอาแต่ใจตนเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อกิจการอย่างยิ่ง
กฎบ้านจึงเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นกฎที่สมาชิกในบ้านจะเรียนรู้และปฏิบัติตาม เช่น การมีหน้าที่ในครอบครัว มีกติกาของการตัดสินใจร่วมกันแบบง่ายๆ สิ่งเหล่านี้จะถูกบ่มเพาะอยู่ในจิตใต้สำนึกของลูกหลานให้มีความรับผิดชอบ ตระหนักรู้ถึงผลลัพธ์ของการตัดสินใจ เมื่อเติบโตมารับช่วงธุรกิจจะมีความเข้าใจและสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมคนรอบข้าง และบริหารจัดการได้อย่างมีเหตุและผล
การสร้าง “กฎบ้าน” จึงมีความสำคัญต่อการส่งต่อธุรกิจในอนาคต ในตระกูลใหญ่อาจมีรายละเอียดของกฎบ้านมาก และมีจำนวนสมาชิกมาก การจัดทำกฎบ้านจึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกิจการอย่างมาก จึงควรจัดทำในรูปของ “ธรรมนูญครอบครัว” ซึ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม และการบริหารจัดการทั้ง “ในครอบครัว” ให้มีความสุข และ “ในกิจการธุรกิจ” ให้บรรลุ
เป้าหมายในการสร้างความมั่นคง
3. โครงสร้าง “การตัดสินใจ” เรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัวล้วนต้องการการตัดสินใจที่ได้รับการยอมรับ กระบวนการตัดสินใจสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งครอบครัวและกิจการ เพราะกระบวนการตัดสินใจนี้เองจะส่งผลต่อจุดเปลี่ยนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว
การตัดสินใจอย่างมีคุณธรรม มีจริยธรรม และยุติธรรม จะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว และส่งผลดีต่อกิจการครอบครัว จึงควรมีการจัดทำโครงสร้างการตัดสินใจที่ชัดเจนเพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ครอบครัวและกิจการ
ทั้ง 3 เงื่อนไขนี้เมื่อนำมาร้อยเรียงจะพบว่า มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างขาดกันไม่ได้ และมีความต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัดเป็นกระบวนการ เริ่มจากการสื่อสารในครอบครัว ในกิจการ ที่ต้องเติมองค์ความรู้ให้มีความทัดเทียมแก่สมาชิกในครอบครัว
เงื่อนไขทั้ง 3 ข้อข้างต้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากผู้นำของบ้านใช้การตัดสินใจแก้ปัญหาเพียงผู้เดียว ดังนั้นกระบวนการตัดสินใจของทั้งครอบครัวและกิจการ ล้วนต้องการความชัดเจน ยุติธรรม และสามารถเชื่อถือได้ การตัดสินใจจึงจำเป็นต้องทำอย่างเป็นระบบและมีโครงสร้าง การตัดสินใจ ในรูปของกรรมการ หรือองค์คณะนั่นเอง
ธรรมนูญครอบครัว…สำคัญต่อการส่งต่อธุรกิจสู่ทายาท
ทัศนคติ และค่านิยมในครอบครัว…เป็นสิ่งที่ผู้นำครอบครัวต้องสร้างเพื่อผลลัพธ์ที่ดีในอนาคตครับ