คุณสมบัติวิทยากรผู้สอนที่ดี


“คุณสมบัติวิทยากรผู้สอนที่ดี”

ดร.พนม ปีย์เจริญ

Ph.D. Innovative Management

 

เราท่านคงเคยเห็นวิทยากรดาวค้างฟ้าหลายคน ที่ยังยืนหยัดอยู่หน้าเวที เป็นครูผู้สอนคน และยังได้รับความนิยม ได้รับเชิญให้ไปสอนคนในองค์กรต่างๆจากอดีตจวบจนทุกวันนี้

เราเคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมท่านเหล่านั้นจึงยังยืนหยัดอยู่ได้ยาวนานขนาดนี้ ผมเคยมีโอกาสพูดคุยกับวิทยากรเหล่านั้นหลายคน ถึงเทคนิค กลยุทธ์วิธีการทำงานในอาชีพท่าน ที่ทำให้ท่านยืนหยัดอยู่บนเวทีได้ยาวนานถึงวันนี้ ส่วนใหญ่ก็ได้รับคำตอบไปในทิศทางเดียวกันหรือคล้ายๆกัน คือ…

 

1.เตรียมการบรรยาย 3 วัน เพื่อบรรยาย 3ชั่วโมง

กล่าวคือ..มีการเตรียมตัวค้นหาข้อมูล ตัวอย่าง เรื่องราวที่จะบรรยายอย่างจริงจัง มากพอหรือให้มากกว่าเวลาที่บรรยายจริงไว้ก่อน เพื่อที่เนื้อหาจะได้คลอบคลุมรอบด้าน และมีความลึกซึ้งในเนื้อหาและตัวอย่างที่จะใช้ถ่ายทอดในประเด็นที่จะบรรยาย และเมื่อมีข้อมูลที่มากพอ ความมั่นใจก็จะตามมา ไม่ว่าผู้รับฟังจะถามอะไร ในเรื่องที่บรรยาย ก็สามารถตอบได้อย่างรวดเร็ว มั่นใจ และนี่คืออีกเหตุผลที่ศรัทธาของผู้ฟังจะตามเรามาติดๆ

 

2.เตรียมข้อมูล สำหรับการบรรยายได้ 3วัน แต่สามมารถใช้ข้อมูลเดียวกันนั้น บรรยายได้ตั้งแต่ 30 นาที จนถึง 3 วัน

ด้วยความที่เรามีการเตรียมตัวอย่างดี จนสามารถเข้าใจเรื่องราวที่จะสื่อสารได้อย่างลึกซึ้ง เราจึงมองเห็นภาพรวมทั้งหมดของเรื่องที่เราจะบรรยาย เราจึงสามารถ ตัด..ต่อ..ย่อ..ขยาย..การบรรยายของเราได้อย่างเหมาะสมกับเวลา โดยไม่ต้องกังวลกับเวลาที่อาจถูกขอเพิ่มหรือขอลดเวลาลงอย่างกะทันหัน ซึ่งถ้าเป็นการบรรยายที่ใช้จำเอามาสอน และไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่นจะมีปัญหากับการถูกขยายหรือถูกร่นระยะเวลาในการบรรยายเอามากๆ เพราะฉะนั้นสำหรับมืออาชีพแล้วไม่ว่าเวลาจะถูกย่อหรือขยาย ก็สบายมืออาชีพครับ

 

3.ต้องมีเทคนิคการพูด การบรรยายให้คนที่เดินไปเดินมาแบบฟังก็ได้ ไม่ฟังก็ได้ สะดุดอารมณ์และสนใจในน้ำเสียงลีลาอารมณ์ จนหยุดนั่งลงฟังอย่างตั้งใจ แต่มิใช่พูดให้คนที่กำลังนั่งฟังอย่างตั้งใจ ลุกขึ้นหนีออกนอกห้อง อันนี้เสียหายมาก

