สหภาพยุโรป (EU) เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่มีกำลังซื้อสูง สามารถจำหน่ายสินค้าได้หลากหลายชนิดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2558 นี้เป็นปีที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยต้องเผชิญโจทย์สำคัญ 3 ด้าน ซึ่งอาจฉุดกำลังซื้อของ EU คือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ EU ที่เปราะบาง ผสานกับการแข็งค่าของเงินบาทต่อเงินยูโรทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง อีกทั้งยังเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ทุกรายการสินค้าจาก EU ประเด็นดังกล่าวยิ่งเพิ่มภาระต้นทุนจากค่าเงินและอัตราภาษีที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 ทำให้สินค้าไทยอาจแข่งขันทางด้านราคาลำบากมากขึ้น
สินค้า SMEs ที่ถูกตัดสิทธิ GSP จาก EU ต้องรับภาระต้นทุนสูงขึ้นราวร้อยละ 2.9
การที่สินค้าไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP จาก EU ทุกรายการสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้สินค้าไทยที่เข้าสู่ EU มีราคาเพิ่มขึ้นจากการกลับมาเก็บภาษีในอัตราปกติ หรือ MFN นั่นหมายความว่าสินค้าไทยอาจแข่งขันทางด้านราคาลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศที่ยังได้รับสิทธิ GSP จาก EU
เมื่อต้นปี 2557 สินค้าไทยบางรายการถูกตัดสิทธิ GSP จาก EU ซึ่งอยู่ในกลุ่มเนื้อปลาแปรรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่กำลังจะถูกตัดสิทธิในปี 2558 ได้แก่ ยานยนต์ขนส่ง เครื่องปรับอากาศชนิดติดผนัง/หน้าต่าง เลนส์แว่นตา ยางนอกรถยนต์ ถุงมือยาง เป็นต้น โดยในภาพรวมแล้วสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP คิดเป็นร้อยละ 39 ของการส่งออกไปยัง EU ทั้งหมด และการส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิ GSP ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 6,724 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 1.69 เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน การหดตัวดังกล่าวไม่เพียงตอกย้ำความอ่อนแรงของตลาด EU ยังทำให้ตระหนักว่าสินค้าไทยแม้ได้รับสิทธิ GSP ก็เริ่มสูญเสียศักยภาพทางการแข่งขันไปบ้างแล้ว
สินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก อาทิ กลุ่มเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า อาหารทะเลแปรรูป และอาหารแปรรูป เป็นสินค้าที่สิทธิ GSP ช่วยลดภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา การกลับมาเสียภาษีในอัตราปกติจึงเพิ่มภาระทางภาษีส่งผลต่อผู้ประกอบการอย่างมาก ประกอบกับต้องแข่งกับสินค้าจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคใน EU ทำให้สินค้าไทยมีแนวโน้มจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปได้อย่างรวดเร็ว
สินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยถึงปานกลาง ประกอบด้วยยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้า เตาอบ และเลนส์ เป็นกลุ่มที่การกลับมาเก็บภาษีอัตราที่ไม่สูงไปกว่าอัตราที่เคยเสียภายใต้สิทธิ GSP เท่าไหร่นัก และสินค้าไทยยังมีศักยภาพโดดเด่นในการทำตลาด สินค้าอย่างยางพาราและผลิตภัณฑ์ อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านราคาที่ถูกกดดันจากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลเชิงลบต่อผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ในปี 2558 ที่เป็นรอยต่อของการสิ้นสุดสิทธิ GSP ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อไทยต้องกลับไปถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราปกติ (MFN) จะทำให้ผู้ประกอบการไทยสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 252 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงที่เคยเสียภาษีในอัตราพิเศษภายใต้สิทธิ GSP หรือคิดเป็นอัตราภาษีที่ต้องเสียเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ในกลุ่มสินค้าที่ไทยเคยส่งออกภายใต้สิทธิ GSP
ธุรกิจไทยที่มีสาขาในต่างประเทศควรเชื่อมโยงห่วงโซ่ธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจในประเทศโดยเฉพาะ SMEs ต้องวางแผนบริหารจัดการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ได้รุกขยายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม ซึ่งยังได้รับสิทธิ GSP จาก EU และมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานในระดับต่ำ เอื้อทั้งการผลิตและส่งออกต่อ และสามารถจำหน่ายในประเทศดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเล็งเห็นโอกาสนี้เช่นกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวทางการปรับตัวของธุรกิจไทย อาจทำได้โดยกรณีที่ธุรกิจไทยมีสาขาการผลิตในต่างประเทศ เพื่อเสริมให้ธุรกิจเดิมมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยการจัดตั้งเป็นกิจการการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตไปเป็นผู้รวบรวมสินค้าที่ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วทำการส่งออกไปยัง