จับตา SEZ สงขลา : กับการพัฒนาที่รองรับการเชื่อมโยงเอเชีย และตลาดโลก


พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก และระยะที่สองไปแล้วทั้ง 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา เชียงราย นราธิวาส หนองคาย นครพนม และกาญจนบุรี โดยเน้นการตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มการจ้างงาน และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่บริเวณชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยนำสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มใช้ภายในประเทศและส่งออก

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมากทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา ศูนย์บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า หรือ Container Yard รวมทั้ง Inland Container Depot (ICD) เนื่องจากเป็นพื้นที่ของด่านชายแดนที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของมูลค่าการค้าชายแดนของไทย โดยในปี 2557 มีมูลค่ารวม 507,665 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 1.25 และสำหรับปี 2558 (ม.ค. – เม.ย.) มีมูลค่าการค้าแล้วถึง 154,000 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนไทย – มาเลเซียจะมีการชะลอตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะราคายางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่พื้นที่ชายแดนด้านใต้เชื่อมต่อกับมาเลเซียยังคงมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นประตูเชื่อมโยงเหนือ – ใต้ของไทยบนแนว North-South Economic Corridor: NSEC เป็นช่องทางขนส่งหลักทางถนนและรางเชื่อมต่อกับมาเลเซียสู่สิงคโปร์ อยู่ใกล้ท่าเรือปีนังและท่าเรือกลางของมาเลเซีย อีกทั้งเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนฝั่งเมืองบูกิตกายูฮิตัม ซึ่งมาเลเซียได้กำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักทางด้านยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของมาเลเซีย และยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟในแนวเหนือ – ใต้ จากสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ลาว ไปยังจีนได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังอยู่ในแนวเชื่อมต่อถนนมอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่ – สะเดาซึ่งสามารถเชื่อมโยงมอเตอร์เวย์ของมาเลเซีย ในอนาคตสามารถพัฒนารถไฟรางคู่เส้นทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์

ในช่วงวันที่ 10 – 14 มิถุนายนนี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และการพบหารือข้อราชการระหว่างผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ไทยกับผู้แทนกระทรวง-การค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมมาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของพื้นที่ชายแดนด้านใต้ของภูมิภาคอาเซียนที่เป็นทั้งแหล่งทรัพยากร เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ และการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนทั้งไทย และมาเลเซียเข้าร่วมกิจกรรมแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะการจัด Business Matching ขณะนี้ได้รับแจ้งว่ามีนักลงทุนมาเลเซียสนใจตอบรับเข้าร่วมงานแล้วกว่า 100 ราย ส่วนนักลงทุนไทยสนใจเข้าร่วมกว่า 200 ราย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพยายามผลักดันการค้าการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นแนวทางที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนจาก 1.14 ล้านล้านบาทในปี 2557 เป็น 1.5 ล้านล้านบาทในปี 2558 ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป อีกทั้งเพื่อเป็นการเชื่อมโยงการผลิต การตลาด และการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ที่จะเป็นผลภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นี้