หนี้ครัวเรือนชะลอลง เนื่องจากหนี้สินส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงทำให้ลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินและระบบการเงินไทยได้บางส่วน โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเครดิตที่ค่อนข้างระมัดระวังของสถาบันการเงินที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถาบันการเงินต้องเร่งดูแลอย่างใกล้ชิด
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยประจำไตรมาส 1/2558 พบว่ามีจำนวนรวม 10.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ออมทรัพย์ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2558 ต่อเนื่องถึงท้ายปียังมีทิศทางขาขึ้น ท่ามกลางความต้องการสินเชื่อจากครัวเรือนหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนระดับกลางขึ้นไปที่ยังคงต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ต่อมาคือครัวเรือนระดับกลางถึงล่างที่พึ่งสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งถือเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงแล้วเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน ดังนั้นถึงแม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ต้องยอมรับว่ายังมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ ที่ช่วยบรรเทาความกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพรวมได้ นั่นก็คือ ประการแรกครัวเรือนไทยยังคงมีจุดแข็งด้านสินทรัพย์ เนื่องจากครัวเรือนกว่าร้อยละ 90 เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และประการที่ 2 หนี้สินครัวเรือนสะสมร้อยละ 46.8 ต่อจีดีพี เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งช่วยปิดความเสี่ยงให้กับระบบการเงินไทยได้ส่วนหนึ่ง เมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศทางไปจากปัจจุบัน สถานการณ์การออมภาคครัวเรือนที่ยังคงน่ากังวล อันสะท้อนจากระดับการออมภาคครัวเรือนต่อจีดีพีที่ถดถอยลงจากอดีต ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นโจทย์ที่สำคัญของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานะทางการเงินของครัวเรือนไทยในระยะยาวให้ได้
นอกจากนี้ ถ้าหากเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (ซึ่งมีการปรับวิธีการคำนวณใหม่) แล้ว หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ในระดับร้อยละ 79.9 ต่อจีดีพี ขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับร้อยละ 79.7 ณ สิ้นปี 2557 โดยการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/2558 คาดว่าเป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีทิศทางชะลอลงหรือค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ถ้าหากแบ่งตามประเภทสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ยังเป็นแหล่งกู้ยืมเงินหลักของภาคครัวเรือน รองลงมาคืน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสหกรณ์ออมทรัพย์ตามลำดับ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มีมุมมองต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องในไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ในเรื่องหนี้ครัวเรือน ที่นับว่ายังมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2558 ต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2558 ท่ามกลางความต้องการสินเชื่อจากครัวเรือนหลายระดับ ถึงแม้จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อใหม่จากธนาคารพาณิชย์มากขึ้น แต่ด้วยนโยบายสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของภาครัฐผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ก็น่าจะช่วยผลักดันสินเชื่อให้ประคองการอุปโภคบริโภคและการทำธุรกิจของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวได้ ขณะที่ สินเชื่อเพื่อธุรกิจนาโนไฟแนนซ์คงมีบทบาทในการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กย่อมบ้าง แต่ผลต่อการขับเคลื่อนหนี้ครัวเรือนสะสมน่าจะยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเป็นระยะแรกของการให้บริการสินเชื่อประเภทดังกล่าว
ทั้งนี้จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ระดับหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2558 คงขยับขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 80.5 – 80.7 ต่อจีดีพี หรือขยายตัวร้อยละ 6.0 – 6.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2558 ส่วนสิ้นปี 2558 หนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นแตะระดับร้อยละ 81.5 ต่อจีดีพี (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 81.0 – 82.0 ต่อจีดีพี) อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลข้างต้น ถือเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลง ซึ่งสถาบันการเงินควรเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย
ส่วนสำหรับกลุ่มสินเชื่อเพื่ออุปโภคและบริโภคอย่างสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต มีการปรับระบบการอนุมัติสินเชื่อใหม่ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งยังมีการออกมาตรการเพื่อสร้างวินัยทางการเงินและจำกัดการเบิกใช้สินเชื่อในกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง เช่น การจำกัดวงเงินกดเงินสดล่วงหน้าและการพิจารณาเข้มขึ้นเมื่อมีการขอวงเงินเพิ่ม เป็นต้น ส่วนการพิจารณาให้สินเชื่อก้อนใหญ่อย่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งแม้ว่าจะมียอดการปฏิเสธสินเชื่อที่ต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ เพราะลูกค้าที่ขอสินเชื่อมีความพร้อมสูงกว่า แต่ธนาคารพาณิชย์ยังคงพิจารณาเครดิตด้วยการอาศัยประวัติเครดิตที่ค่อนข้างดี ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่นภาระหนี้จ่ายต่อรายได้รวม พฤติกรรมการผ่อนดาวน์ รวมทั้งลักษณะโครงการที่อยู่อาศัยและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมด้วย ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ราคารถยนต์มือสองที่ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ยังคงช่วยคลายความกังวลต่อปัญหาการทิ้งรถที่วกกลับมาเป็นปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการลดดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการช่วยเหลือลูกค้านั้น ยังมีผลช่วยลดภาระให้กับครัวเรือนกลุ่มเสี่ยงได้บางส่วน
ฉะนั้นองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ ที่ช่วยบรรเทาความกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพรวม ได้แก่ 1. ครัวเรือนไทยยังคงมีจุดแข็งด้านสินทรัพย์ เนื่องจากครัวเรือนกว่าร้อยละ 90 เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งมีสัดส่วนเจ้าของที่อยู่อาศัยที่ราวร้อยละ 50 – 60 เท่านั้น ซึ่งสะท้อนว่าหนี้สินภาคครัวเรือนไทยจะขยับขึ้นต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อซื้อบ้านและที่อยู่อาศัยซึ่งเพิ่มสินทรัพย์ถาวรให้กับครัวเรือน อันช่วยบรรเทาความกังวลต่อภาวะเปราะบางของภาคครัวเรือนไปได้ส่วนหนึ่ง และ 2. หนี้สินครัวเรือนสะสมกว่าครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยกว่าร้อยละ 21.2 ต่อจีดีพี เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่หนี้เพื่อเช่าซื้อรถยนต์ และหนี้เพื่อทำธุรกิจ มีสัดส่วนเท่ากันที่ราวร้อยละ 12.8 รวมเป็นร้อยละ 46.8 ต่อจีดีพี ซึ่งถือเป็นหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำของสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยปิดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินและระบบการเงินไทยไปได้ส่วนหนึ่ง
จากปัญหาทั้งหมด หนี้ครัวเรือนที่เติบโตชะลอลง ควบคู่กับจุดแข็งด้านสินทรัพย์ของครัวเรือนไทยจากการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และหนี้สินส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คงมีส่วนช่วยปิดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินและระบบการเงินไทยได้บางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายเครดิตที่ค่อนข้างระมัดระวังของสถาบันการเงินที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ และในระยะถัดไปเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศทางไป เพราะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่งั้นอาจย้ำความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทยได้