ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมิน กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 เพื่อรอประเมินประสิทธิผลหลังปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุม 2 ครั้งล่าสุด แต่ยังไม่ปิดโอกาสที่อาจมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในครึ่งปีหลัง หากสถานการณ์เงินเฟ้อและการส่งออกยังไม่ดีขึ้น
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการเซอร์ไพรส์ วิเคราะห์หลังตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 โดย กนง. ให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ รวมทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นต่อภาคการส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงก่อนหน้า
การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดมีส่วนช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างชัดเจน โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงราว 1 บาท มาอยู่ที่ระดับประมาณ 33.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยพยุงภาคการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนัก โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนเมษายนชี้ให้เห็นถึงการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และการเบิกจ่ายงบภาครัฐเร่งตัวได้ดีขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายของเอกชนในประเทศและรายได้จากการส่งออกยังคงอ่อนแรง ด้านความเชื่อมั่นในภาคเอกชนที่หักหัวลงก็เป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณไปคนละทิศละทาง จึงเกิดคำถามว่าการประชุม กนง. นี้ กนง. จะตัดสินใจอย่างไร ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าโอกาสที่ กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนี้มีมากกว่าจะมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม หลังภาพเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะที่กระสุนทางการเงินเริ่มเหลือน้อย
การที่ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อนเป็นการเพิ่มแรงหนุนแก่เศรษฐกิจอย่างทันท่วงที หลังความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทยมีสูงขึ้น หรือกล่าวในอีกนัยคือ กนง. ได้ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจรองรับความเสี่ยงเอาไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ดังนั้น ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ได้เปลี่ยนไป ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยลงอีกมีไม่มากนัก
นอกจากนี้จากการที่ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมมีอย่างจำกัด จากสถิติที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยแตะระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 1.25 ในช่วงปี 2546 (หลังวิกฤตดอทคอม) และปี 2552 (หลังวิกฤตซับไพร์ม) ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวจะทำให้อัตราดอกเบี้ยลงไปเท่ากับระดับต่ำที่สุด เท่าที่เคยมีมา และหากประเมินผ่านเครื่องชี้เศรษฐกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน เทียบกับสองช่วงเวลาดังกล่าว จะพบว่า สถานการณ์ในปัจจุบันน่าจะมีแนวโน้มไม่สู้ดีนัก หากเทียบกับในช่วงปี 2546 แต่ถือว่ามีความแข็งแกร่งกว่ามากหากเทียบกับช่วงปี 2552 จะเห็นได้จากในปี 2546 จีดีพีขยายตัวกว่าร้อยละ 7.2 การส่งออกเติบโตร้อยละ 17.4 ส่วนในช่วงปี 2552 จีดีพีหดตัวร้อยละ 0.7 และส่งออกติดลบร้อยละ 14.3
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่ายังมีโอกาสที่ กนง. จะออกโรงกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมี ความเสี่ยงหลักๆ ที่ต้องติดตามอยู่ 2 ประเด็น ความเสี่ยงแรกคือ เงินเฟ้ออาจหลุดกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อยาวนานกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยประเมินไว้
ในปัจจุบัน ธปท. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะเร่งตัวขึ้น กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสสี่ ส่งผลให้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2558 ของ ธปท. ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 แต่ในขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อในช่วงห้าเดือนแรกของปีขยายตัวติดลบร้อยละ 0.8 และยังมีแนวโน้มเป็นลบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่า หากราคาน้ำมันไม่ดีดตัวกลับในช่วงที่เหลือของปี โอกาสที่เงินเฟ้อจะติดลบในปีนี้มีค่อนข้างสูง
สำหรับความเสี่ยงอีกประการคือ รายได้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกสินค้าอาจติดลบอย่างต่อเนื่อง จากราคาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลงภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังอ่อนแอ โดยในประมาณการล่าสุด ธปท. ประเมินว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.8 ในขณะที่ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าจะหดตัวร้อยละ 1.7
ธปท. จะมีการเปิดแถลงประมาณการเศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งอาจมีการปรับตัวเลขประมาณการ การขยายของเศรษฐกิจการส่งออก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ โดยตัวเลขดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น ถึงมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจของ ธปท. ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงครึ่งปีหลัง