สร้างธุรกิจใหม่ด้วย “ช่องว่างธุรกิจ” – แบ่งปัน หัวใจ ดั้งเดิม


สร้างธุรกิจใหม่ด้วย “ช่องว่างธุรกิจ” – แบ่งปัน หัวใจ ดั้งเดิม

ดร.พยัต วุฒิรงค์

            

         ทุกวันนี้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเด็กรุ่นใหม่ คนทำงานประจำ และคนที่เกษียณแล้วจำนวนมาก หลายคนอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากมีอิสระในการใช้ชีวิต แต่ไม่รู้จะทำธุรกิจอะไรดี

        พอคิดอะไรไม่ออก ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ ไฟแรง ธุรกิจแรกๆ ที่อยากทำหนีไม่พ้นเปิดร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่เล็กๆ ร้านอาหาร หรือร้านอะไรก็แล้วแต่ที่ดูอินเทรนด์ แต่ถ้าเป็นคนทำงานที่อยากออกมาเป็นผู้ประกอบการ อันนี้จะหลากหลายหน่อย ขึ้นอยู่กับว่าเค้าชอบอะไร ถ้าชอบคอมพิวเตอร์ ก็อาจอยากเปิดร้านเกมส์ ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ ถ้าชอบรถยนต์ ก็เปิดเป็นร้านซ่อมรถเล็กๆ ซึ่งบางครั้งก็เปิดกันจนเต็มเมืองจนทำให้ขายของไม่ได้ราคาหรือขาดทุนกันเลยทีเดียว

       ความจริงเราสามารถสร้างธุรกิจใหม่หรือปรับธุรกิจเดิมของเราให้น่าดึงดูดใจมากขึ้น ลูกค้ามากขึ้น กำไรมากขึ้น แต่ลงทุนน้อยลง โดยใช้ “ช่องว่างธุรกิจ” สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ช่องว่างนี้อยู่ที่การแบ่งปันส่วนเกินที่เรามีอยู่ การเข้าถึงหัวใจและความต้องการลูกค้า การแก้ปัญหาธุรกิจดั้งเดิม

1. การสร้างธุรกิจใหม่ด้วย “ช่องว่างธุรกิจ” โดยการแบ่งปันส่วนเกิน

       คนไทยไปเที่ยวต่างจังหวัดและต่างประเทศมากขึ้น ชาวต่างชาติก็เช่นเดียวกัน หลายคนไปเที่ยวแล้วอยากได้ที่พักติดแหล่งช็อปปิ้ง แหล่งอาหารการกิน ใกล้ภูเขา ใกล้ทะเล มีวิวดีๆ แต่ไม่อยากจ่ายค่าโรงแรมแพงๆ คนประเภทนี้มีเยอะมากครับ “อยากได้ที่พักราคาไม่แพง แต่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวและเดินทางสะดวก”

*** มีความอยาก อยากสะดวก อยากสบาย อยากเที่ยว แต่ ไม่อยากจ่ายแพง ใครจะตอบสนองความอยากนั้นได้ ***

        Airbnb เป็นตัวกลางในการเจอกันของคนที่ต้องการปล่อยห้องพักให้เช่าแบบชั่วคราวกับคนที่มองหาห้องพักแบบชั่วคราวมาไว้ในที่เดียวกัน เรียกว่า ใครต้องการให้เช่าห้องพักหรือบ้านพักก็มาใส่รายละเอียดไว้ที่นี่ ใครอยากเช่าห้องพักหรือบ้านพักก็มาได้ที่นี่ จุดเดียวจบหรือเรียกว่า One Stop Service โดยผู้ให้เช่าสามารถกำหนดระยะเวลาในการปล่อยเช่าและเข้าพักได้ เหมือนระบบการจองโรงแรม แต่นี่คือระบบการจองห้องพักหรือบ้านพักที่เป็นห้องพักส่วนตัว

