ยอดขายรถยนต์ในประเทศยังอ่อนแอ คาดปี 58 ยอดขายเพียง 9 แสนคัน


       ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ที่เอ็มบี มองปี 58 ยอดขายรถยนต์ยังคงได้รับผลกระทบด้านลบ พร้อมประเมินยอดขายปี 58 อยู่ที่ 9.0 แสนคัน โดยครึ่งปีแรกยังไร้วี่แววปัจจัยหนุน แต่ช่วงครึ่งปีหลังต้องลุ้นการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ และจัดเก็บภาษีรถยนต์ตามการปล่อยก๊าซ CO2 ที่จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อรถยนต์ขนาดกลางขึ้นไปได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี

        สถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศเผชิญความเสี่ยงจากกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภคต่อเนื่องมาสองปี ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2557 อยู่ในระดับ 8.8 แสนคัน หรือ หดตัวร้อยละ 33.7 (yoy) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหลักจากกำลังซื้อที่ลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากโครงการรถคันแรก ซึ่งศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า โครงการรถคันแรกในปี 2555-2556  ช่วยกระตุ้นให้เกิดดีมานด์การซื้อรถในประเทศ สูงกว่าปกติ รวม 1.7 แสนคัน โดยเป็นดีมานด์ที่ถูกนำไปใช้ในปี 2557 จำนวน 1.5 แสนคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการรถคันแรก ดังนั้น คาดว่ายังคงเหลือดีมานด์ที่จะถูกดึงไปชดเชยอีกประมาณ 2.2 หมื่นคัน ซึ่งจะกระทบต่อยอดขายรถในปี 2558

        ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2558  จะอยู่ในระดับ 9 แสนคัน จากระดับยอดขายปกติอยู่ที่ 9.2 แสนคัน เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกยอดขายในประเทศยังไร้ปัจจัยหนุน กำลังซื้อที่ลดลงจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้สินภาคครัวเรือนยังคงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งผลกระทบบางส่วนจากโครงการรถคันแรกที่ยังเหลืออยู่

        อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง ยอดขายรถน่าจะกระเตื้องขึ้นจากปัจจัยหนุนบางส่วน ได้แก่ การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ใช้ในการลงทุนให้เพิ่มขึ้น และการเร่งตัดสินใจของผู้บริโภคที่กำลังมองหารถยนต์ในกลุ่มที่ราคาจะเพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในอัตราใหม่ตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2559 ทำให้ราคารถยนต์เพิ่มขึ้นจากราคาขายเดิมประมาณร้อยละ 3-5 โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลาง-สูง (เครื่องยนต์มากกว่า 1,500 C.C. ขึ้นไป)

        ทั้งนี้ ถ้ามีกลุ่มรถยนต์ที่จะฟื้นตัว กลุ่มที่จะฟื้นตัวก่อน ได้แก่ กลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลางขึ้นไป อาทิ รถยนต์หรูหรา รถยนต์อเนกประสงค์ (SUV) เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง-บน ยังมีอยู่ รวมถึงฐานการตลาดของกลุ่มนี้ ยังไม่กว้างมากนัก แต่รถยนต์นั่งขนาดกลางที่มีมากกว่า 7 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่ง เช่น กลุ่มรถตู้และรถบรรทุกขนาดเล็ก ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการขนส่งรับจ้าง อาจได้รับผลกระทบจากระเบียบใหม่ของกรมการขนส่งทางบก ที่กำหนดให้ผู้ซื้อที่ต้องการขอจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลต้องแสดงภาษีเงินได้ย้อนหลัง 2 ปี แสดงฐานะทางการเงิน วัตถุประสงค์ของการใช้รายละเอียดรถอย่างละเอียด และระบุสถานที่จอดรถ เพื่อเป็นการจัดระเบียบรถยนต์รับจ้างให้เป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการรับจ้างขนส่งส่วนหนึ่งที่ไม่อยู่ในระบบ ชะลอการซื้อออกไป ทำให้ยอดขายรถยนต์กลุ่มนี้ลดลง กลุ่มต่อมาที่จะฟื้นฟูคือ กลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ เนื่องจากได้รับผลดีจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของทางภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้าที่สุดคือ รถกระบะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคล อาจจะฟื้นตัวอย่างเร็วที่สุดช่วงปลายปีนี้ ทางด้านรถยนต์อีโคคาร์ คาดว่าปีนี้ยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง แต่จะเริ่มดีขึ้นในปีหน้า เนื่องจากภาษีใหม่ที่จะปรับตัวลง ทำให้ราคาขายลดลงจากเดิมร้อยละ 3

         หากพิจารณายอดขายรวมของรถยนต์ในประเทศปี 2558 จะเป็นปีแห่งการปรับสมดุลกำลังซื้อรถยนต์ภายในประเทศอย่างแท้จริง โดยในปีหน้าจะกลับเข้าสู่ระดับยอดขายปกติอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การปรับสมดุล เข้าสู่ระดับยอดขายปกติจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับแรงส่งในช่วงกลางปีซึ่งต้องอาศัยภาครัฐเป็นหลักในการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุน เพื่อเป็นการส่งไม้ต่อแก่ภาคเอกชน และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนต่อไป