ทำงานทั้งวันได้ ๑๕๐๐ เดินไปเดินมาได้ ๕๐๐๐
สุขุม นวลสกุล
อย่านึกนะครับว่า วลีข้างบนที่ว่า “ทำงานทั้งวันได้ ๑๕๐๐ เดินไปเดินมาได้ ๕๐๐๐” เป็นการยกย่องการทำงานของหัวหน้าว่ามีคุณค่ากว่าการทำงานของลูกน้อง จึงสมควรได้รับเงินค่าแรงหรือค่าตอบแทนมากกว่าคนที่เป็นลูกน้อง แต่จริง ๆ แล้วเป็นการเสียดสีคนเป็นหัวหน้าว่า วัน ๆ ไม่เห็นทำอะไรสักเท่าไหร่เลยเอาแต่เดินไปเดินมา แต่กลับได้เงินตอบแทนสูงกว่า เป็นความไม่เป็นธรรมในการทำงานชัดเจนมาก
ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผิน หลายคนคงเห็นด้วย เพราะภาพที่มองเห็นเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
ว่าไปแล้ว วลีที่เป็นชื่อเรื่องก็น่าจะเป็นอย่างนั้นจริง คือใครที่เป็นลูกน้องเขาก็คงต้องนั่งก้มหน้าก้มตาทำงาน ส่วนคนที่เป็นหัวหน้ามักต้องเป็นฝ่ายเดินไปเดินมา แต่การเดินไปเดินมาของหัวหน้าไม่ใช่เป็นการเดินเล่นลอยชายไปมา และไม่ใช่เป็นการเดินออกกำลังเพื่อสุขภาพพลานามัย
แต่การเดินไปเดินมาของคนระดับหัวหน้าหรือนักบริหารเป็นการเดินเพื่อดูแลการทำงานของลูกน้อง เดินเพื่อให้การทำงานของลูกน้องมีประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้นคนเป็นหัวหน้าต้องเดินใช้สายตาสอดส่ายดูแลลูกน้องให้ทำงานให้ได้ถูกต้องตามมาตรฐาน ไม่ใช่เดินแบบ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เอาใจออกนอกโรงงาน” เพราะความรับผิดชอบของหัวหน้าคือต้องควบคุมดูแลลูกน้องให้ทำงานให้ได้ประสิทธิผล
ความรับผิดขอบของหัวหน้าคือเป็นเสมือนตัวแทนขององค์กรคอยดูแลพนักงานให้ทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น
การเดินไปเดินมาของหัวหน้าเป็นการควบคุมการทำงานของลูกน้องอย่างหนึ่ง ที่ผมยืนยันว่าเป็นวิธีการบริหารที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง เพราะผมใช้เป็นประจำในขณะทำงานบริหารอยู่ ใช้แล้วทำให้ลูกน้องทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพ
ผมจำได้ว่า สมัยที่เป็นอาจารย์ชั้นผู้น้อย เวลาถูกมอบหมายให้ทำงานร่วมกับอาจารย์หลายท่าน บางครั้งก็มีปัญหาที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา จะว่าเป็นปัญหาเล็กก็ไม่ใช่ จะยกระดับเป็นปัญหาใหญ่ก็ไม่เชิง เอาเป็นว่าเป็นปัญหาที่ทำให้ความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างอาจารย์กระทบกระเทือนก็แล้วกัน
อย่างเช่น คณบดีมอบหมายให้อาจารย์กลุ่มหนึ่งประมาณ ๓ – ๔ คนเข้าเวรรับลงทะเบียนนักศึกษาระหว่างเวลา ๘.๓๐ – ๑๕.๓๐ น. ปรากฏว่าพวกอาจารย์ที่เข้าเวรทำงานไม่เท่าเทียมกัน บางคนก็เป็นคนตรงเวลามาเข้าเวร ๘.๓๐ บางคนก็มาสายกว่าคนอื่น ๙ โมงบ้าง ๙ โมงกว่า ๆ ก็มี แต่ไม่มีปัญหาทำให้งานเสียหายหรอกเพราะนักศึกษาที่มาลงทะเบียนตอนเช้า ๆ นั้นไม่ค่อยมาก มักจะชุกชุมช่วงตอนเกือบ ๑๐ โมงเป็นต้นไป ซึ่งช่วงนั้นอาจารย์มักมากันครบครัน
ช่วงที่นักศึกษามาลงทะเบียนกันแน่นมักเป็นระหว่างเกือบ ๑๐ โมงจนถึงเกือบบ่าย ๓ พอบ่าย ๓ เหลือเวลาอีกครึ่งชั่วโมงจะหมดเวลาคือบ่าย ๓ โมงครึ่ง ดังนั้นพอบ่าย ๓ อาจารย์บางท่านก็มักจะสวมวิญญาณนินจาหายแว๊บไป เหลืออาจารย์อยู่ไม่กี่คน ซึ่งก็ไม่มีปัญหาในเรื่องงานเพราะนักศึกษาเหลือไม่มาก
