3 ปัจจัย สร้างกำไรตลอดกาล


                                 3 ปัจจัย สร้างกำไรตลอดกาล

วีรยุทธ เชื้อไทย

 

        เมื่อปัจจัยการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป ผลมาจากการเปิดเสรีการลงทุน ทำให้ทุนต่างประเทศเข้ามาแข่งขันในตลาดกันมากมาย ที่เห็นกันเกลื่อนกลาดทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ถ้าเป็นรายใหญ่ก็จะเห็นว่าห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ล้วนเป็นทุนต่างประเทศเกือบทั้งสิ้น ส่วนรายเล็กๆ เดี๋ยวนี้นักธุรกิจรายย่อยญี่ปุ่นบุกมาเปิดร้านราเมงกันในห้างสรรพสินค้ามากมาย ยังไม่นับที่บุกเข้ามาขายปลีกแบบยกโหลอย่าง ไดโซ ทุกอย่าง 60 บาท

        แน่นอนสถานการณ์นี้ SME ต้องได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งยังปัญหากำลังซื้อลด คนเดินชมมากกว่าคนเดินซื้อ สังเกตปรากฏการณ์นี้ง่ายๆ จากหน้าร้านในห้างทุกร้านล้วนติดป้าย Sale กันพร้อมหน้าพร้อมตา และนี่คือสัญญาณให้เรารู้ว่า “สงครามราคา” เริ่มแล้ว SME หลายรายประสบหายนะจากการลดราคามาหลายต่อหลายราย เพราะไม่เข้าใจว่าการลดราคาของรายใหญ่มักทำควบคู่ไปกับการ “ลดต้นทุน” เสมอเป็นกฎตายตัว

       นอกจากนี้การลดราคายังมาพร้อมกับการลดปริมาณการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ทำกำไรน้อย แต่เพิ่มการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ทำกำไรมาก บริษัทใหญ่ๆ มักใช้กลยุทธ์ลดราคานี้ หลอกให้รายเล็กลดราคาตาม ในที่สุดรายเล็กก็ก้าวเข้าไปติดกับดักแห่งหายนะของกิจการ เห็นไหมครับว่าเรื่องง่ายๆ ที่เราเห็น แต่อาจเป็นเรื่องยากที่เราจะเข้าใจและอาจเป็นภัยร้ายให้กับธุรกิจของเราได้

3 วิธี “การสร้างกำไร” จึงเป็นคำตอบสำหรับการต่อสู้ในสงครามธุรกิจ

       วิธีที่ 1 รู้จักบริหารศักยภาพ การทำธุรกิจสมัยใหม่ เจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารจำเป็นต้องรอบรู้ และต้องมีที่ปรึกษาที่ดี อย่างน้อยควรมีที่ปรึกษาทางการตลาดคอยให้คำแนะนำปรึกษา เพื่อให้ได้มุมมองที่แข่งขันได้ รู้ว่าจัดการอย่างไรกับการบริหารต้นทุนต้องลดต้องปรับขององค์กร

       หรือเพียงแค่ลดต้นทุนด้านเวลา ต้องรู้ว่าทรัพยากรมีขีดความสามารถในการแข่งขันขนาดไหน สินค้าตัวไหนแข่งขันในตลาดได้ แบรนด์มีความสามารถดึงดูดใจลูกค้า คนมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน เพราะทั้งหมดคือ การบริหารศักยภาพของกิจการ เพื่อให้มีต้นทุนต่ำและแข่งขันได้

       ตัวอย่าง ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากญี่ปุ่นที่มาเปิดกิจการในห้างสรรพสินค้าของไทยขณะนี้อย่างใหญ่โต หลังจากธุรกิจก้าวเข้าสู่การเป็นที่รู้จักแบรนด์มากขึ้น กลับกลายเป็นการเข้าสู่จุดอิ่มตัวด้านการตลาด ยอดขายหยุดเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจใช้จุดแข็ง คือการออกแบบที่ตรงใจผู้บริโภคเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ แต่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่า ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมาก และกลับมามีกำไรต่อเนื่อง จนสามารถขยายสาขาเข้ามาในภูมิภาคอื่นได้

       ที่สำคัญเมื่อสามารถบริหารศักยภาพได้แล้ว กลยุทธ์ราคาจะกลายเป็นการสร้างกำไรอย่างมหาศาลให้กับบริษัทในระยะยาว

