บทบาทของจีนในเวทีโลกและผลกระทบต่อภูมิภาคและไทย
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
แม้ประเทศจีนจะมีปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงจากค่าเฉลี่ย 10% ตลอดช่วง 2 ทศวรรษจนถึง 3-4 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีนค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7% โดยในปีนี้ IMF ถึงกับวิเคราะห์ว่า จะเหลือ 6.8% และปีหน้าจะเหลือ 6.5% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะมีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอัตาการเติบโตที่ชะลอตัวลง หนี้สาธารณะและหนี้ของสถาบันการเงินรวมแล้วเท่ากับ 260% ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ความจริงประเทศจีนขณะนี้ถูกจัดกลุ่มเป็นประเทศรายได้ระดับกลาง) อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์และ shadow banking อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนในอีกด้านหนึ่งของเหรียญก็ได้พยายามขยายบทบาททั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจทั้งในภูมิภาคและระดับโลกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับฐานะของประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
ในทางการเมือง จีนได้เพิ่มบทบาททางด้านทหารด้วยการใช้งบประมาณเพิ่มในอัตราที่สูงติดต่อกันหลายปี ถ้าเทียบกับงบประมาณประจำปีด้านอาวุธและทหาร ถือว่า จีนมีการใช้จ่ายในด้านนี้สูงเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย อีกทั้งจีนยังได้มีการเพิ่มอาวุธที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น เรือดำน้ำที่มีขีปนาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนการพัฒนาด้านอวกาศ
ในด้านเศรษฐกิจจีนได้ขยายอิทธิพลโดยให้ความช่วยเหลือกับประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแอฟริกา ละตินอเมริกา อาเซียนและอื่น ๆ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ จีนได้มีการวางหมากรุกทางการเมืองอันใหม่เพื่อเพิ่มบทบาทของตนในทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคและของโลก โดยนโยบายดังกล่าวประกอบด้วย
1. ส่งเสริมความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ในระดับภูมิภาคคือ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม Asean+3 และ +6 และขยายผลสู่ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) และเป้าหมายในอนาคตอีก 10 ปี ก็คือ การพัฒนา RCEP สู่ประชาคมเศรษฐกิจเอเชีย และที่ไกลกว่านั้นคือ สนับสนุน APEC ไปสู่ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก) สำหรับในระดับอนุภูมิภาคคือ ส่งเสริมการเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS (Greater Mekong Subregion) เพื่อเชื่อมโยงด้านขนส่ง สาธารณูประโภค การค้าการลงทุนในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนสินค้าจากจีนแล้วยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านการเมืองอีกด้วย
2. ในปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้เสนอให้จัดตั้งองค์กรทางการเงินใหม่ 2 องค์กร ได้แก่ AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) และ BRICS Bank ทั้งนี้ AIIB ก็คือ การจัดตั้งในลักษณะเหมือนกับธนาคารโลก คือทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่ต้องการมากในภูมิภาคเอเชีย แต่สิ่งที่จีนต้องการมากกว่านั้นก็คือ การสร้างองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายต่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจของจีน เหมือนกับที่ธนาคารโลกเป็นเครื่องมือของอเมริกา และ ADB เป็นเครื่องมือของญี่ปุ่น การจัดตั้ง AIIB ยังมีส่วนในการแบ่งแยกยุโรปตะวันตกและประเทศอื่น ๆ จากอเมริกา ดังจะเห็นได้ว่าเริ่มจากอังกฤษที่สมัครเป็นสมาชิกและตามมาด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่อเมริกาพยายามห้ามปราม อีกองค์กรคือ BRICS Bank ที่เปรียบเหมือน IMF ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมสภาพคล่องของประเทศสมาชิกเหมือนหน้าที่ของ IMF
3. ประเทศจีนได้มีการจัดตั้งการประชุมที่เรียกว่า Boao Forum ซึ่งถือเป็นการประชุมประจำปีของเอเชียซึ่งเป็นคู่แข่งกับ World Economic Forum ที่เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างนักธุรกิจ นักการเมือง นักวิชาการ และผู้บริหารองค์กรที่สำคัญของโลกเพื่อมาพบปะ ประชุม ถกปัญหา เสนอทางแก้ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่ง Boao Forum เปรียบเสมือนเวทีคู่แข่งของ World Economic Forum ในภาคพื้นเอเชียนั่นเอง และในขณะนี้ก็ทำการประชุมโดยเน้นประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย
ประเทศจีนในวันนี้กำลังดำเนินนโยบายต่างประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดังนั้นผู้ดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศโดยเฉพาะของไทยจึงต้องมีความสามารถในการประเมินจิ๊กซอว์ทางการเมืองและสามารถประเมินทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ล่วงหน้า ก่อนที่จะเจอปัญหาเมื่อมันเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วดังที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้