ปัญหามันอยู่ที่อาจารย์ที่มาสายแต่กลับก่อนนี่มักจะเป็นอาจารย์คนเดิม ๆ ประเภทความประพฤติ “ถึงฉันจะมาสาย แต่ฉันก็กลับก่อนนะ” จะบอกให้ แค่วันสองวันก็คงไม่เป็นไรเพราะนิสัยคนไทยนี่ “ขอกันกิน” นิดหน่อย ไม่ว่ากันอยู่แล้ว แต่พอทำบ่อยเข้า คนที่รับผิดชอบทำงานเต็มที่มาตรงเวลาไม่เคยกลับก่อนเวลาก็ชักไม่พอใจ มีการพูดจากระทบกระแทกหรือแสดงอาการไม่พอใจให้เห็น แต่พวกที่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงานมักจะไม่ค่อยรับรู้หรืออาจจะรู้แต่ทำเป็นไม่สำเหนียก เรียกว่ารู้มากเอาเปรียบผู้อื่น
ผมจดจำเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยผมเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ ดังนั้นวันหนึ่งเมื่อผมได้ขึ้นเป็นคณบดีของคณะ มีหน้าที่จัดอาจารย์ให้ผลัดกันอยู่เวร ผมก็พยายามทำให้อาจารย์ที่เข้าเวรทำงานเต็มที่โดยเท่าเทียมกัน จะได้ไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน
วิธีของผมก็คือผมยอมเหนื่อยด้วยการเดินมาห้องลงทะเบียนทุกวันตั้งแต่ ๘.๓๐ พูดง่าย ๆ ก็คือเหมือนกับมาเปิดห้องลงทะเบียนด้วยตนเองนั่นแหละครับ และผมพบว่านักศึกษาสมัยหลังก็เหมือนสมัยแรกคือ ไม่นิยมมาลงทะเบียนตอนเช้า ๆ ผมไปห้องทะเบียนทีไรนักศึกษามากันโหรงเหรงไม่กี่คนเพราะยังเช้าอยู่ แต่อาจารย์ที่ผมมอบหมายให้อยู่เวรมักจะมากันครบครัน หรือบางคนอาจจะสายบ้างแต่ไม่กี่นาทีหรอกครับ ผมก็ทักคนนั้นคนนี่เมื่อเห็นมาครบกันแล้วก็ค่อยปลีกตัวไปทำงานอื่น
แต่ไม่ว่างานจะติดพันแค่ไหน พอได้เวลาประมาณ บ่าย ๓ เศษ ๆ ผมก็จะเดินทอดน่องไปห้องลงทะเบียนอีกครั้ง โผล่เข้าห้องก็มักจะพบอาจารย์ที่เข้าเวรอยู่กันพร้อมหน้า ไม่ค่อยจะมีใครปลีกวิเวกหายไปเหมือนสมัยที่ผมเป็นอาจารย์เข้าเวร ผมก็พูดจาถามไถ่แบบให้เขาคิดว่าเรามาด้วยความเป็นห่วง ไม่ใช่มาเพื่อจับผิด เช่น “เหนื่อยไหม” “วันนี้นักศึกษาเยอะหรือเปล่า” อะไรทำนองนี้
เรื่องต้องการให้อาจารย์ไม่หนีเวรนี่ ถ้าเราจะใช้อำนาจ เช่น ขู่ว่าถ้าใครมาสายหรือกลับก่อนจะลงโทษ ก็อาจจะมีอาจารย์บางคนลองดี ทำสิ่งที่เราห้าม เพื่อดูว่าเราจะกล้าลงโทษเขาไหม ซึ่งถ้าเราลงโทษก็อาจจะถูกโจมตีหรือนินทาว่า เหี้ยมโหดหรือทำเกินกว่าเหตุ เพราะอาจารย์จะขาดหายไปบ้างงานก็ไม่เสียหายอะไรเพราะอาจารย์ที่เหลืออยู่ในเวรก็รับมือนักศึกษาที่มาลงทะเบียนได้ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยเลย ก็อาจมีปัญหาระหว่างอาจารย์หรือไม่ก็อาจถูกมองว่า ไม่ดูแลแก้ปัญหา
ผมก็เลยใช้วิธี “เดินไป เดินมา “ บริหาร โชคดีที่อาจารย์ทั้งหลายเขามีความเกรงใจในตัวผม วิธีนี้จึงช่วยให้ผมสามารถทำให้อาจารย์มาลงทะเบียนกันอย่างพร้อมเพรียงกัน
ผมขอเสนอแนะนะครับ ที่ทำงานไหนที่พนักงานมักมาทำงานสาย หัวหน้าลองใช้วิธี พอถึงเวลาเข้างาน ก็“เดินไป เดินมา” ในบริเวณที่ทำงาน ผมมั่นใจเลยว่าคนจะมาทำงานกันคึกคักพร้อมเพรียงกัน เพราะคงไม่มีคนทำงานคนไหนที่อยากให้คนเป็นหัวหน้าเห็นเป็นคนมาทำงานสาย แน่นอนครับ หัวหน้าที่จะใช้วิธีได้ต้องเป็นคนที่มาทำงานเช้าก่อนหรือตรงเวลา
ถ้าหัวหน้าเป็นคนมาสายก็คงใช้วิธีนี้ไม่ได้ เพราะมาหลังคนอื่นเขาแล้วดันไปถามว่า “เมื่อเช้า ใครมาสายบ้าง” ก็อาจจะโดนคนที่มาก่อนแล้วชี้มือพร้อมเพรียงกันมาที่หัวหน้าแล้วพูดเหมือนกันว่า “มึง เอ๊ย…..หัวหน้านั่นแหละ”
จากตัวอย่างที่ผมยกมาสาธิต ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยนะครับว่า วลีที่ว่า “ทำงานทั้งวันได้ ๑๕๐๐ เดินไปเดินมาได้ ๕๐๐๐” เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว