ผู้หลักผู้ใหญ่
สุขุม นวลสกุล
คงได้ยินได้ฟังกันนะครับว่า “สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพผู้หลักผู้ใหญ่” แต่บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่า ความหมายที่ควรจะเป็นของวลีนี้เป็นอย่างไร อาจจะคิดว่าเป็นเพียงพูดให้คล้องจองมีสัมผัสคำให้จดจำง่าย แต่จริงแล้วมีความหมายควรแก่การสร้างความเข้าใจนะจ๊ะ จะบอกให้
ภาพของคนอายุน้อยยกมือไหว้คนอายุมากกว่าเป็นภาพธรรมดาที่เห็นเสมอในสังคมไทย เพราะเราเป็นสังคมที่เคารพอาวุโส อย่างเข่นเราไปบ้านเพื่อน เพื่อนแนะนำให้รู้จักผู้ชายคนหนึ่งโดยบอกว่า “นี่พ่อเรา” ได้ยินเช่นนั้นก็ไม่ต้องคิดอะไรมากยกมือไหว้ได้ทันที
คงไม่มีใครหรอกนะครับ ที่ได้ยินเช่นนั้นแล้วแทนที่จะยกมือไหว้กลับสอบถามว่า “ไม่ทราบ พ่อเรียนจบอะไรมา” ถ้าถามแบบนี้ละก็เพื่อนผู้แนะนำก็คงงง ๆ ย้อนถามกลับว่า “ถามทำไมวะ” แล้วพอได้รับคำตอบว่า “กูจบปริญญานะโว้ย จะไหว้ใครสักคนก็น่าจะมีความรู้เสมอกัน” พูดแบบนี้จะเป็นเพื่อนกันมานานเท่าใดก็ขาดกันได้วันนั้นแหละครับ ไม่เชื่อก็ลองทำดู
แต่ในสังคมเดียวกัน ภาพของคนอายุมากไหว้คนอายุน้อยก็ได้เห็นกันบ่อย ๆ จริง ๆ นะครับ ผมเป็นคนโบราณเคยถูกสอนผิด ๆ ว่า “อย่าให้คนอายุมากกว่าไหว้นะ จะอายุสั้น” เวลาเจอะเจอใครที่ไม่แน่ใจว่าเขาอายุมากกว่าหรือน้อยกว่า เพื่อความปลอดภัยผมมักจะยกมือไหว้ไว้ก่อน ให้เขาเป็นฝ่ายต้องรับผิดชอบเรื่องอายุจะสั้นหรือยาว
มากระอักกระอ่วนตอนมาเริ่มอาชีพเป็นอาจารย์ ผมเป็น “สอนราม” รุ่นแรกเลยละครับ ยังหนุ่มฟ้อแม้จะไม่หล่อเฟี้ยวก็เถอะ ตอนนั้นอายุยังอีกหลายปีถึงจะขึ้นด้วยเลขสาม แต่ “ศิษย์ราม” รุ่นหนึ่งนี่มีคนอายุมากเข้าเรียนเป็นหมื่นทีเดียว
พวกศิษย์อาวุโสพวกนี้ไม่รู้สังขารตัวเองกันก็แยะ
บางคนมาติดต่อกับเรา พอเข้ามาพบเราก็เริ่มด้วยการยกมือไหว้ ทั้ง ๆ ที่หน้าตาท่าทางบอกชัดว่าเขาอายุมากกว่าเราแน่ ๆ เล่นเอาเราสดุ้งคิดในใจว่า “อายุสั้นแล้วละกู” พอเขาโผล่มาจะร้องห้ามไปก่อนว่า “ไม่ต้องไหว้ผมนะครับ” ก็ไม่กล้าเพราะไม่รู้ท่าทีของเขา เกิดห้ามเขาแล้วเขาย้อนกลับมาว่า “ผมก็ไม่เคยคิดจะไหว้” ก็เสียหน้าเสียตาซี
