ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ชี้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2558 มีแนวโน้มดีกว่าปี 2557 ทั้งการขยายตัวของสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียม เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองและความพยายามของภาครัฐในการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตผ่านการลงทุน รวมถึงรายได้จากธุรกรรมดิจิตอล และ Trade Finance
ปัจจัยการเมืองที่มีความไม่แน่นอนสูงในปี 2557 มีส่วนสำคัญทำให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพียงร้อยละ 5 ซึ่งถือเป็นอัตราที่ชะลอตัวเอามากๆ จากที่สามารถขยายตัวในระดับเลขสองหลัก (ระหว่างร้อยละ 11-15) มาสี่ปีติดต่อกัน การเมืองที่นิ่งขึ้นในปีนี้ ประกอบกับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเดินหน้าได้ดีกว่าเดิม จะส่งผลให้ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น ในปี 2558 จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นอัตราการเติบโตของสินเชื่อรวมที่ระดับร้อยละ 7-8 คิดเป็นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2557 ประมาณ 8 แสนล้านบาท ส่วนการแข่งขันในตลาดเงินฝากยังไม่น่าจะมีความรุนแรงมากนัก เนื่องจากการระดมเงินฝากที่มากเกินการปล่อยสินเชื่อยังคงค้างมาจากปีที่แล้ว ทำให้การเติบโตของเงินฝากในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 หรือเพิ่มขึ้น 6 แสนล้านบาท
แม้การขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวมจะเป็นผลบวกต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แต่ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยลดบทบาทลง และล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังไม่มีที่ท่าว่าจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้ง่ายๆ รายได้ค่าธรรมเนียมจึงมีความสำคัญมากขึ้นต่อธนาคารพาณิชย์
เมื่อพิจารณาข้อมูลในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จะพบว่า สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมต่อรายได้รวมของธนาคารพาณิชย์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 15.8 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 16.3 และ 17.0 ในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับ และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก รับแรงหนุนจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้ธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการเสริมต่างๆ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภคที่จะได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรมไปในตัว โดยผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าเริ่มมีความโดดเด่น ได้แก่
-
การให้บริการผ่านระบบดิจิตอล หรือ ดิจิตอลแบงค์กิ้ง มีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจุบัน อุปกรณ์ด้านไอทีสามารถเข้าถึงและเป็นที่ยอมรับลูกค้าทุกระดับรายได้และอายุ จึงเป็นก้าวสำคัญสู่ยุคของธนาคารสมัยใหม่ ซึ่งหัวใจสำคัญของบริการทางดิจิตอล คือ ต้องสร้างระบบให้ง่ายต่อการใช้งานของลูกค้า รวมถึงความปลอดภัย แม่นยำ ในการทำธุรกรรมและการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้า
-
ธุรกรรม Trade Finance โดยเฉพาะกับตลาดลูกค้ากลุ่ม SME เนื่องจากกิจการขนาดกลางและเล็กมีโอกาสทางธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น การให้บริการการเงินเพื่อการค้าแบบครบวงจรนอกเหนือจากสินเชื่อ อาทิ การเปิด L/C การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน การโอนเงินชำระเงิน เป็นต้น
การแข่งขันก็จะมาจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน เพราะ ธนาคารกลางประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ได้จัดทำหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลบริการทางการเงินสำหรับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อใช้เปรียบเทียบในการตัดสินใจเลือกใช้บริการได้ จึงเป็นโอกาสและความท้าทายของธนาคารในการรักษาและขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า ธนาคารพาณิชย์จะดำเนินกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในสองแนวทางหลัก ได้แก่
1.การสร้างเครือข่ายธนาคารในลักษณะพันธมิตร โดยเฉพาะพันธมิตรจากธนาคารในอาเซียน ญี่ปุ่นและจีน ซึ่งนักลงทุนจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนโดยตรงในอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อรับกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน หรือ AEC ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นไป
2. การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าในเชิงลึกยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด และเหมาะสมที่สุดกับลูกค้าแต่ละไลฟ์สไตล์ เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำ หรือผลิตภัณฑ์ประกันสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้อิสระ ทั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับมือกับการแข่งขันที่กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ด้วยแรงกดดันที่มาจากทั้งภายในและนอกประเทศ