งบการเงินเข้าใจได้ไม่ยาก
พรรณี วรวุฒิจงสถิต
ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่จ้างสำนักงานบัญชีเป็นผู้ทำบัญชีให้กับกิจการ โดยที่ผู้ประกอบการเข้าใจว่า การทำบัญชี การทำงบการเงินเพื่อส่งกระทรวงพาณิชย์ ส่งสรรพากร เป็นหน้าที่ของสำนักงานบัญชี แท้จริงแล้วตามกฎหมายภาระหน้าที่นี้เป็นของผู้ประกอบการที่ต้องรับผิดชอบ หากมีการทำบัญชีผิดพลาด ผู้ที่จะได้รับโทษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับ หรือร้ายแรงสุดมีโทษจำคุก ผู้รับผิดชอบคือตัวผู้ประกอบการเอง
ดังนั้น แม้ว่าผู้ประกอบการจ้างนักบัญชีทำบัญชี ไม่ว่าจ้างเป็นสำนักงานหรือเป็นพนักงานในกิจการ ผู้ประกอบการต้องมีความรู้เบื้องต้นในสิ่งที่เรียกว่างบการเงินว่าหมายความว่าอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งแม้ไม่มีความรู้ด้านบัญชี แต่ในฐานะเจ้าของ ผู้ประกอบการก็สามารถรับรู้ถึงความถูกต้อง หรือความผิดปกติของงบการเงินได้เป็นอย่างดี ซึ่งในกรณีนี้หมายความว่า กิจการต้องมีบัญชีชุดเดียว หากมีหลายชุด นอกจากงบการเงินนั้นไม่น่าเชื่อถือแล้ว ตนเองก็ไม่สามารถรู้ถึงความถูกต้องของทรัพย์สินหนี้สินที่แท้จริงได้ หรือแม้แต่กำไรขาดทุนก็ไม่ใช่ความจริง และยังทำให้มีโอกาสเกิดการทุจริต รั่วไหลโดยไม่สามารถควบคุมได้ ที่สำคัญการมีบัญชีหลายชุดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย
มาทำความเข้าใจงบการเงินอย่างง่าย ๆ จะว่าไปแล้วงบการเงินถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับตัวตนของกิจการที่คนภายนอกมองเห็นได้ว่าหล่อ สวย หรือขี้เหร่ เป็นคนมีฐานะดีหรือไม่ ขยันทำมากินเก่งแค่ไหน ดังนั้นทุกคนจึงต้องมีงบการเงินที่เชิดหน้าชูตาได้ ในทางมาตรฐานการบัญชี คำว่างบการเงินจะประกอบไปด้วย งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ และหมายเหตุประกอบงบการเงิน งบเหล่านี้เป็นบทสรุปที่ล้วนแล้วแต่ได้มาจากการทำบัญชีนั่นเอง
งบแสดงฐานะการเงินชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าแสดงถึงฐานะการเงินของกิจการตั้งแต่เริ่มจัดตั้งจนถึงปัจจุบัน ว่ามีสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนทุนอยู่จำนวนเท่าใด แสดงถึงฐานะของกิจการว่ารวยหรือจนอย่างไร ซึ่งจะไปสอดคล้องกับงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ ที่เป็นส่วนที่แสดงถึงกองทุนของกิจการว่ามีสะสมอยู่มากน้อยแค่ไหน แต่ละปีเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หากมีมากก็แสดงถึงความมั่งคั่งของกิจการ เพราะส่วนของเจ้าของนี้ แท้จริงก็คือส่วนที่เป็นยอดคงเหลือ จากสินทรัพย์ทั้งหมด หักด้วยหนี้สินทั้งหมดนั่นเอง
งบกำไรขาดทุน จะแสดงถึงผลประกอบการในแต่ละปี ให้เห็นถึงความสามารถในการหารายได้ แสดงรายการต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อการหารายได้นั้นๆ เมื่อสุทธิกันแล้วได้กำไรหรือขาดทุนกี่มากน้อย กำไรขาดทุนนี้จะถูกเก็บสะสมไว้ในบัญชีกำไรขาดทุนสะสมซึ่งอยู่ในส่วนของเจ้าของนั่นเอง ดังนั้นส่วนของเจ้าของจะเพิ่มขึ้นทุกปี หากกิจการมีกำไรทุกปี แต่หากขาดทุนก็จะไปลดมูลค่าของส่วนของเจ้าของให้ลดน้อยถอยลง
สำหรับหมายเหตุประกอบงบการเงินเป็นอะไรที่เขาให้เปิดเผยในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านงบการเงินได้มีความเข้าใจมากขื้น นอกจากจะเป็นการให้รายละเอียดประกอบบัญชีแต่ละบัญชีในงบการเงินแล้ว ยังเปิดเผยถึงนโยบายการบัญชีที่กิจการนำมาใช้ในการบันทึกจัดทำงบการเงิน และเปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่ไม่ได้บันทึกไว้ในบัญชี เช่น ภาระหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ งบการเงินจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นตัวตนของกิจการ ในเรื่องของฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะมีผลกระทบต่อฐานะของกิจการในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านผู้ประกอบการต้องจัดให้มีกระบวนการจัดทำงบการเงินที่เป็นที่เชื่อถึอได้ เป็นการเสริมสร้างเครดิตของท่านในการที่จะนำงบการเงินไปใช้ในการหาแหล่งเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมหรือหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนเพื่อการพัฒนาหรือขยายการดำเนินงาน ประกอบกับการรู้จักการวางแผนอย่างมีกลยุทธ์ ก็จะทำให้กิจการสามารถทำกำไร และเติบโตได้อย่างยั่งยืน