จีนเริ่มป่วย


                                                            จีนเริ่มป่วย        

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

            เศรษฐกิจจีนขณะนี้กำลังเป็นที่จับตามองของทั่วโลกในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงมีการตกลงอย่างฮวบฮาบ นอกจากนี้โภคภัณฑ์หลายตัวรวมทั้งน้ำมันและยางพารา ทองแดง และอื่น ๆ ต่างก็มีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนทั้งทางตรงและทางอ้อม

            ความจริงนั้น เศรษฐกิจจีนส่อเค้าของปัญหาตั้งแต่ 3-4 ปี ก่อนหน้านี้ ดังดูได้จากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจจีนซึ่งเคยมีอัตราการเฉลี่ยของ GDP เพิ่มขึ้น 10% ตลอด 3 ทศวรรษและมีการลดลงมาอยู่ในระดับ 7% ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา และในปีนี้ก็มีนักวิเคราะห์หลายแห่งไม่ว่า IMF หรือ ADB ต่างวิเคราะห์ว่า อัตราการเติบโตจีนจะลดลงต่ำกว่า 7% โดยทั้งสองสถาบันพยากรณ์ไว้ที่ระดับ 6.8 – 6.9% (อัตราการเติบโตของ GDP)

            ประเทศจีนนั้นกำลังประสบปัญหาหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน การเติบโตของ GDP อย่างต่อเนื่องตลอด 30 กว่าปี ทำให้คนจีนอยู่ดีกินดีกันมากขึ้นอย่างมหาศาล แต่ในอีกด้านหนึ่งทำให้ค่าแรงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศจีนซึ่งเคยพึ่งพาการส่งออกสินค้าราคาถูก เนื่องจากค่าแรงต่ำจึงไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ เนื่องจากสินค้าของจีนมีราคาแพงขึ้น อีกทั้งแพงกว่าคู่แข่งใหม่ ๆ ที่เราเรียก่า ประเทศเกิดใหม่ เช่น อินเดีย ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV รวมทั้งประเทศเกิดใหม่ในแอฟริกาและละตินอเมริกา

            ในช่วงหลัง ค.ศ. 1989 ถึงปัจจุบัน ทั่วทุกภูมิภาคมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในลักษณะตั้งแต่เขตการค้าเสรีจนถึงตลาดร่วม การรวมกลุ่มดังกล่าวนี้จะทำให้สินค้าของประเทศสมาชิกในกลุ่มไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและไม่มีการจำกัดโควตา ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสินค้าประเทศเหล่านี้ถูกกว่าสินค้าเดียวกันที่มาจากนอกกลุ่ม คือทำให้สินค้าจากประเทศนอกกลุ่มไม่สามารถขายได้หรือขายได้น้อยลง สินค้าจีนจึงถูกกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จีนจึงพยายามทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ เพื่อลดความเสียเปรียบทางการแข่งขัน เช่น Asean+3 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีอยู่ทั่วโลก จีนจึงไม่สามารถที่จะปรับตัวด้วยการรวมกลุ่มในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกได้ ดังนั้นจึงจะเห็นไดว่า จีนยังไม่เข้าร่วม Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งจะเสียเปรียบอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสมาชิก TPP และถ้าข้อตกลงเขตการค้าเสรีของ TPP เสร็จสิ้นในปีนี้หรือในอนาคต ความเสียเปรียบของจีนทางด้านสินค้า บริการ และการลงทุนก็จะเพิ่มขึ้น แม้จีนจะพยายามหาทางออกด้วยการสนับสนุนให้ APEC พัฒนาไปสู่เขตการค้าเสรีซึ่งเป็นข้อตกลงที่จีนนำเสนอต่อการประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงปักกิ่ง โดยจีนเป็นเจ้าภาพในปีที่ผ่านมา การพัฒนา APEC สู่เป้าหมายดังกล่าวยังต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นขีดความสามารถในการแข่งขันของจีนทั้งด้านสินค้า บริการ และการลงทุนจึงถูกกระทบจากปรากฏการณ์ของการรวมกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            ปัญหาที่สำคัญของจีนอีกประการคือ จากการที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราสูงก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงในเชิงลบหลายประการ ประการแรกคือ ทำให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่โดยเฉพาะในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็สร้างปัญหาต่อระบบสถาบันการเงินในรูปของการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ รัฐวิสหกิจของจีนซึ่งได้รับสภาพคล่องหล่อเลี้ยงตลอดเวลา 3 ทศวรรษก็ขยายการลงทุนและก่อหนี้มหาศาลโดยส่วนหนึ่งค้ำประกันหนี้ด้วยหลักทรัพย์คือ ที่ดิน ผลจากฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งทำให้หลักทรัพย์ลดลง รัฐวิสาหกิจรวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นจึงมีปัญหาของการไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้ได้หรือเบี้ยวหนี้ ในอดีตนั้น รัฐบาลกลางซึ่งมีเงินสำรองสูงมากประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ก็ยังอยู่ในฐานะที่ช่วยได้ แต่ในขณะนี้ หนี้ภาครัฐของจีนสูงถึง 260% ของ GDP ซึ่งเป็นหนี้สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลจีนจึงไม่อยู่ในฐานะจะใช้สภาพคล่องมาช่วยองค์กรเหล่านี้ได้เต็มที่เหมือนสมัยก่อน

