“สอนเขาให้รู้ แล้วคอยดูผลผลิต”
ดร.พนม ปีย์เจริญ
Ph.D. Innovative Management
ระยะนี้มีเสียงก่นด่า นินทา ดูถูก ตั้งแง่รังเกียจ นักท่องเที่ยวชาวจีนกันอย่างหนาหู ทั้งในโลกโซเชี่ยลเน็ทเวิร์คและในสื่อต่างๆ มีทั้งคลิปภาพข่าว และเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรง ถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีน ว่าเสียงดัง เอะอะโวยวาย สูบบุหรี่จัด ทิ้งขยะไม่เลือกที่ ทำห้องน้ำสกปรก ไร้ระเบียบวินัย ไม่มีวัฒนธรรม ไม่เข้าคิว ไม่ให้ความเคารพสถานที่ หยาบคาย ทำร้ายคุกคามผู้อื่น และอีกสารพัดเรื่อง จนหลายครั้งลุกลามกลายเป็นกระแสความขัดแย้งระหว่างชนชาติ ระหว่างนักท่องเที่ยวชาวจีนกับเจ้าของประเทศที่นักท่องเที่ยวจีนไปเยือน
จนนักท่องท่องเที่ยวจีน ถูกกระแสโลกSocial และกระแสสังคม ต่อต้าน ตั้งแง่รังเกียจ มองว่าเป็นตัวปัญหาและทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวของสถานที่นั้นๆ เวลาไปเที่ยวที่ไหนแล้วพบเจอนักท่องเที่ยวจีน จะรู้สึกตกใจ จนเลยไปถึงความหวาดวิตก
– เกรงจะต้องนั่งเครื่องบินลำเดียวกับนักท่องเที่ยวชาวจีน
– เกรงจะต้องกินอาหารร้านเดียวกันกับนักท่องเที่ยวชาวจีน
– เกรงจะต้องพักโรงแรมเดียวกันกับนักท่องเที่ยวชาวจีน
– เกรงจะต้องไปเที่ยวสถานที่เดียวกับชาวจีน ฯลฯ
จนบางครั้งเลยเถิดไปถึง เกรงกลัวจะต้องใช้ห้องน้ำต่อจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนทั้งที่นักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่ มิได้มีพฤติกรรมที่น่าเกรงกลัวเช่นนั้นทั้งหมด แต่เป็นแค่นักท่องเที่ยวชาวจีนบางคน บางพวก บางกลุ่มเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า โลกแห่งความจริงในขณะนี้ชาวจีนเริ่มมีความมั่งคั่ง ร่ำรวยขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะไปท่องเที่ยวประเทศไหน ก็หาหลีกพ้นที่จะไม่ให้พบเจอนักท่องเที่ยวชาวจีนได้ไม่ ไม่ว่าจะหลบลี้หนีไปเที่ยว ณ มุมไหนของโลก ก็ต้องพบนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ร้านค้าสินค้าแบรนด์เนมดิวตี้ฟรีทุกแห่ง เราจะพบแต่นักช็อปปิ้งชาวจีน มองเข้าไปในร้านรวงแบรนด์ดังๆ เห็นแต่หัวดำๆของนักท่องเที่ยวชาวจีน แทบจะหาหัวสีทองของฝรั่งแทบไม่เจอ เพราะชั้วโมงนี้ นักท่องเที่ยวจีนคือเศรษฐีตัวจริง ไม่ใช่ฝรั่งมังค่าอีกต่อไป
ผมอยากให้พวกเราทำใจกว้างๆยอมรับความเป็นมนุษย์ที่สามารถฝึกฝนได้ และยอมรับว่าเราเองในบางคน บางกลุ่ม บางพวก ก็เคยมีพฤติกรรมเฉกเช่นนักท่องเที่ยวชาวจีนมาก่อนนี้ เมื่อสมัยที่เรายังเรียนรู้ในการเดินทางท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ เราก็เคยทำอะไรที่ผิดพลาดมาก่อน แม้จะไม่มากเท่า แต่เราก็เคยประพฤติปฏิบัตินอกกฎระเบียบมาบ้าง แต่เราก็ให้โอกาสตัวเรา ในการเรียนรู้ว่าเราควรจะปรับตัวอย่างไรในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงใบนี้ได้
ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่าเม็ดเงินที่เป็นรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับต้นๆในขณะนี้ ก็คือเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทยมากที่สุดในขณะนี้ก็คือนักท่องเที่ยวชาวจีน
เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเหล่านั้นก็คือ”ลูกค้า”
ท่านยังจำประโยคที่พูดถึงลูกค้าเหล่านี้ได้หรือไม่
“Customer is the King”หรือ”Customer is the God”
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เรามาหาทางออกหรือหาหนทางเพื่อรักษาลูกค้าคนสำคัญเหล่านั้นไว้แทนการตั้งข้อรังเกียจพวกเขาดีไหมครับเพราะถ้าเรารังเกียจเขา ต่อต้านไม่ให้เขามาเที่ยวประเทศเรา เขามีเงินเขาจะไปเที่ยวประเทศไหนในโลกนี้ก็ย่อมทำได้
ดังนั้นเรามาเริ่มสอนคนที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เพื่อให้ลูกค้าของเราได้มีโอกาสค่อยๆเรียนรู้และปรับตัวในโลกต่างวัฒนธรรมกันก่อนดีไหมครับ
1.สอนคนของเรา…ให้เข้าใจผู้คนต่างวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างความเข้าใจ ต่างการหล่อหลอมเลี้ยงดู ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศของเรา และเปิดโอกาสให้เวลาเขาปรับตัวเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เรียนรู้โลกต่างวัฒนธรรมแทนการขับไล่ไสส่งลูกค้าที่มีกำลังซื้อเหล่านี้ไป และมัวแต่ไปต้อนรับขับสู้กับลูกค้าที่มีวัฒนธรรมแสนดีเลิศประเสริฐมนุษย์แต่กระเป๋าแห้ง ไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศเรา
2.อบรมมัคคุเทศก์หรือไกด์ ทั้งไกด์ชาวไทย และไกด์ชาวจีน ที่นำลูกทัวร์มาท่องเที่ยวบ้านเมืองของเรา สอนให้รู้จักวิธีสอนและให้ความรู้แก่ลูกทัวร์ชาวจีนและชาติอื่นๆของเขา ได้เรียนรู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเรา ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรถูก อะไรไม่ถูก อะไรดี อะไรไม่ดี ค่อยๆสอน ค่อยๆทำความเข้าใจกับเขาไปเรื่อยๆ ปัญหาต่างๆก็จะค่อยๆคลี่คลายไปเอง
แต่มีข้อแม้ว่าต้องสร้างกระบวนการสอนไกด์ทั้งสองประเทศ คือไกด์ชาวไทยและไกด์ชาวต่างชาติที่นำลูกทัวร์มา ให้สามารถใช้จิตวิทยาในการสอนให้ความรู้ ตลอดจนมีวิธีการสอนและกระบวนการถ่ายทอดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนต้องมีรางวัลและบทลงโทษไกด์ที่ไม่ปฏิบัติตามหรือไม่ให้ความร่วมมือ ไปพร้อมๆกันด้วย
3.สอนให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาติอื่นๆ ให้เขารู้ซึ้งถึงศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามระหว่างกัน การได้รับการยอมรับนับถือระหว่างกัน เพื่อให้เขารู้สึกและซึมซับได้ว่า…การประพฤติปฏิบัติที่ดีของเขา ย่อมได้รับการยอมรับและปฏิบัติดีจากเราเช่นเดียวกัน
4.โหมประชาสัมพันธ์ ในรูปแบบต่างๆให้หนักขึ้น มีความถี่มากขึ้น สร้างกระบวนการสื่อสารสู่ผู้บริโภคในรูปแบบที่เข้าลึก เข้าใจ เข้าถึง อันเป็นการสอนให้เขาได้รับรู้และเรียนรู้โลกต่างวัฒนธรรม
กล่าวโดยสรุปก็คือ มองหาโอกาสจากปัญหาที่เกิดขึ้น ว่าแท้จริงแล้วมันคือโอกาสต่างหาก ไม่ใช่อุปสรรค จากนั้นสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งก็คือผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างได้รับ ซึ่งดีกว่าต่างฝ่ายต่างสูญเสีย เพราะมัวแต่มองหาข้อรังเกียจแทนการหาทางออกที่สร้างสรรค์
“เพราะมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ฝึกฝนและพัฒนาได้”
สอนให้เขารู้ในสิ่งที่ควรรู้ก่อน แล้วเราจะเป็นผู้ได้รับเมื่อถึงเวลานั้น