ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินแรงส่งของเศรษฐกิจไตรมาสแรก พบแผ่วลงกว่าไตรมาสก่อน คาดขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ใกล้เคียงกับไตรมาสที่สี่ปี 57 ทาง สภาพัฒน์ฯ จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บรวบรวมและประเมินจีดีพีในรูปแบบใหม่ รอติดตามว่าจะส่งผลต่อองค์ประกอบจีดีพีมากน้อยเพียงใด
คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมติตัดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในรอบประชุมวันที่ 11 มีนาคม และ 29 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นการตัดสินใจเลือกที่จะผ่อนปรนนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อีกนัยหนึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาและหมายรวมถึงในระยะหลายไตรมาสข้างหน้า อาจมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่เคยประเมินไว้ ซึ่งย่อมกระทบต่อกำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอย และผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนของหลายหน่วยงานในช่วงสามเดือนแรกของปี 2558 จะเห็นได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจยังคงไร้ทิศทาง จนเสมือนว่าเศรษฐกิจยังคงนิ่งสนิท แทบไม่ขยับไปไหนหากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาด้านอุปทานจะเห็นได้ว่าผลผลิตภาคเกษตรยังคงหดตัวอยู่มากถึงร้อยละ 5.8 จากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรในหลายตัวที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาคได้รับผลกระทบขณะที่เครื่องชี้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเองแทบจะไม่ขยายตัวเลย แม้จะปรับดีขึ้นจากไตรมาสสี่ ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้ทางด้านการใช้จ่ายที่ยังคงอ่อนแออยู่ทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ
หากประเมินจากรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาท จะเห็นได้ว่าการส่งออกไปยังตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน รวมไปถึงตลาดจีนที่อ่อนแอ กดดันให้มูลค่าส่งออกไตรมาสแรกหดตัวร้อยละ 4.4 แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และตลาด CLMV ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ตัดเป้าส่งออกในปีนี้ลงจากร้อยละ 4 เหลือเพียงร้อยละ 1.2
อย่างไรก็ตาม หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงอ่อนแอ อาจทำให้การส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้ไม่ถึงเป้าที่ทางการตั้งไว้ ส่วนการนำเข้าที่หดตัวถึงร้อยละ 6.1 เกิดจากมูลค่านำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันปิโตรเลียมที่หดตัวเกือบร้อยละ 50 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเติบโตอย่างอ่อนแอ ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ทางด้านเครื่องชี้ภาคการท่องเที่ยวที่สะท้อนผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาตินับได้ว่ามีการฟื้นตัวอย่างเด่นชัดที่สุด ขยายตัวกว่าร้อยละ 23.5 ต่อปี จากร้อยละ 7 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยรายได้จากการท่องเที่ยวน่าจะปรับตัวดีขึ้น อย่างน้อยน่าจะช่วยลดผลกระทบบางส่วนจากรายได้การส่งออกสินค้าที่หดหายไป
เครื่องชี้สุดท้าย คือการใช้จ่ายของภาครัฐซึ่งนับได้ว่าเป็นความคาดหวังในปีนี้ดูเหมือนว่าการเบิกจ่ายงบประจำ ซึ่งมีรายจ่ายด้านเงินเดือนหรือค่าตอบแทนเป็นหลักนั้นไม่ได้มีปัญหา ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุน จะเห็นได้ว่าเติบโตสูงกว่าร้อยละ 123 แต่แท้จริงแล้วส่วนหนึ่งเกิดจากฐานที่ต่ำ ในปีที่ผ่านมาที่มีการเบิกจ่ายล่าช้า เพราะผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ
อีกทั้งหากพิจารณาการเบิกจ่ายสะสมในช่วง 6 เดือนแรกของงบประมาณปี 2558 (ต.ค. 57-มี.ค. 58) คิดเป็นเพียง 118 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 28 ต่ำกว่าความสามารถการเบิกจ่ายในอดีต และต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้เกือบครึ่งหนึ่ง เพราะส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากข้อติดขัดในเรื่องของความรัดกุมในการตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีการโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า จากเครื่องชี้รายเดือนดังกล่าว ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้ ยังไม่สู้ดีนัก ด้วยแรงส่งของเศรษฐกิจ (qoq) ที่น่าจะลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.2โดยคาดว่าจีดีพีน่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.8 ต่อปี (yoy) ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับไตรมาสสี่ปี 2557 ที่เติบโตร้อยละ 2.3
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกอย่างเป็นทางการ อีกทั้งในรอบนี้จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บรวบรวมและประเมินตัวเลขจีดีพีในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อตัวเลขจีดีพีและองค์ประกอบจีดีพีแต่ละส่วนที่ถูกรายงานออกมาให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้