        ผู้ให้เช่าหรือเจ้าของห้องก็มีความสุข หลายคนมีห้องพักหรือบ้านพักมากกว่า 1 หลัง ไม่อยากขาย ไม่อยากให้เช่ายาวๆ แต่ปล่อยไว้ก็เสียโอกาส การใช้ Airbnb ตอบโจทย์ผู้ให้เช่าหรือเจ้าของอย่างมาก

        ผู้เข้าพักก็มีความสุข ได้ห้องพักตามที่ตัวเองต้องการ ค้นหาที่พักได้ทุกประเทศทั่วโลก ราคา ขนาดห้องพัก อุปกรณ์เครื่องใช้ ทำเลที่ต้องการ แถมคำแนะนำจากคนที่เคยเข้าพักมาแล้ว ปัจจุบันมีคนเช่าจาก 40,000 เมือง 192 ประเทศทั่วโลก เยอะมั้ยครับ นี่แค่ธุรกิจหาห้องพักส่วนตัวนะครับ ไม่ใช่โรงแรม!!! แค่ช่องว่างเล็กๆ ถึงเล็กมาก แต่มีลูกค้าขนาดนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

        ทุกคนรู้ (ว่ามีความอยากแบบนี้) ทุกคนเห็น (ว่าน่าทำ) แต่ไม่ได้ทำ (เพราะนึกไม่ถึงว่าตลาดมันมหาศาลมาก) และทุกวันนี้มีรูปแบบธุรกิจที่เกิดจาก “ช่องว่างธุรกิจ” ที่มาจากการแบ่งปันส่วนเกินอีกมาก

2. การสร้างธุรกิจใหม่ด้วย “ช่องว่างธุรกิจ” โดยการเข้าถึงหัวใจและความต้องการลูกค้า

        หลายคนคงเคยใช้บริการนครชัยแอร์ที่ทำธุรกิจรถโดยสารระหว่างจังหวัดซึ่งมีคู่แข่งขันมากมายทั้งทางตรงคือ บขส. รถตู้ และคู่แข่งขันทางอ้อมเช่น พวกรถไฟหรือเครื่องบินต้นทุนต่ำที่เรียกว่า Low Cost Airline นครชัยแอร์เห็นช่องว่างธุรกิจที่ว่า หลายคนเบื่อที่จะนั่งรถโดยสารแบบเดิมๆ เพราะมันไม่สะดวกสบายเท่าไหร่ พอจะให้ขึ้นเครื่องบินหรือรถไฟ ก็ไม่อยากอีกเพราะกลัวความสูงบ้าง ช้าบ้าง แล้วยังงัยครับ

*** ความต้องการเกิด คนยังอยากนั่งรถโดยสารอยู่ แต่ อยากสบายด้วย ไม่มีใครตอบสนองความต้องการนั้นได้ ***

        นครชัยแอร์จึงเลือกปรับตัวโดยการปิดช่องว่างธุรกิจจากการเข้าถึงหัวใจและความต้องการลูกค้า ยกระดับตัวเองขึ้นไปให้เป็นรถโดยสารชั้น 1 หรือ First Class หลีกหนีจากรถโดยสารทั่วไป และ Low Cost Airline ยกระดับการบริการให้ดีขึ้น มีพนักงานแต่งตัวเหมือนแอร์โอสเตส มีคนขับที่แต่งตัวเหมือนนักบิน มีที่นั่งที่กว้างขวาง มีอาหารอร่อยๆ ให้รับประทาน และมีทีวีประจำทุกที่นั่ง แม้ว่าต้นทุนการให้บริการจะเพิ่มขึ้น แต่ลูกค้ายอมจ่าย คุ้ม เพราะรู้สึกว่าสะดวกสบายในราคาที่พอจ่ายได้ สรุปคือธุรกิจนี้อยู่ได้ มีกำไร และได้ชื่อเสียง