EU ซึ่งในกรณีนี้ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินธุรกิจในเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อให้สินค้าที่ทำการส่งออกต่อไปยัง EU ยังคงมีถิ่นกำเนิดจากประเทศที่ได้สิทธิ GSP จาก EU หรือ การจัดตั้งกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ เพื่อดูแลกิจการหรือสาขาการผลิตในต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างที่เห็นชัดเจนจะเป็นธุรกิจต่างชาติรายใหญ่ของญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสิงคโปร์ ที่มีฐานการผลิตกระจายตัวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย จึงต้องมีศูนย์รวมการขนส่งสินค้าหรือศูนย์บริหารจัดการธุรกิจเครือข่ายของตน และประเทศไทยมีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนกิจการดังกล่าว
โดยการจัดตั้งธุรกิจ ITC และ IHQ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตามหลักเกณฑ์ใหม่ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดภาษี นอกจากนี้ ภาครัฐบาลไทยมีแผนเตรียมผ่อนเกณฑ์ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับธุรกิจดังกล่าว เพื่อให้ความสะดวกใกล้เคียงกับการลงทุนจัดตั้งกิจการในประเทศสิงคโปร์ โดยจะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีธุรกิจเพิ่มเติม ซึ่งรายละเอียดจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะบังคับใช้ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558
กรณีที่ธุรกิจไทยมีฐานการผลิตในประเทศไทยโดยเฉพาะ SMEs แม้ว่าไทยจะถูกตัดสิทธิ GSP จาก EU แต่สินค้าไทยยังมีโอกาสได้รับการยกเว้นภาษีภายใต้นโยบาย Suspension ซึ่งจะได้รับสิทธิเมื่อผู้นำเข้าในฝั่ง EU ทำเรื่องขออนุญาตนำเข้าต่อหน่วยงานตัวแทนของ European Commission ที่ตั้งอยู่ในแต่ละประเทศสมาชิก EU โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าไทยที่น่าสนใจมี 2 กรณี
1. สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้ข้อกำหนด “Autonomous Tariff Suspensions” โดยให้สิทธิเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง หรือสินค้าที่ EU ขาดแคลนเท่านั้น โดยจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีลดจากอัตราปกติหรือไม่ต้องเสียภาษี ที่ให้เป็นการชั่วคราวหรือถาวร และสมาชิก EU สามารถยื่นเรื่องขอสิทธิให้แก่สินค้ารายการอื่นนอกเหนือจากรายการในบัญชีที่ระบุไว้ได้หากสินค้าเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ทั้งนี้ สินค้าที่อยู่ในบัญชีที่ได้รับสิทธิดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะเจาะจงลงลึก HS Code 8 หลัก ครอบคลุมเกือบทุกหมวดสินค้า ซึ่งจะเอื้อต่อกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมไทยบางรายการให้ยังมีโอกาสขอสิทธิดังกล่าว ยกเว้นสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป แม้จะมีศักยภาพแต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้สิทธิ เนื่องจาก เป็นรายการยกเว้น
2. สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าที่ได้ใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน ที่ออกโดยองค์กรการบินของสมาชิก EU หรือองค์กรในประเทศที่ 3 เพื่อนำเข้ามาใช้เป็นชิ้นส่วน ส่วนประกอบ และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับการผลิตในอุตสาหกรรมการบิน ตลอดจนกลุ่มอะไหล่ เพื่อการซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ หากสามารถปรับกระบวนการผลิตให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการบินของ EU และเป็นไปตามข้อกำหนด ก็น่าจะมีโอกาสขอสิทธิได้เช่นกัน
โดยสรุป การส่งออกของไทยไป EU ในปี 2558 ต้องปรับตัวรับกับปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า นอกจากเรื่องของ GSP และต้องเตรียมรับมือกับโจทย์การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในระยะยาว
ปัญหาเศรษฐกิจ EU อ่อนแรงและปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า กดดันการส่งออกของสินค้าไทย หากพิจารณาถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยไปยัง EU นั้น ประเด็น GSP อาจถือเป็นปัจจัยรอง ซึ่งเริ่มแรกที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP จาก EU ในปี 2558 สินค้าไทยยังมีศักยภาพเพียงพอ และยังมีช่องทางอื่นที่เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ในขณะที่ประเด็นที่สำคัญในเวลานี้คือ ทิศทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ EU และทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทย เมื่อเทียบกับยูโรที่แข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 23.45 จากต้นปี 2557 เป็นอัตราที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่น ที่เป็นคู่แข่งทางการค้าไทยใน EU ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยถอยลงกว่าประเทศอื่น
