ปี 2559 ธุรกิจไหนดี ธุรกิจไหนรอด


                             ปี 2559 ธุรกิจไหนดี ธุรกิจไหนรอด

เรวัตร์  ชาตรีวิศิษฏ์

      ในบทความนี้จะมีผู้ประกอบการตัวจริงที่ล้วนประสบความสำเร็จในแต่ละสาขาของตัวเองได้มาบอกเล่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงอย่างตรงไปตรงมา รวมถึง ฟันธงทิศทางและกระแสในปี พ.ศ.2559 ว่าอะไรคือธุรกิจ ที่ยังน่าสนใจลงทุนอยู่อีกหรือไม่ และสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อยากโดดเข้าสู่วงการความเตรียมพร้อมอย่างไร

        กล่าวคือท่านจะค้าขายอะไรที่เกี่ยวกับ อาหาร การศึกษา สุขภาพ ความงามและเทคโนโลยี่ ท่านจะขายได้เสมอๆเพราะคนต้องการกินอาหาร ให้ลูกเรียน มีสุขภาพที่ดี เครื่องสำอางและการประทินโฉม และการใช้ไอที เป็นต้นที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ในที่นี้จะกล่าวถึงธุรกิจ กาแฟ ร้านกาแฟ และร้านขายอาหารญี่ปุ่น เฉพาะตอนนี้เท่านั้น

         เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ “The Coffee Maker” ยอมรับว่า รอบปีที่ผ่านมา ร้านกาแฟเกิดใหม่จำนวนมาก ทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และจิ๋ว แทบทุกรายจะคิดคล้ายๆ กันว่า ธุรกิจนี้ทำง่ายและกำไรดี แต่ปัญหาที่ตามมา คือ หลายรายทำโดยขาดความรู้จริง อีกทั้ง เกิดมากจนตั้งในทำเลซ้ำซ้อนกัน แย่งลูกค้ากันเอง ส่งผลร้านกาแฟเกิดใหม่อัตราล้มเหลวสูงมาก
        อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมั่นใจว่า ธุรกิจร้านกาแฟในปี2559 จะยังมีโอกาสประสบความสำเร็จระดับสูงเช่นเดิม เนื่องจากทุกวันนี้ การดื่มกาแฟกลายเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนไทยไปแล้ว ผลสำรวจชี้ชัดว่า ปริมาณการดื่มกาแฟของคนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่ประเด็นที่อยากฝากคนบริโภคกาแฟ และเจ้าของร้าน คือ พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันจะเลือกคุณภาพดีในราคาสมเหตุสมผล
        ในทุกวันนี้ คนไทยรู้แล้วว่า กาแฟที่มีคุณภาพดีเป็นอย่างไร ถ้าไปตั้งราคาเกินจริงอาศัยแค่ขายชื่อแบรนด์ ลูกค้าจะไม่ตอบรับมากนัก เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคจะมาอยู่ที่กินกาแฟที่ถูกลง แต่คุณภาพพอใช้ได้ สำหรับหน้าใหม่ สิ่งสำคัญต้องมีทำเลดี เรียนรู้การทำธุรกิจร้านกาแฟอย่างลึกซึ้ง และขายในราคาเหมาะสม

         ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2513 และรอบปีที่ผ่านมา2557-2558 กระแสอาหารญี่ปุ่นเติบโตช้าลง ขณะเดียวกันยังเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ขึ้นจำนวนมาก ซึ่งส่วนมากเน้นเมนูแปลกๆ เฉพาะเจาะจงไม่ได้เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบครบวงจร ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่นิยมอาหารญี่ปุ่นยังเป็นกลุ่มเดิมๆ ไม่มีกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นมากนัก
         ทั้งนี้ จากกระแสนิยมที่เริ่มเบาลง และผู้บริโภคมีจำนวนเท่าเดิม แต่มีทางเลือกที่มากขึ้น ประกอบกับการบริหารจัดการของร้านขนาดกลางและเล็กที่นับวันจะห่างชั้นกับร้านอาหารญี่ปุ่นเจ้าตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ร้านที่ไม่มีศักยภาพจริงๆ มีอัตราปิดตัวเองสูงมาก

         ส่วนผู้ที่สนใจจะมาทำธุรกิจนี้ แนะนำว่า ควรจะต้องคำนวณต้นทุนให้รอบคอบอย่างดีที่สุด และต้องหาจุดเด่น หรือจุดต่างที่โดนใจลูกค้าจริงๆ ไม่เช่นนั้น โอกาสประสบความสำเร็จอยู่ในขั้นเหนื่อยมากๆ

         ขณะที่จากการสัมภาษณ์และขอความคิดเห็นจาก โยชิโอะ วาตานูกิ เจ้าของร้านญี่ปุ่นเจ้าดัง ย่านสี่พระยา อย่างร้าน “ฮานาย่า” เผยว่า ยอดขายของร้านอาหารญี่ปุ่นโดยทั่วไปจะลดลงประมาณ 20-30% ตามสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว คนกินอาหารนอกบ้านน้อยครั้งลง ประกอบกับชาวญี่ปุ่นที่มาทำงานในเมืองไทย ซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญของร้านอาหารญี่ปุ่น ทยอยกลับบ้านเกิดจำนวนมาก เพราะบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนหลายแห่งปิดตัว หรือย้ายฐาน จากพิษเศรษฐกิจและการเมืองของไทย

        ส่วนกรณีกระแสอาหารเกาหลีจะมาแรง ในมุมมองของเขา คิดว่าไม่มีส่วนให้กระแสอาหารญี่ปุ่นลดลงไป เพราะเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกันอย่างชัดเจน
         ข้อแนะนำแก่หน้าใหม่ที่คิดอยากเปิดร้าน ขอให้คำนึงถึงทำเลเป็นสำคัญ ควรเป็นพื้นที่ใหม่ที่ยังไม่มีคู่แข่งมากนัก เพราะหากจะไปอยู่ย่านถนนวิทยุ และสุขุมวิท โอกาสเหลือไม่มากแล้ว เพราะมีร้านมากอยู่แล้ว และลูกค้าใหม่ๆ แทบไม่มี นอกจากนั้น เน้นบริการอาหารในคุณภาพและปริมาณที่ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แล้วจะเล่าตอนต่อๆไป…..