3. การสร้างธุรกิจใหม่ด้วย “ช่องว่างธุรกิจ” จากธุรกิจดั้งเดิม

        ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งที่ต่อเนื่องกันคือ รถแท็กซี่ คนขึ้นแท็กซี่บ้านเราต้องทำใจ โดยเฉพาะคนในกรุงเทพบ่นกันมาหลายปีแล้วว่า เรียกแท็กซี่แล้วไม่ยอมไป เพราะเติมแก๊ซบ้าง ส่งรถบ้าง และอีกสารพัดเหตุผล แล้วยังงัยครับ

*** คนบ่น ปัญหาเกิด ความต้องการมี แต่ ลูกค้าไม่มีทางเลือก อดทนอยู่ ยังไม่มีใครตอบสนองความต้องการนั้น ***

        Uber จึงเปิดตัวแอพพลิเคชันในมือถือที่ใช้เรียกแท็กซี่ โดยผู้ใช้บริการสามารถดูได้ว่าแถวนั้นมีรถ Uber หรือเปล่า ถ้ามีก็เรียกได้เลย มารับแน่นอน ไม่มีปฏิเสธเพราะถ้าปฏิเสธคนขับรถอาจโดยระงับไม่ให้ขับอีก เพราะ Uber เป็นแท็กซี่ที่คนทั่วไปที่มีรถและเอารถตัวเองมาเป็นแท็กซี่ เรียกได้ว่า Uber ไม่ต้องลงทุนกับรถ แต่ไปลงทุนกับระบบที่ทำให้คนยอมจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย

        จุดเริ่มต้นของ Uber มาจากเหตุผลง่ายๆ ฮาๆ นิดเดียวคือ เพื่อนของ Travis Kalanick ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งร่วมและเบอร์ 1 ของ Uber หาแท็กซี่ไม่ได้แล้วมาบ่นให้เค้าฟัง เค้าเลยตัดสินใจทำ Uber ซะเลย เป็นการจับคู่ความต้องการของผู้ใช้กับผู้ให้บริการให้พบกันผ่านทางแอพพลิเคชันในมือถือ โดยเริ่มต้นจากการเป็น Startup ที่มีพนักงานเพียง 4 คนและ 4 คนนั้นเป็นผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมด ขณะนี้ผ่านมา 5 ปี Uber มีคนขับในสังกัดถึงกว่า 1 ล้านคนใน 50 ประเทศทั่วโลก เรียกได้ว่า เติบโตชนิดถล่มทลายจากช่องว่างเล็กๆ ก้าวสู่มูลค่าธุรกิจที่ไม่เล็กตามไปด้วย

        อย่างไรก็ตาม การเปิดธุรกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคใดๆ เพราะ UBER ยังไม่มีกฎหมายรองรับและถูกฟ้องร้องในหลายๆ ประเทศ แต่ปัญหาก็คือปัญหา ต้องแก้ไขกันไป เป็นคนละเรื่องกับการหาช่องว่างและการเริ่มต้นธุรกิจ ถ้าคุณรับความเสี่ยงได้ ก็ทำไป ถ้าคุณรับความเสี่ยงไม่ได้ ก็ต้องหาธุรกิจอื่นที่ไม่เสี่ยงต่อไป

        เรามีธุรกิจและรูปแบบธุรกิจมากมายที่เฉพาะเจาะจงและมีตลาดมหาศาล แต่หลายครั้งเราก็ยังเลือกที่จะทำธุรกิจแบบดั้งเดิม ประเภทลงแรงเยอะ ลงเงินเยอะ และขาดทุนเยอะๆ กันอยู่ เพราะอะไรหรือครับ เพราะความคุ้นเคย ความเคยชินจนลืมว่าโลกมันหมุนเร็วขึ้นทุกวินาที ทุกวันนี้การเริ่มต้นธุรกิจง่ายกว่าในอดีตมาก เพียงแต่เราต้องเข้าใจ “ช่องว่างธุรกิจ” ในการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ แล้วคุณจะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ ในแค่หนึ่งช่วงชีวิตของคุณ…สวัสดี

ครั้งต่อไปผมจะขยายความว่า — หาอย่างไรให้เจอ “ช่องว่างธุรกิจที่ทำกำไร” — … แล้วพบกันครับ