วิทยากรที่ดี ต้องรู้ว่าผู้ฟังอยากฟังอะไร? และต้องพูดในสิ่งที่ผู้ฟังอยากฟังเสียก่อน จึงค่อยพูดในสิ่งที่เราอยากพูด เพราะสิ่งที่เราอยากพูด อาจเป็นสิ่งที่ผู้ฟังไม่อยากฟัง และอาจเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะสะกดผู้ฟังไว้ได้ เพราะฉะนั้นจงพูดในสิ่งที่ผู้ฟังอยากฟังเสียก่อน ด้วยเนื้อหา ตัวอย่าง ลีลา จังหวะ น้ำเสียงฯ ที่ชวนให้น่าสนใจ

 

4.ต้องไม่ดูถูกผู้ฟังด้วยการไม่เตรียมการบรรยาย แม้จะเป็นหัวข้อที่คุ้นเคยมากมานานก็ตาม

วิทยากรหลายท่านมักไปตายเอาดาบหน้า หรือขายของเก่ากินไปวันๆ โดยไม่ยอม Update ข้อมูลใหม่ๆเข้าไปในการบรรยายของตนเอง เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ไปนานๆจนเป็นความเคยชิน เรื่องและตัวอย่างประกอบการบรรยายจึงล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความนิยมชมชอบถดถอยไปตามลำดับ เพราะเป็นภาพสะท้อนในใจตนเองและผู้ฟังอยู่ตลอดเวลาว่า เราไม่นับถือตนเองและไม่ให้เกียรติผู้ฟังด้วยการไม่เตรียมตัวในการบรรยาย เสมือนหนึ่งไม่ให้ความสำคัญกับผู้ฟังนั่นเอง

 

5.Update ข้อมูลทุกวันหรือตลอดเวลาที่สามารถทำได้

ความน่านับถือของวิทยากรหรือครูผู้สอนที่ประสบความสำเร็จคือมีการผลัดใบทางข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือมีเรื่องราว มีตัวอย่าง มีข้อมูล มีแนวคิดที่ทันสมัยสอดคล้องกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันเสมอ

เพราะฉะนั้นวิทยากรที่ดีต้องขยันอ่าน ต้องแสวงหาข้อมูลใหม่ๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ความรู้ข้ามศาสตร์ที่สามารถนำมาเกี่ยวโยงกันได้ในทางปฏิบัติของการทำงานจริงๆ วิทยากรต้องสนุกกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะจะเป็นการต่อยอดจากความรู้เดิมที่มีอยู่ให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังและตัววิทยากรเองด้วย

 

6.ต้องไม่หยุดพัฒนาตนเอง ทั้งกระบวนการ วิธีการสอน ตามหลักการสื่อสารในรูปแบบ Edutainmentการรู้ใจผู้ฟังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสำคัญมากที่จะเข้าถึงใจผู้ฟังได้อย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้นวิทยากรจึงต้องพัฒนาตนเองให้สามารถวิเคราะห์ผู้ฟังได้อย่างรวดเร็ว และทำจนเป็นนิสัย ที่สำคัญเมื่อสามารถวิเคราะห์ผู้ฟังได้แล้ว วิทยากรจะต้องพัฒนากระบวนการที่จะเข้าถึง ด้วยความเข้าใจผู้ฟัง เพื่อที่จะเข้าไปนั่งในหัวใจผู้ฟังส่วนใหญ่ให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ นอกจากนั้นวิทยากรต้องมีกระบวนการผสมผสานการสอนในลักษณะ Edutainment คือมีทั้งความรู้ (Education) และความสนุกสนานบันเทิง (Entertainment) เพื่อตรึงคนฟังให้มีสมาธิอยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ซึ่งการสอนแบบ Edutainment นี้จะนำมากล่าวในโอกาสต่อไป

นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น สำหรับการเป็นวิทยากรมืออาชีพ ที่จะสามารถยืนหยัดบนเวทีในระดับแนวหน้าได้ในโลกแห่งการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างสง่างาม