ระบบบัญชี ปริศนากำไรขาดทุน
ดร.เรวัต ตันตยานนท์
ผู้ที่ตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจย่อมต้องหวังผลกำไร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ก็ตาม แต่เรามักจะพบเสมอว่าสำหรับธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ผู้บริหารมักจะทราบได้ว่า ธุรกิจของตัวเองหรือธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบอยู่ ทำกำไรได้เท่าไรในแต่ละปี ปัญหามักจะอยู่ที่ธุรกิจขนาดย่อม หรือ SME เรานี่เอง
บ่อยครั้งที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการไม่สามารถตอบตนเองได้ว่า ธุรกิจที่ตนเป็นเจ้าของอยู่ทำกำไรได้เท่าไรในแต่ละปีที่ผ่านมา หลายต่อหลายครั้ง เรามักจะได้ยินเสียงบ่นจากเจ้าของหรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมอยู่เสมอว่า สินค้าก็ขายได้ แต่ทำไมเงินขาดมืออยู่ตลอดเวลา ขายแล้วไม่ได้กำไร
ประเด็นสำคัญในที่นี้ก็คือ เจ้าของธุรกิจ SME จะทำอย่างไรจึงจะรู้ว่ากำไรจากธุรกิจได้มาจากไหน หรือหายไปที่ไหนได้บ้างตลอดช่วงเวลาที่ธุรกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
การทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ต้องเข้าใจถึงวิธีการในการบริหารและดำเนินการธุรกิจให้ครบวงจร ตั้งแต่การนำเงินมาลงทุนทำธุรกิจไปจนถึงการติดตามผลของการทำธุรกิจในรูปของกำไรและขาดทุน เมื่อจะเริ่มทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อมาขายไป การผลิตสินค้าเพื่อขาย หรือการขายบริการต่างๆ เจ้าของธุรกิจหรือบริการนั้นๆ จะต้องเริ่มจาก “เงินลงทุน” ก้อนหนึ่งเสมอ
เงินลงทุนจะถูกนำไปใช้ซื้อสินค้ามาขาย นำไปซื้อวัตถุดิบ หรือเครื่องจักรในการผลิต หรือนำไปซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการให้บริการ ซึ่งจะต้องใช้เงินไปก่อนที่จะมีสินค้ามาขายได้เสียอีก อย่างไรก็ตาม เงินทุนก้อนแรกเริ่มนี้ อาจจะมาได้จาก 2 ส่วน ส่วนแรกอาจมาจากกระเป๋าของเจ้าของในส่วนที่เป็นเงินออมหรือเงินส่วนตัวของเจ้าของเอง หรือในส่วนที่ 2 อาจต้องไปกู้หนี้ยืมสินคนอื่น (รวมไปถึงธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่างๆ) มา
เจ้าของธุรกิจต้องพึงระลึกเสมอว่า เงินลงทุนในส่วนที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมานั้น ไม่ใช่เป็นส่วนของตนเอง จะต้องมีการคืนเงินให้แก่ “ผู้ให้กู้” หรือ “เจ้าหนี้” ภายหลัง รวมไปถึงภาระดอกเบี้ยต่างๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นด้วย เพราะแน่นอนว่า “เจ้าหนี้” ย่อมหวังผลตอบแทนในการให้เงินกู้แก่เราด้วย
สินค้า วัตถุดิบ เครื่องจักรการผลิต หรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการประกอบธุรกิจเหล่านี้ เมื่อซื้อมาแล้ว ก็จะกลายเป็น “ทรัพย์สิน” ของกิจการ หากไม่ได้ใช้เงินสดซื้อ แต่เป็นการซื้อด้วยเงินเชื่อ สิ่งที่เจ้าของธุรกิจจะต้องได้รับพ่วงมาด้วยพร้อมกับทรัพย์สิน ก็คือ “เจ้าหนี้การค้า” เพราะต้องมีภาระผูกพันในการนำเงินไปชำระค่าของให้แก่เขาในภายหลัง
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือ ทรัพย์สินที่ซื้อมาสำหรับดำเนินธุรกิจเหล่านี้ มักจะมีราคาตกลงไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าซื้อรถเข็นขายสินค้าใหม่เอี่ยมมา 1 คันในวันนี้ ราคา 3,000 บาท นำมาใช้ทำธุรกิจไปได้ 1 เดือน เห็นท่าทางจะไปไม่รอด ต้องการนำรถเข็นคันนี้ไปขายต่อให้คนอื่น คงจะเห็นได้ว่ามีโอกาสอย่างมากที่จะขายได้ราคาไม่ถึง 3,000 บาทเท่ากับตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ เป็นต้น
มูลค่าทรัพย์สินที่สูญหายไปเฉยๆ ต่อหน้าต่อตานี้ เรียกว่า “ค่าเสื่อมราคา” ของทรัพย์สิน ซึ่งต้องถือว่าค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนี้ เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการทำธุรกิจด้วย
