ผู้นำ… แบบสิงคโปร์ สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์


ผู้นำ… แบบสิงคโปร์

 

อ.สุรวัฒน์  ชมภูพงษ์

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

            เมื่อคราวก่อนผมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นกลับมาก็เลยเขียนถึงผู้นำแบบญี่ปุ่น พอมาถึงคราวนี้ผมเพิ่งกลับจากสิงคโปร์ก็เลยถือโอกาสเขียนถึงผู้นำแบบสิงคโปร์ซะเลยจะได้เป็นการอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบหรือเทียบเคียงกันไปในตัวด้วย 

            ก็คงอย่างที่ทุกท่านทราบนะครับว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่เขาว่ากันว่าเป็น เกาะเล็กๆ แต่มี “อิทธิฤทธิ์” มากมายมหาศาลทั้งทางด้านเศรษฐกิจการเงินและทางด้านการศึกษา แต่ถ้าศึกษาให้ลึกซึ้งจะพบว่าประเทศสิงคโปร์มีเกาะแก่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบ ๆ อีกประมาณ 60 เกาะ  ความเจริญทางด้านวัตถุนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็นที่เลื่องลือว่าอดีตประธานาธิบดี ลี กวน ยู ผู้ล่วงลับได้เนรมิตเกาะสิงคโปร์เป็นเมืองจำลองและกลายเป็นเมืองจริงจังโดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี สนามบินยังซื้อดินซื้อทรายมาถมทะเลจนเป็นสนามบินที่มีมาตรฐานดีที่สุดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

            “การสร้างบ้านแปลงเมือง” ของท่านลี กวน ยู นั้น ทำเอาคนทั้งโลกพากันตะลึงงันว่าทำได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่ทรัพยากรธรรมชาติแทบไม่มีอะไรเลย  ขนาดน้ำยังต้องสั่งซื้อจากประเทศมาเลเซียมาใช้เพราะปริมาณน้ำจืดมีน้อยจนไม่เพียงพอต่อการใช้สอยในครัวเรือน แต่ปัจจุบันสิงคโปร์มีทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่มหึมาไว้รองรับปริมาณความต้องการของประชากรของสิงคโปร์ ตลอดจนนักธุรกิจและชาวต่างชาติที่เข้าไปทำมาหากินและไปท่องเที่ยวเพื่อดูความเจริญก้าวหน้าของสิงคโปร์มากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือตัวผมเองด้วย แต่ถ้ามองในแง่รัฐศาสตร์แล้วก็จะเห็นได้ว่าการสร้างเมืองใหม่เลยและมีขนาดไม่ใหญ่โตมากมายนัก ประชากรประมาณ 4 ล้านคนเศษนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการไปจัดสรรหรือสร้างเมืองในเมืองเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ แต่สะเปะสะปะเต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรคนานัปการ  ดังนั้นเมืองใหม่ที่ท่าน ลี กวน ยู ได้สร้างจึงเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบโดยการสำรวจความต้องการและ “สิ่งที่ควรจะมี” รวมถึง “สิ่งที่ควรจะเป็น” ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เราจึงสามารถมองเห็นได้ถึงความสมบูรณ์แบบของเมืองไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ทำการของฝ่ายบริหาร อาคารที่เรียกว่า “Office Building” เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ โซนที่อยู่อาศัยทั้งที่มีระดับและโซนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านทั่วไปที่ต้องการได้รับสวัสดิการจากรัฐ  ดังนั้นจึงมีผู้คนจากทั่วโลกพากันเข้าไปทำมาหากิน ประกอบอาชีพ ทั้งทางด้านการเงิน การคลัง การพาณิชย์ อุตสาหกรรม แม้กระทั่งงานสถาปัตยกรรม ก็รุ่งเรืองมากในสิงคโปร์เพราะการสร้างบ้านแปลงเมืองของเขายังคงดำเนินอยู่ตลอดเวลา  สมัยที่ผมเรียนอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น เคยสงสัยมานานแล้วว่าเหตุใดเพื่อน ๆ ของผมที่เรียนจบ    จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงชอบมาฝึกมาเรียนรู้งานและพอเรียนจบก็ย้ายมาทำงานที่สิงคโปร์กันมากมาย หลายคน  มาบัดนี้ก็คงพอจะกระจ่างแจ้งในหัวใจได้แล้วว่าการสร้างเมืองแบบศิวิไลซ์ไร้มลภาวะ ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นคือหัวใจของการสร้างเมืองในสิงคโปร์ซึ่งต้องการสถาปนิกที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากมาย การคิดอย่างผู้นำแบบสิงคโปร์จึงเป็นการคิดแบบระยะยาวเพื่อความยั่งยืน ไม่ใช่ทำอะไรแบบ “ไฟไหม้ฟาง”

            หากมองในด้านของการศึกษาเราก็จะพบว่าสิงคโปร์ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา และคนสิงคโปร์ก็เล่าให้ผมฟังว่าคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย     ซึ่งมักจะใช้ภาษาจีนได้เป็นอย่างดีแต่ในสิงคโปร์นั้นก็มีชาวอินเดียเป็นประชากรของสิงคโปร์อยู่จำนวน  ไม่น้อยเลย  ดังเห็นได้จากอาหารการกินตามตลาดของสิงคโปร์มีอาหารอินเดียจำหน่ายอยู่มากมาย      คนอินเดียภาษาอังกฤษจะเก่งมาก  ดังนั้นท่านลี กวน ยู จึงสั่งการให้ทุกโรงเรียนต้องสอนโดยใช้ระบบ  2 ภาษา มาเป็นเวลายาวนานแล้ว นั่นคือต้องใช้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เยาวชนของเขาจึงมีความสามารถทางภาษาใช้ติดต่อกับคนได้กว่าครึ่งโลกใบนี้โดยไม่ต้องมีอุปสรรคด้านการสื่อสารเหมือนที่นักเรียนไทยของเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เลย

            ที่สำคัญที่สุดและเห็นทีผมจะไม่กล่าวถึงไม่ได้สำหรับประเทศสิงคโปร์นี้ก็คือ “การเคารพกฎหมาย” และ “การมีวินัย” ในการดำเนินชีวิตอย่างสูงมากเพราะเขาปลูกฝังกันตั้งแต่ในสถาบันครอบครัว คนไทยเวลาจะไปสิงคโปร์จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ประเทศนี้เขาเอาจริงนะ กฎหมายเขาแรงนะ” นั่นหมายความว่าถ้าจะเข้าไปบ้านเมืองขาต้อง “เคร่งครัด” มิเช่นนั้นท่านจะได้รับการลงโทษแน่นอนหากไปทำอะไรรุ่มร่ามเข้า  เพราะบ้านเมืองเราขาดระเบียบและไม่มีวินัยกันมานาน พอมีทหาร   เข้ามาบริหารบ้านเมืองจึงรู้สึกขยาด ๆ กันอยู่บ้างในระยะแรก ๆ แต่เดี๋ยวนี้พอนานเข้าชักเริ่มชิน      ท่านนายกรัฐมนตรีของเราจะไปทำท่าแบบนายนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ก็ไม่ได้เพราะมันคนละวัฒนธรรมกัน  เมืองไทยจึงได้แต่คำราม “ฮึ่มๆ” กันเป็นระยะ ๆ พอหอมปากหอมคอและนี่แหละครับคือความยากถึงยากที่สุดของผู้นำของประเทศไทยเมื่อต้องนำไปเทียบกับผู้นำแบบสิงคโปร์ เช่นนี้แหละครับ!