ดังนั้น จากสารพัดปัจจัยลบดังกล่าวทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการไทยไม่เพียงจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าเพื่อรักษาตลาด EU เท่านั้น ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเกิดจากอัตราภาษีและผลของค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป กระทบต่อผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะมีความเสี่ยงที่ EU จะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาสินค้าต่ำกว่า ขณะที่ผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะได้รับผลกระทบน้อยด้วยโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการต้นทุนระหว่างประเทศจึงน่าจะปรับตัวได้
ในเวลานี้ ธุรกิจ SMEs ไทยจึงยากจะหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไป EU ในภาพรวมปี 2558 อาจจะขยายตัวเข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 (กรอบประมาณการขยายตัวร้อยละ 0.5-3.5) โดยลดลงจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2557 อีกทั้ง จะต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินยูโรในระยะข้างหน้าหากทรุดตัวลงไปอีก อาจฉุดให้การส่งออกของไทยไป EU ปี 2558 หดตัว อย่างยากจะหลีกเลี่ยง
การแข่งขันที่เร่งตัวขึ้นในตลาด EU เป็นโจทย์ในระยะยาวที่ SMEs ต้องตระหนัก สินค้าไทยจะค่อยๆ ถูกช่วงชิงตลาดไป ซึ่งในเวลานี้สินค้าจากประเทศที่ไม่ได้สิทธิ ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจาก EU รวมถึงคู่แข่งของไทยมี FTA กับ EU หรือสินค้าที่ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังได้สิทธิ GSP นั่นจะทำให้ประเทศเหล่านั้นมีประสิทธิภาพการผลิตและส่งออกสินค้าป้อน EU ได้มากขึ้น ตลอดจนในกรณีที่ผู้นำเข้า EU โยกย้ายคำสั่งซื้อจากไทยไปยังประเทศที่ผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มหรือตอบโจทย์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้มากกว่า หรือมีต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่ำกว่าทั้งจากผลของค่าเงินและผลของสิทธิทางภาษี GSP และหากผู้ประกอบการในไทยตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากไทย ยิ่งจะทำให้ไทยสูญเสียห่วงโซ่การผลิตและการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวเนื่อง จะยิ่งทำให้ไทยสูญเสียทั้งเม็ดเงินลงทุนและรายได้มากยิ่งขึ้น โดยต้องจับตาคู่แข่งสำคัญ ดังนี้
1.สินค้าที่ผลิตจากจีนจะกลายเป็นคู่แข่งที่ต้องจับตามากขึ้นในระยะ 1-2 ปี ในกรณีที่ถ้าจีนเร่งรัดเปิดเสรีการค้าระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป ได้ในระยะอันใกล้จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้สินค้าจีน ทั้งนี้ ในปัจจุบันจีนอาศัยช่องทางเชื่อมโยงกับภูมิภาคยุโรปที่สำคัญคือ มี FTA กับประเทศไอซ์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเสมือนใบเบิกทางสินค้าจากจีนสามารถทยอยเจาะตลาด EU ได้สะดวก รวมทั้ง เส้นทางการขนส่งทางรถไฟสายใหม่ที่เชื่อมจากใจกลางประเทศจีนตรงสู่ยุโรปใช้ระยะเวลาการขนส่งเพียง 15 วัน เอื้อให้สินค้าจีนในการทำตลาด EU ได้ด้วยความรวดเร็วและมีต้นทุนการขนส่งต่ำลง ขณะที่เส้นทางการขนส่งของไทยโดยเส้นทางทะเลไปยุโรปใช้เวลายาวนานกว่านั้น
2. สินค้าที่ผลิตจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP จาก EU จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น จากที่ในเวลานี้สินค้าเวียดนามในภาพรวมทำตลาดใน EU แซงหน้าไทยไปแล้ว แม้ว่าเวียดนามจะยังไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงของสินค้ากลุ่มหลักของไทย แต่ในระยะข้างหน้าทั้งอานิสงส์จากกำแพงภาษีของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านไทยที่กำลังจะหมดลงตามกรอบการค้าเสรีอาเซียน และการรวมตัวเป็น AEC ยิ่งเอื้อประโยชน์ต่อการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตจากไทยไปสู่ประเทศปลายทางที่จะเป็นฐานการผลิตใหม่ของนักลงทุนไทยและต่างชาติ เป็นเสมือนเหรียญสองด้าน ในกรณีที่สินค้าเวียดนามที่ผลิตโดยนักลงทุนไทยนับว่าเป็นการเสริมเครือข่ายการผลิตของไทยในต่างประเทศ แต่หากเป็นกรณีที่สินค้าเวียดนามที่ผลิตโดยนักลงทุนต่างชาติยิ่งทำให้ไทยเสียทั้งตลาดใน EU และสูญเสียเม็ดเงินลงทุนที่ไทยควรจะได้รับ
ดังนั้น หากไทยสามารถกลับมาเร่งรัดเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thailand-EU FTA) จนบังคับใช้ได้สำเร็จ ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้สินค้าไทยได้สิทธิประโยชน์ชดเชยสิทธิ GSP ที่สูญเสียไป ขณะที่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีข้อจำกัดในการรับความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบภายนอกประเทศยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานของ EU เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยให้โดดเด่นเหนื