ทำอย่างไรดี เมื่อลูกเป็นสาวเร็ว ?
จากภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยของเด็กที่ดีขึ้นกว่าอดิต ส่งผลให้เด็กในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นสาวเร็วขึ้น สร้างความวิตกกังวลให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่อดห่วงกับภาวะความปลอดภัยของลูกหลานไม่ได้ อ.พญ.ไพรัลยา สวัสดิ์พานิช จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ความรู้เรื่องในเรื่องกลไกก้าวเข้าสู่วัยสาวว่า ต่อมใต้สมองและรังไข่เป็นอวัยวะสำคัญที่่ควบคุมการก้าวเข้าสู่วัยสาว ด้วยการผลิตฮอร์โมนเพศหญิง “เอสโตรเจน”
ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ดังนี้
1. ทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเป็นสาว มีหน้าอก, มีขนาดมดลูกโตขึ้น และเยื่อบุมดลูกหนาขึ้น
2. ทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันอายุกระดูกจะเร็วกว่าอายุจริง ทำให้หยุดการเจริญเติบโตเร็วกว่าเด็กที่เป็นสาวช้า
3. ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มขึ้น
4. ทำให้มีอารมณ์และจิตใจแปรปรวน
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายเด็กหญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงอันดับแรกคือ มีหน้าอก โดยเด็กหญิงมักมีประจำเดือนในระยะเวลา 2 ปี หลังจากมีหน้าอก ในช่วง 2 ปีแรกของการมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติที่ประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากร่างกายกำลังอยู่ในระยะปรับตัว โดยอายุเฉลี่ยของเด็กหญิงไทยที่มีประจำเดือนครั้งแรกจะมีอายุประมาณ 13 ปี
อาการที่แสดงว่าลูกมีแนวโน้มเป็นสาวเร็ว
เด็กหญิงที่มีหน้าอกก่อนอายุ 8 ปี ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินหาสาเหตุที่ทำให้เข้าสู่วัยสาวเร็วกว่าปกติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากต่อมใต้สมองส่งสัญญาณมากระตุ้นรังไข่ก่อนวัยอันควร ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ส่วนน้อยเกิดจากโรคหรือภาวะผิดปกติของรังไข่เอง หรือพยาธิสภาพของต่อมใต้สมอง การรักษาขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ป่วยซึ่งแต่ละคนมีมากน้อยแตกต่างกันทั้งนี้ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ย-ที่สำคัญการรักษายังช่วยลดปัญหาทางจิตใจและทางกายภาพของเด็กที่รู้สึกแตกต่างจากเพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกันอีกด้วย
ขอบคุณรูปจาก http://www.manager.co.th/