หลังจากการลงทุนก็จะมีสินค้า หรือสามารถผลิตสินค้า หรือสร้างบริการขึ้นมาได้ เจ้าของธุรกิจก็สามารถนำสินค้าเหล่านั้นไปขาย ซึ่งอาจขายได้มาเป็นเงินสด หรือเงินเชื่อ
กรณีที่ขายเป็นเงินเชื่อ ก็จะเกิด “ลูกหนี้การค้า” ขึ้น แทนที่จะเป็น “เงินสด” และเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าของที่จะต้องไปตามทวงหนี้ หรือ เก็บหนี้มาจากลูกหนี้ของตนเพื่อเปลี่ยนสถานะจากการมี “ลูกหนี้” กลายเป็นการได้ “เงินสด” กลับมาใช้หมุนเวียนในกิจการ
ถ้าตามเก็บหนี้ไม่ได้ก็จะกลายเป็น “หนี้สูญ” คือไม่ได้อะไรตอบแทนมาจากการขายสินค้านั้นๆ เลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งๆ ที่ต้องลงทุนไปในการจัดหาสินค้าเหล่านั้นมา กลายเป็นต้นทุนอีกอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ส่วนใหญ่การขายมักจะไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังจากได้สินค้ามา โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องผลิตขึ้นเอง อาจต้องใช้ระยะเวลาในการผลิต สินค้าเหล่านี้จะถูกเก็บไว้เฉยๆ ในรูปของ “สินค้าคงคลัง” หรือที่มักเรียกกันว่า “สต๊อกสินค้า”
ในช่วงเวลาดังกล่าวที่ยังไม่ได้ขายสินค้าหรือยังไม่ได้รับเงินจากการขาย หลายๆ กิจการมักยังจะต้องอาศัยเงินสำรองในการทำให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้ต่อเนื่อง เงินส่วนนี้มักเรียกว่า “เงินทุนหมุนเวียน” และถือว่าเป็นเงินอีกส่วนหนึ่งที่ต้องกันไว้เพื่อการทำธุรกิจ
หากเจ้าของกิจการสามารถตั้งราคาขายสินค้าหรือบริการได้อย่างเหมาะสม โดยตั้งราคาขายให้สูงกว่าบรรดาต้นทุนต่างๆ อันอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งหมดในวงจรของธุรกิจตามที่ได้กล่าวมา ก็จะเกิด “กำไร” ส่วนหนึ่งขึ้นมาเป็นผลพวงจากผลการทำธุรกิจของตนเอง แต่กำไรเหล่านี้ยังไม่สามารถนำมาเข้ากระเป๋าเป็นส่วนของเจ้าของไปใช้ได้ในทันที
หากมีหนี้ที่เกิดจากการไปกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้เป็นทุนในการทำธุรกิจด้วย ก็ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นไปชำระ “ดอกเบี้ย” เสียก่อน
ส่วนที่เหลือจะต้องนำไปคำนวณเป็นรายได้สุทธิเพื่อเสีย “ภาษี” ให้แก่รัฐในฐานะพลเมืองที่ดีตามกฎหมายเพื่อตอบแทนการได้ใช้แผ่นดินไทยมาทำการค้าขายจนเกิดกำไรขึ้นมา
หลังจากหักดอกเบี้ย และภาษีแล้ว จึงจะเหลือเงินส่วนที่เรียกว่าเป็น “กำไรสุทธิ” จากการทำธุรกิจ ซึ่งเจ้าของจะต้องพิจารณานำกำไรสุทธิส่วนนี้ไปกันไว้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือใช้เป็นเงินทุนในการขยายกิจการต่อไป
หลังจากนั้นควรพิจารณานำกำไรสุทธิส่วนที่เหลือไปชำระคืน “เงินต้น” ให้ผู้ให้กู้ยืมเงินมาลงทุน ส่วนสุดท้ายจึงจะเรียกได้ว่าเป็น “ส่วนของเจ้าของ” เป็นผลตอบแทนจากการต้องควักกระเป๋าของตัวเองมาลงทุนในการทำธุรกิจแต่เริ่มแรก
หากเจ้าของหรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมมองเห็นและเข้าใจกิจกรรมและวงจรธุรกิจดังที่กล่าว ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในการทำธุรกิจก็จะสามารถตอบได้ว่าธุรกิจของตนทำกำไรได้เท่าไรอย่างชัดเจน
เครื่องมือที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจขนาดย่อมสามารถรู้ได้ว่ากิจการมีกำไรที่แท้จริงเท่าไรก็คือ “ระบบบัญชี” ซึ่งจะถือเสมือนเป็นบันทึกที่ใช้ติดตามกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรูปของตัวเงิน ซึ่งจะสามารถนำไปใช้คิดเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนลงแรงทำธุรกิจ เป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่เรียกว่า “กำไรขาดทุน”
ถ้า SME อยากรู้ว่าทำธุรกิจแล้วได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไร ต้นเหตุมาจากไหน จะปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้นได้อย่างไรก็จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดทำบัญชีของธุรกิจให้ถูกต้องและตรงกับความเป็นจริงเสมอ!