            ในช่วงที่เศรษฐกิจบูมนั้นก็เกิดการขยายตัวของตลาดการเงินนอกระบบที่เรียกว่า ธนาคารเงา (Shadow Banking) ซึ่งสถาบันเหล่านี้มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง

            ประเทศจีนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าราคาหุ้นมีการเก็งกำไรจนสูงเฉียดฟ้าซึ่งก็กลายเป็นฟองสบู่ที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องหาทางแก้ด้วยการลดสภาพคล่องและกำหนดกฏเกณฑ์ไม่ว่าจะต้องลด Margin loan เล่นงานพวกปั่นหุ้น หรือ เก็งกำไรเกินควร ผลคือ ในเดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นตก 30% และส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงตลาดฮ่องกง การตกลงของหุ้นก็นำไปสู่การตกลงของตลาดโภคภัณฑ์ ทั้งนี้เพราะนักลงทุนซึ่งมีทั้งรายย่อยและรายใหญ่ต่างก็มีการเก็งกำไรทั้งตลาดหุ้นและตลาดโภคภัณฑ์ เช่น ยางพารา ผลคือ นอกจากราคาลดลงอย่างรุนแรงแล้ว ปัญหาที่ตามมาก็คือ กำลังซื้อของคนลดลง ภาวะของหนี้ทั้งในแง่ส่วนตัวและองค์กรเพิ่มขึ้น

            เศรษฐกิจยังเจอประเด็นปัญหาจากากรส่งออกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่สำคัญของจีนคือสภาพยุโรป ดังนั้นจากการชะลอตัวลงของตลาดต่างประเทศการส่งออกของจีนจึงถูกกระทบอีกทั้งประเทศคู่ค้า เช่น อเมริกา และอีกหลายประเทศยังมีการใช้มาตรการต่อต้านการอุดหนุน Anti-dumping กับสินค้าเหล็กและยางรถยนต์ เป็นต้น

            เศรษฐกิจจีนมีการผูกพันกับเศรษฐกิจโลกในฐานะที่เป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 และผูกพันกับไทยและอาเซียนมากเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้ว่าจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็น 10-12% ของส่วนแบ่งการตลาดของการส่งออกทั้งหมดของไทยและเป็นตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของไทย ประเทศอาเซียนที่เป็นตลาดส่งออกถ้านับเป็นกลุ่มประเทศก็นับว่าเป็นอันดับ 1 เป็นของไทย มีสัดส่วน 25-26% และทุกประเทศในอาเซียนก็มีความสัมพันธ์กับจีนแบบเดียวกันกับไทยในด้านส่งออกและท่องเที่ยว

            ดังนั้น ถ้าเกิดเศรษฐกิจจีนมีวิกฤต นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิโลกโดยรวมแล้วจะส่งผลกระทบต่อไทยและอาเซียนเป็นพิเศษ ซึ่งอาจมีผลรุนแรงมากกว่าช่วงวิกฤต Hamburger ในปี 2007-2008 ในส่วนที่กระทบกับไทยและอาเซียน ความจริงนั้นผู้เขียนได้เคยพูดเตือนเรื่องเศรษฐกิจจีนมาตลอด 3 ปี และภาพของปัญหาเริ่มชัดขึ้นตามลำดับ ดังนั้น การจับตาเศรษฐกิจจีนและการเตรียมการในเรื่องกลยุทธ์การปรับตัวของเศรษฐกิจไทยและธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