โดย อาจารย์สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“สังคมใดไม่ใส่ใจในคุณธรรม สังคมนั้นจะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายไม่จบสิ้น”
คำกล่าวข้างต้นนี้ดูจะไม่เกินเลยไปกว่าความเป็นจริงที่สังคมไทยเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แม้ว่าจะดูเหมือนเจือจางไปบ้าง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดสิ้นลงไปในระยะเวลาอันใกล้นี้ ตรงกันข้ามอาจจะมีวิกฤตใหม่ที่จะต้องเผชิญกันอีกก็ได้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยากันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผู้นำในทุกหน่วยงานทุกระดับชั้นจึงต้องตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรีบและร่วมกันดำเนินการทั้งในระดับชาติและระดับที่รอง ๆ ลงมาจนถึงระดับประชาชนคนธรรมดา ๆ อย่างเราท่านทั้งหลาน อย่าให้ถึงขั้นเป็น “วิกฤตคุณธรรม” ที่สุดจะเยียวยาได้เลยนะครับ
ถ้าท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูดี ๆ จะเห็นได้ว่าเวลานักเรียน นักศึกษา เรียนจบ จะสมัครเข้าทำงานที่ใดที่หนึ่งไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน หน่วยงานนั้น ๆ มักจะจัดให้มีการทดสอบ “วิชาการ” แบบ “ข้อเขียน” หรืออีกนัยหนึ่งเรียกกันว่า “วัด IQ.” พอผ่าน “วิชาการ” ได้คราวนี้ก็มาถึงการสอบ “สัมภาษณ์” เพื่อดูความคิดความอ่าน หรือ “ทัศนคติ” หรืออีกนัยหนึ่งเรียกกันว่า “วัด EQ.” โดยประมาณการแล้ว IQ. (วิชาการ) จะประมาณ 80% ส่วน EQ. (วิชาชีวิต) จะประมาณ 20% แต่ท่านทั้งหลายคงทราบนะครับว่าพอเข้ามาทำงานจริง ๆ แล้ว EQ กลายเป็นกว่า 80% ส่วน IQ. นั้นอาจจะเหลือไม่ถึง 20% ด้วยซ้ำไป ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนเรียนเก่ง ๆ บางคนจึงทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ความเก่ง (หรือ IQ. สูง) นั้นจึงไม่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าเลย ถ้าปราศจากการมีวิชาชีวิต (หรือ EQ.) ที่ดี เพราะเขาเหล่านั้นจะหมดสิทธิที่จะได้รับ “โอกาส” วันก่อนผมได้ดูรายการทีวีรายการหนึ่ง มีเยาวชนคนหนึ่งกล่าวไว้ในรายการนั้นดีมากเลยครับว่า “โอกาสนั้นก็เปรียบเสมือนไอศกรีม ถ้ามีผู้หยิบยื่นให้แล้วไม่กิน สักพักมันก็ต้องละลายหายไป” น่าเสียดายครับที่มีบางคนไม่ได้ตระหนักในข้อนี้หรือบางคนรับโอกาสนั้นไปแล้วกับประพฤติปฏิบัติในลักษณะขาด “คุณธรรม” จึงต้องมีอันเป็นไปก่อนเวลาอันสมควร
ทุก ๆ ปี ผมมักจะได้รับเชิญไปบรรยายในสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ตอนต้นปีการศึกษาก็มักจะเชิญผมไปพูดกับนิสิตนักศึกษาในพิธี “ปฐมนิเทศ” เป็นการสอนกันเบื้องต้นก่อนว่าจะเรียนกันอย่างไร? ทำกิจกรรมกันอย่าง? ใครเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา? จะลงทะเบียนวิชาต่าง ๆ กันอย่างไร? เหล่านี้เป็นต้น
พอเวลาผ่านไป 4 ปี ก็มักจะมาเชิญให้ผมไปพูดกับนิสิตนักศึกษาชุดเดิมนี่แหละครับในพิธี “ปัจฉิมนิเทศ” เป็นการสอนหรือแนะนำกันว่าเมื่อจบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้วจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรเพื่อจะไปเผชิญกับโลกภายนอก บุคลิกลักษณะการต่างกาย การวางตน การจะหางานที่ดี ๆ ทำจะต้องทำอย่างไรบ้าง? เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจะว่าไปแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีแล้วนะครับที่เตรียมพร้อมบุคลากรทั้งทางด้านวิชาการและการเผชิญโลกของคนทำงานนอกรั้วมหาวิทยาลัย แต่ผมกับสังเกตพบว่า สังคมไทยมีคนเก่ง ๆ ในสาขาวิชาต่าง ๆ มากมายแต่ทำไมนะบ้านเองเราถึงยังวุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น พิจารณาดูแล้วจึงเห็นได้ว่าเพราะเรามีแต่คนเก่ง แต่คนเก่งเหล่านั้นซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยอาจจะขาด “คุณธรรม” พากันแสวงหาความสำเร็จ ผ่านความมั่นคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุ ปรนเปรอด้วยการมุ่งเรื่องของ “กิน กามและเกียรติ” ค่านิยมวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทยเราไม่เคยสนใจหรือใส่ใจเลย เราจึงได้ยินคำกล่าวเหล่านี้เช่น “คอรัปชั่น” “ติดสินบน” “ส่วย” “ตามน้ำ” “ทุจริตเชิงนโยบาย” “วิ่งเต้นเส้นสาย” “ค่าของคน อยู่ที่ว่าเป็นคนของใคร” และคำกล่าวอื่น ๆ อีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงการขาดคุณธรรม ผมจึงอยากเสนอว่า นพอกจากพิธีปฐมนิเทศและปัจฉิมนิเทศแล้ว สถาบันการศึกษาควรจะจัดให้มีการ “มัชฌิมนิเทศ” ด้วยตลอด 4 ปีการศึกษา คำว่า “มัชฌิม” แปลว่า “ตรงกลาง” ส่วนคำว่า “นิเทศ” คือ “การสอน” ดังนั้นคำว่า “มัชฌิมนิเทศ” จึงหมายถึง การสอนในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เยาวชนของชาติตรงกลางคือระหว่างที่สอนวิชาการไปนั้นควรสอดแทรกคุณธรรมเข้าไปด้วยตลอดเวลาของการสอนวิชาการเพราะบางสิ่งบางอย่างไม่อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วครอบคลุมทุกเรื่องทุกอย่างได้ 100% เช่น การใช้ “ดุลยพินิจ” และ “การตัดสินใจ” เป็นต้น โดยมีครูบาอาจารย์ที่สอนในสถาบันการศึกษานั้น ๆ ประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้ดู ซึ่งเราเรียกว่า ประพฤติอย่างคนที่มี “จริยธรรม” ควบคู่ไปด้วย ผู้นำหรือผู้ที่มีภาวะผู้นำที่ดีจึงต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เหมือนเช่นที่เราเห็นตามป้ายโฆษณาข้างถนนหนทางในประโยคสั้น ๆ แต่มีความหมาย คือ
“การสอนลูกที่ดี คือการที่พ่อแม่ต้องทำดีให้ลูกดู”
………………………..