ธุรกิจที่มีจุดยืนและมีเป้าหมาย ซึ่งพร้อมก้าวไปข้างหน้าถึงแม้จะมีอุปสรรคหนักหนาเพียงใดก็ไม่หวั่น เพราะสิ่งนี้คือความสำเร็จ เฉกเช่นธุรกิจ Maker Zoo ซึ่งเป็น Tech startup คลื่นลูกใหม่ที่ได้ฝ่าอุปสรรคเพื่อผลักดันให้ Makerspace เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมพัฒนาธุรกิจทางด้านฮาร์ดแวร์/ซอฟท์แวร์เพื่อสร้างนวัตกรรมร่วมสมัย และขับเคลื่อนธุรกิจให้กลายเป็นแบรนด์ไทยระดับโลกด้วยทีมเวิร์คที่มีคุณภาพ
คุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Maker Zoo เล่าถึงความเป็นมาของ “Maker Zoo” ว่า ก่อนหน้าที่จะก่อตั้ง Maker Zoo ได้ทำงานเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำโปรแกรม แอพพลิเคชั่น และทำเว็ปไซต์ต่างๆ มาก่อน พอหลังจากนั้นได้มีความสนใจเรื่อง Makerspace ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ หรือการสร้างชิ้นงานต้นแบบ โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วย เลยเป็นที่มาของการตั้งทีม ร่วมกับเพื่อนสนิทรวม 4 คน ดังนั้น Maker Zoo คือ Makerspace ซึ่งเป็นเทรนด์การสร้างธุรกิจใหม่ที่กำลังมาแรงทั่วโลก เพราะภายใต้การทำ Makerspace จะครอบคลุมทั้ง ด้านการนำเทคโนโลยีต่างๆ ฮาร์ดแวร์/ซอฟท์แวร์ มาใช้เพื่อพัฒนา/สร้างผลิตภัณฑ์และทำโปรเจคต่างๆให้ลูกค้า และยังมีส่วนพัฒนาการศึกษา ด้านสังคมด้วย เพราะเป้าหมายหนึ่งในการทำ Makerspace นอกจากจะเน้นสร้างและพัฒนานวัตกรรมต่างๆแล้ว ยังต้องการผลักดัน Maker Movement เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ประชาชนให้ลุกขึ้นมาเป็นนักประดิษฐ์/สร้าง สิ่งต่างๆที่ตัวเองต้องการด้วย
สำหรับในปีนี้ ทาง Maker Zoo จึงโฟกัสที่การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมในประโยชน์ของ Makerspace/Maker Movement ว่า เป็นการเปิดประตูสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ด้วยคนธรรมดา ที่ทุกคนสามารถทำได้ อีกทั้งธุรกิจนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แต่ทางเราก็สามารถฝ่าฟันกันมาได้เกือบจะ 1 ปีแล้ว และการเติบโตก็มีมากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย รวมไปถึงการทำงานในส่วนนี้เราเป็น Tech Startup ที่ทุกคนต้องลงแรงเท่ากัน ไม่มีใครเป็นหัวหน้า ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ซึ่งปัญหาแรกที่เจอสำหรับการเริ่มทำธุรกิจคือ เนื่องจากเราเป็นธุรกิจใหม่ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทย และประกอบกับที่เราเป็น Startup ทำธุรกิจกันเอง ด้วยการลงทุนกันเอง ซึ่งมีเงินจำกัดทำให้เราเจอปัญหาเรื่องการหาเงิน ให้ธุรกิจเดินต่อไปให้ได้ ซึ่งโชคดีที่เพื่อนๆทุกคน รวมถึงครอบครัว เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และให้การสนับสนุนเสมอ ซึ่ง 6 เดือนแรกเราต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อหารูปแบบโมเดลธุรกิจให้ได้ว่า เราจะสร้างรายได้จากทางไหนบ้าง ในเริ่มแรกจึงมีการรับงานทำโปรเจคบ้าง จัด Workshop เรื่อง 3D printer เรื่อง อิเลคทรอนิค ต่างๆ เพื่อสร้างหารายได้ และสร้างBranding ไปในเวลาเดียวกัน เพราะสิ่งที่เราทำมันใหม่ ยังไม่มีเคยมีใครทำมาก่อน ต้องสร้างรูปแบบธุรกิจเอง
นอกจากนี้คุณภัทรพร ได้เล่าถึงรูปแบบของงานว่า การทำงานของ Maker Zoo ตอนนี้แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) โดยกลุ่มลูกค้านี้ คือคนที่มีโปรเจคอยู่แล้ว ซึ่งทางเราก็จะเข้าไปช่วยเสริม และเพิ่มเติมในสิ่งที่เขาต้องการ 2. Makerspace Community ลูกค้ากลุ่มนี้ คือคนที่ยังไม่มีโปรเจค แต่มีความสนใจ ซึ่งทางเราก็จะต้องมาช่วยกันคิดค้นโปรเจคขึ้นมา โดยตรงนี้จะมีการเปิดเป็น Workshop ต่างๆเพื่อให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D printer) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสิ่งของต่างๆ จาก “ไอเดีย” มาสู่ “ความจริง” โดย ขณะนี้เรามีลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในแต่ละต่อเดือนเกือบประมาณ 100 คน ซึ่งรายได้เฉลี่ยต่อเดือนก็จะอยู่ในระดับแสนถึงล้านบาท
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การสร้างธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอดทน ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีทีมเวิร์คที่ดี โดยคนอยู่ในทีม Maker Zoo จะต้องมี Passion ที่คล้ายๆกัน มีความรู้/ความสนใจเรื่อง Makerspace พร้อมที่จะใช้ความรู้ความสามารถที่ตัวเองมี พัฒนาผลักดันธุรกิจนี้ให้เกิดขึ้น ทำให้การทำงานของเราราบรื่นและรวดเร็ว ถ้าเกิดปัญหาก็ร่วมกันแก้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของทีมเวิร์คถือว่าเป็นจุดแข็งของ Maker Zoo ที่ทำให้เราสามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้ นอกจากนี้ในเรื่องของผลการตอบรับธุรกิจ Maker Zoo ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งนับว่าตอนนี้ตลาดของ Maker Zoo ค่อนข้างกว้าง เพราะ มีหลายกลุ่มที่ให้ความน่าสนใจ ไม่เพียงแต่คนไทยที่ให้ความสนใจเท่านั้น แต่รวมถึงชาวต่างชาติแถบเอเชียก็สนใจเข้ามาดูอีกด้วย รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ หน่วยงานของรัฐก็เช่นกัน อีกทั้งตอนนี้ทางเราต้องจับตลาดให้ชัดเจนมากกว่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อไป เพราะในอนาคตต้องมีการขยายธุรกิจขึ้นแน่นอน พร้อมกับผลักดันธุรกิจนี้ให้เป็น Makerspace แบรนด์ไทย ที่สามารถก้าวไปในระดับโลกให้ได้ คุณภัทรพรเล่าทิ้งท้าย