Scan Asean 5 ตอนที่ 1


Scan  Asean 5 ตอนที่ 1

สุภาวดี เวศยพิรุฬห์

               ในห้วงเวลาที่ผู้ประกอบการกำลังมองโอกาสจากการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน  หลายกิจการอาจกังวลว่าแล้วเราจะไปแสวงหาโอกาสที่ไหนหรือตั้งรับกับสิ่งที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างไร  เพราะการศึกษาเรียนรู้ทั้ง  9 ประเทศและการเชื่อมโยงอาเซียนไปยังเครือข่ายการค้าอย่าง Asean+3 หรือ  Asean+6 ก็ดี  อาจเริ่มต้นด้วยการจัดกลุ่มประเทศเพื่อศึกษากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

              จากโอกาสที่ผู้เขียนได้พบปะกับผู้ประกอบการที่ออกไปค้าขายกับเพื่อนบ้านผ่านภารกิจกรรมดำเนินการเสวนาเวทีต่างๆ  สรุปเบื้องต้นได้ว่า  9 ประเทศสมาชิก (ยกเว้นประเทศไทย) ผู้ประกอบการอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศเกิดใหม่ได้แก่ CLMV และกลุ่มประเทศก่อตั้งหรือทีเรียกว่า Asean 5 ซึ่งฉบับนี้ขอเล่าเรื่อง SMEs เริ่มต้นที่กลุ่ม Asean 5 อันประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และบูรไน  แยกประเทศโดยสังเขป คือ

 

อินโดนีเซีย

              ด้วยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดประชากรจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค และมีอัตราการขยายตัวที่ในอนาคตคาดว่าจะสูงถึง 300 ล้านคน เหตุเพราะศาสนาหลักมีข้อห้ามการคุมกำเนิด  คือ โอกาสทางการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับผู้ประกอบการไทย  ด้วยเงื่อนไขหลายประการ

              เริ่มตั้งแต่นิสัยใจคอที่ชื่นชอบการช้อปปิ้ง  โดยคนระดับกลางมีรสนิยมจับจ่ายสินค้าตลาดบน

จึงเหมาะกับสินค้าไลฟ์สไตล์ที่การเลือกซื้อสินค้าไม่ได้เน้นเรื่องราคาถูก  แต่เน้นเรื่องการออกแบบและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก  หากผู้ประกอบการต้องการหน้าร้านสำหรับประเทศนี้ควรเลือกวิธีการร่วมสร้าง Shop Brand ร่วมกับตัวแทนจำหน่าย  เนื่องจาก การจัดแสดงจำเป็นต้องใช้พื้นที่อาจเป็นภาระด้านต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการ

             สำหรับตลาดระดับกลางถึงล่างนิยมจับจ่ายผ่านการค้าแบบดั้งเดิมซึ่งมีการกระจายทั่วประเทศถึง 2 ล้านร้านค้าและผ่านช่องทางร้านค้าสะดวกซื้อที่มีจำนวนมาก   ผู้ประกอบการสามารถทำตลาดได้ง่ายกว่าการจัดจำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะขั้นตอนและลำดับการพิจารณา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ มาตรฐานสินค้าประเภทอาหาร    

             วิธีการนับหนึ่งสำหรับ SMEs ควรเป็นการทดลองเปิดตลาดผ่านการจัดงานแสดงสินค้า เพื่อทดสอบตลาดและแสวงหาคู่ค้าในรูปแบบ Business Matchingโดยเน้นสินค้าที่มีความแตกต่าง   เพื่อเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทน       ที่สำคัญคือไม่ว่าการเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าตลาดใด ควรคำนึงถึงการจดทะเบียนตราสินค้าและทรัพย์สินทางปัญญา  เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ

มาเลเซีย

            ประชากรประเทศนี้ให้ความสำคัญเรื่องระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบมาตรฐานเช่นอุตสาหกรรมอาหาร   จำเป็นต้องผ่านมาตรฐานฮาลาลของประเทศจึงจะเป็นที่ยอมรับ   ที่สำคัญคือ เป้าหมายทางการตลาดควรเน้นความต้องการซื้อของคนในพื้นที่เป็นหลัก  ซึ่งประชากรในมาเลเซียถูกแบ่งอย่างชัดเจนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ  ชาวมาเลเซียเชื้อสายมุสลิมคือกลุ่ม เป้าหมายตลาดกลางและตลาดล่าง  มีพฤติกรรมการพักกลางวันจากเที่ยงจนถึงบ่าย 2 โมง   ส่วนชาวมาเลเซียเชื่อสายจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีพฤติกรรมการพักเที่ยงจากเที่ยงจนถึงบ่ายโมง   เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษาภายหลังจบการศึกษามักเลือกทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ จึงมีบุคลิกและทัศนะคติในการทำงานแบบตรงไปตรงมาเช่นเดียวกับชาวสิงคโปร์ 

             การพิจารณาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านระบบการค้าสมัยใหม่ ( MTC : Modern trade channel  ) สำหรับธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ประเทศมาเลเซียเหมาะสำหรับการใช้เป็นฐานการผลิตเนื่องจากมีค่าแรงที่ไม่สูง   สามารถผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำมาก  และแม้จะเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีฐานะก็มีพฤติกรรมในการเลือกซื้อค่อนข้างยากในการตัดสินใจ  จึงเหมาะกับสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ที่เน้นการออกแบบและราคาไม่แพงนัก

ฟิลิปปินส์

            ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์  ด้วยข้อห้ามทางศาสนาจึงเคร่งครัดเรื่องห้ามการคุมกำเนิด  ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของประกรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  จึงส่งผลต่อขนาดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะมีขนาดเล็ก  นิยมการเดินห้างสรรพสินค้าแต่จับจ่ายใช้สอยน้อย  เพราะประชากรส่วนใหญ่เป็นคนว่างงานแต่มีรายได้จากคนในครอบครัวไปทำงานในต่างประเทศด้วยศักยภาพด้านภาษา

            ประชากรที่มีรายได้สูงมักนิยมสินค้าที่มีแบรนด์ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยตัดสินใจเลือกสินค้าจากการออกแบบและประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ  ประกอบกับศาสนาที่เคร่งครัดส่งผลต่อความเข้มงวดในการสื่อสารการตลาดสำหรับสินค้าบางประเภท

            ข้อจำกัดของฟิลิปปินส์ คือ ประกอบไปด้วยพื้นที่ๆเป็นเกาะเช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย  จึงมีผลต่อการกระจายสินค้า  ข้อกำหนดเรื่องการจดทะเบียนตราสินค้ามีความเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจดทะเบียนชื่อหรือคอลเลคชั่นสินค้า แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพราะหากไม่ผ่านการจดทะเบียนก็ไม่สามารถนำไปจำหน่ายในฟิลิปปินส์ได้    ตลอดจนการลักพาตัวนักธุรกิจในฟิลิปปินส์เป็นปัญหาเรื่องความปลอดภัย  การประกอบธุรกิจควรปรับปรุงภาพลักษณ์ให้สอดคล้องกับคนท้องถิ่นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว

            ในฉบับหน้าเรื่องเล่า SMEs จะมาต่อกันอีก 3 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้วางตำแหน่งทางการตลาดอย่างเข้าใจและเข้าถึงผู้ซื้อในกลุ่ม Asean 5 เพิ่มเติม  ก่อนที่จะเล่าถึงอีกกลุ่มประเทศได้แก่ CLMV ในลำดับต่อไป