       วิธีที่ 2 รู้จักบริหารกำไร แน่นอนทุกกิจการต้องการกำไรเพื่อหล่อเลี้ยงกิจการ แต่จะมี SME สักกี่รายที่รับรู้รายได้ของตนเองอย่างครบถ้วน เช่น ปัจจุบันกิจการทำกำไรอยู่เท่าไหร่ หรือในอีก 3 เดือนข้างหน้าองค์กรจะมีกำไรหรือติดลบเป็นจำนวนเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้ผู้บริหารองค์กรควรต้องทราบแบบชนิดไม่ต้องเปิดเอกสาร

        การจะทำเช่นนี้ได้จะต้องสร้างระบบบริหารข้อมูลภายในองค์กร ทั้งข้อมูลในรูปของตัวเลขรายได้ ข้อมูลที่พนักงานขายติดต่อกับลูกค้าโดยตรง รายงานความต้องการลูกค้า ข้อมูลเหล่านี้สำคัญมากต่อการบริหารกำไร เพราะผู้บริหารจะเข้าใจพฤติกรรมความต้องการด้านต่างๆ ของลูกค้า

        ตัวอย่าง ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ซึ่งบริหารสินค้าจำนวนมากในร้านเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการใช้บริการร้านสะดวกซื้อให้กับผู้บริโภค ซึ่งร้านจะมีกำไรจากสินค้าต่อหน่วยในปริมาณน้อยมาก หากบริหารจัดการกำไรไม่ดี ก็จะทำให้ธุรกิจขาดทุนในที่สุด

        ปัจจุบันร้านสะดวกซื้อจะมีสินค้าที่ขายเร็วมากที่สุดในกลุ่มอาหารเครื่องดื่ม และขนม หากสังเกตการจัดการภายในร้านจะพบว่า สินค้ากลุ่มนี้มักอยู่ในตำแหน่งที่ลูกค้าเห็นง่าย หยิบง่าย และพนักงานสามารถ Plus Sale ได้ เช่น ซาลาเปา ไส้กรอก เป็นต้น

        วิธีที่ 3 รู้จักบริหารโอกาส เพราะโอกาสมักผ่านเข้ามาในชีวิตเราเสมอ แต่หลายคนกลับมองโอกาสอย่างเย็นชาเสมือนว่ามันเป็นแค่สิ่งที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไปไร้ความหมาย ถ้าคุณคิดเช่นนี้ คุณคงขาดคุณสมบัติข้อแรกในการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะธุรกิจย่อมต้องการ “โอกาส” เสมอ และโอกาสเกิดขึ้นพร้อมกับคนใหม่ๆ ที่คุณได้รู้จัก

         องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่คุณได้เรียนรู้ หรือกิจกรรมใหม่ๆ ที่คุณได้เข้าร่วม ทุกๆ นาที โอกาสเหล่านี้ผ่านเข้ามาในชีวิตคุณตลอดเวลา เพียงแค่คุณสังเกต คิด และจดบันทึก คุณก็มีสิทธิ์ที่จะประสบความสำเร็จ เด็กชายในครอบครัวล้มละลายคนหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี ร่ำเรียนด้วยการแบกน้ำผลไม้ไปขายที่โรงเรียน เพราะเห็นเพื่อนๆ มาโรงเรียนตอนเช้าเล่นฟุตบอลแล้วเหนื่อย…เขาเห็นโอกาส

         เมื่อเรียนระดับมัธยมเขามักจะไปขอโอกาสในการเข้าฟังสัมมนาที่จัดตามที่ต่างๆ โดยขอโอกาสเข้าไปเป็นลูกมือช่วยงานผู้จัด ทุกครั้งที่ไปเขาได้เข้าไปทำความรู้จักวิทยากร นี่คือโอกาสและจุดเริ่มต้นความสำเร็จ ปัจจุบันเขาได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่เคยเป็นรุ่นพี่ เป็นครู เป็นวิทยากร ให้การสนับสนุนธุรกิจของเขาจนเขาสามารถเปิดธุรกิจได้ในหลายประเทศทั่วโลก

         และวันนี้เขาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งหมดเพราะเขาไม่เคยปล่อยโอกาสให้ลอยผ่านหน้าไปเฉยๆ นั่นเอง