วิธีแก้เกมของผมเพื่อช่วยประคองอายุให้ยืนยาวก็คือ ใครที่อายุมากกว่าเราไหว้เรา พอทำกิจธุระกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมก็จะบอกเขาตรง ๆ ว่า “ไม่ต้องไหว้ผมนะครับ ผมอายุน้อยกว่าคุณ” ซึ่งก็ได้ผลเขาจากไปโดยไม่ยกมือไหว้อีก แต่มีอยู่รายหนึ่งเขากลับสอนวัฒนธรรมผมโดยบอกว่า “ผมไม่ได้ไหว้คุณ ผมไหว้อาจารย์ คนอย่างคุณถ้าไม่ได้เป็นอาจารย์ ผมก็ไม่ไหว้ แต่ถ้าคุณเป็นอาจารย์อย่าห้ามผมไหว้ เพราะใครผ่านไปผ่านมาเห็นผมไม่ไหว้อาจารย์ เขาจะหาว่าผมไม่มีสัมมาคารวะ ไม่รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่”
ได้ยินดังนั้นผมก็เกิดอาการฟ้าแจ้งจางปางเลยละครับ คนเราไม่ได้ไหว้คนสูงอายุเท่านั้นเราไหว้คนมีตำแหน่งด้วย นี่แหละที่มาของคำว่า “ผู้หลัก” ตำแหน่งต่าง ๆ คือหลักของที่ทำงาน “ผู้หลัก”หมายถึงผู้มีตำแหน่ง เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครคนนั้นจะมีอายุน้อยหรืออ่อนอาวุโสขนาดไหนมองอย่างไรก็เป็น “ผู้ใหญ่”ไม่ได้ แต่ถ้าถูกตั้งให้มีตำแหน่งก็จะกลายเป็น “ผู้หลัก” สมควรแก่การที่ผู้ไร้ตำแหน่งทั้งหลายให้การเคารพนบไหว้
แต่ถ้า “ผู้หลัก”พบกัน ท่านว่าใครที่หลักเล็กกว่าสมควรจะทำการคารวะผู้ที่หลักใหญ่กว่า เช่นปลัดกระทรวงอายุ ๕๐ กว่า ๆ เจอกับนายกรัฐมนตรีอายุไม่ถึง ๕๐ คงไม่ต้องบอกนะครับใครจะต้องยกมือไหว้ก่อน ถ้าคนเป็นปลัดกระทรวงมือไม่ไวละก็ อันตรายครับ อาจจะทำให้อีกฝ่ายมองว่ากระด้างกระเดื่อง ทำให้หลักที่ท่านเป็นอยู่เกิดอาการสะท้านสะเทือนขึ้นมาได้ เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องเตือนกันนะครับ
เพราะฉะนั้นใคร ๆ ที่อายุยังน้อยแต่ศักยภาพสูง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบริหาร ท่านจะกลายเป็น “ผู้หลัก” ที่ผู้น้อยยกมือไหว้ทันที อย่ารูสึกไม่สบายใจที่โดนคนแก่กว่าทำความเคารพ เป็นเรื่องของวัฒนธรรม “ผู้กลักผู้ใหญ่”ครับ อย่าคิดมาก ไม่ใช่โดนไหว้แล้วรีบส่องกระจกทันทีเพื่อดูว่า “ตูแก่แล้วหรือนี่” เขาไหว้เราในฐานะ “ผู้หลัก” ไม่ใช่ในฐานะ “ผู้ใหญ่”หรอกจะบอกให้ เตรียมท่ารับไหว้ให้ดูงามดูสง่าก็แล้วกัน
เมื่อได้รับการยกย่องให้เป็น “ผู้หลัก” แล้วก็โปรดประพฤติตนให้สมกับตำแหน่งด้วย นั่นก็คือต้องมีหลักในการบริหาร โดยใช้เหตุผลเป็นหลัก การบริหารคนต้องมีเหตุมีผล สามารถตอบข้อสงสัยข้องใจของลูกน้องที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่หรือใช้อำนาจของเรา แล้วยิ่งเดี๋ยวนี้คนกล้าหาญขึ้นกล้าเป็นโจทย์กับเจ้านาย ผู้หลักจึงควรมีคำตอบสำหรับผู้ที่กังขา
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราย้ายลูกน้องคนหนึ่งที่เคยนั่งทำงานอยู่แนวหลังท้ายห้อง จับเขามาเป็นกองหน้านั่งเคาท์เตอร์รับลูกค้า ทำให้เขาไม่พอใจบุกเข้ามาถามหัวหน้าว่า “ผมทำงานไม่ยุ่งกับใครก็สบายดีอยู่แล้ว ย้ายผมมาทำไม ปวดหัวกับลูกค้าวัน ๆ เพียบเลย” ถ้าเราตอบว่า “นั่นนะซี ไม่รู้อะไรดลใจผม ผมทำอะไรลงไปนี่” ตอบแบบนี้ลูกน้องก็คงจะหมดความนับถือลูกพี่ ว่าไหมครับ
หรือถ้าเราตอบว่า “อ๋อ ย้ายเพื่อความเหมาะสมน๊ะ ไม่มีอะไรหรอก” เขาก็อาจจะรุกว่า “เหมาะสมกับอะไรหรือครับ” เราก็อธิบายต่อไปว่า “เหมาะสมกับนโยบายไงครับ” ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะโดนรุกอีกครั้งว่า “นโยบายอะไรหรือครับ” แล้วเราก็ตอบหน้าตาเฉยว่า “นโยบายความเหมาะสม เข้าใจไหม” การตอบแบบวนไปวนมาตอบแบบไม่ตอบอย่างนี้ เขาก็คงคิดว่าเราเป็นนักการเมืองมากกว่าเป็นนักบริหาร จริงไหมครับ
ความจริงแล้ว การที่”ผู้หลัก”หรือหัวหน้าจะโยกย้ายหรือเปลี่ยนหน้าที่ลูกน้องก็น่าจะมีเหตุผลก็อธิบายไปซีครับ “อ๋อ ที่ผมย้ายคุณ เพราะก่อนหน้านี้คุณนางฟ้าทำหน้าที่อยู่ เธอสวยน่ารัก คนก็แห่มาจีบเต็มเคาท์เตอร์ ลูกค้าบ่นพรึมเข้าติดต่ออะไรไม่ได้เลย ผมเลยย้ายคุณนางฟ้าออก หาอยู่ตั้งนานจึงเห็นคุณ ในแผนกเราไม่มีใครอัปลักษณ์เท่าคุณ เอาคุณมานั่งแทนนี่ใครเห็นเข้า ถ้าไม่จำเป็นคงไม่เข้ามาเกาะเคาท์เตอร์แน่ ๆ”
แต่นั่นแหละตอบแบบนี้แม้จะชัดเจนแต่คนฟังคงไม่สบอารมณ์แน่ เขาอาจจะสวนกลับว่า “ผมเข้าใจแล้วครับ แต่ผมขอเตะหัวหน้าสักครั้งก่อนลาออก” เป็นอย่างนั้นไป เพราะฉะนั้นหัวหน้าแม้จะต้องจริงจังตรงไปตรงมากับลูกน้องแต่อย่าตรงเป็น “ขวานผ่าซาก” เพราะไม่มีใครชอบเป็นซากให้ขวานผ่า รู้ไว้ด้วย
ในทางศาสนาเราอาจจะถูกสอนให้รับว่า “ความจริงคือสิ่งไม่ตาย” แต่ก็เตือนไปว่าการพูดความจริงต้องดูกาลเทศะด้วย นั้นก็คือ เหมาะกับคนฟังไหม หรือเหมาะกับเวลาที่จะเปิดเผยหรือเปล่า ดังนั้นแม้หลักศาสนาจะห้ามการพูดโกหกแต่ก็ไม่จำเป็นต้องพูดความจริงทั้งหมด อาจจะพูดเพียงบางส่วนก็ได้
“ผู้หลัก” จึงควรจะเป็นผู้ที่รู้จักพูด รู้ว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด อย่างในกรณีย์ข้างต้นหากเราตอบแบบข้อความข้างล่าง เหตุการณ์อาจจะผ่านไปด้วยดี ลองเชื่อผมหน่อยเถอะ
“อ๋อ เมื่อก่อนคุณนางฟ้านั่ง มีปัญหาเยอะ คนแห่มาจีบเธอเต็มไปหมด ผมเลยต้องหาคนที่บุคลิกภาพทำให้คนเกรงใจไม่เข้าหาง่าย มองไปมองมาในแผนกเรา มีคุณเท่านั้นที่มีคุณสมบัตินี่ ยังไง ๆ ก็ขอร้องช่วยแก้ปัญหาให้แผนกเราด้วย ผมไม่เห็นใคร นอกจากคุณ”