ผู้นำกับการสื่อสาร : สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์


ปราชญ์จีนสอนไว้ว่า “พบคนแปลกหน้า หาความดีของเขาให้เจอ ภายในครึ่งชั่วยาม แล้วเราจะเป็นใหญ่ได้ในแผ่นดิน”

          คำสอนของปราชญ์จีนข้างต้นนั้นจริง ๆ แล้วแฝงไว้ด้วยเรื่องของการสื่อสารโดยแท้ที่ผู้นำจะต้องตระหนัก เพราะจะว่าไปแล้วการที่เราจะรู้จัก รู้ใจ รู้มือกับใครได้นั้นก็ต้องอาศัยการสื่อสาร จะมานั่ง “มโน” อยู่อย่างเดียวก็คงจะไม่ได้เพราะบางครั้ง “ภาพลวงตา” หรือ “ดราม่า” ที่สร้างขึ้นนั้นอาจทำให้การประเมินสถานการณ์ในการมองคนผิดพลาดไปได้ อย่างที่ท่านคงเคยได้ยินอยู่เสมอ ๆ ว่า “คนเรานั้นจะดีต้องดีจากภายใน”  ดังนั้นจึงต้องมองทะลุมิติให้เห็นถึงภายในเนื้อแท้ของคนให้ได้อย่างรวดเร็วและแนบเนียนมากที่สุด ท่านจึงจะได้ชื่อว่าเป็น “ผู้นำ” ที่แท้จริง

         คนเรานั้น “ถ้าพูดแล้วฟังกันก็เข้าใจกัน” “ถ้าพูดแล้วไม่ฟังกันก็ไม่เข้าใจกัน”  “ถ้าต่างคนต่างไม่ฟังกันก็บาดหมางคลางแคลงใจกัน” และ “ถ้ามัวแต่จ้องจับผิดกัน ไม่มีใครได้กำไรหรือขาดทุนทั้งสองฝ่าย” แต่ในฐานะ “ผู้นำ” ท่านจะต้องอยู่ท่ามกลางคนหลากหลายประเภทที่มีที่มาแตกต่างกันทั้งสภาพแวดล้อม การศึกษาอบรมและจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ ผู้นำจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของคนและสภาพที่เป็นจริง ผู้นำบางคนอาจชอบให้ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานเรียกตัวเองว่า “นาย” หรือ “หัวหน้า”  ผู้นำบางคนอาจจะบอกลูกน้องว่าเรียกผมว่า “คุณ” หรือ “ผู้จัดการ” ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ถ้าท่านทำตัวดีมีคนศรัทธาเคารพนับถืออย่างแท้จริง การเรียกขานกันอาจจะไม่ต้องมีท่าทีศักดินามากนักก็ได้ใจลูกน้องอยู่แล้ว เคยสังเกตบ้างมั้ยครับว่า บางทีสังคมไทยเราเรียกผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือว่า   “คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา” หรือบางครั้งเรียกกันว่า “คุณพ่อ” “คุณแม่” เลยก็ยังมีทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเครือญาติกันสักนิด แต่เพราะผู้เรียกรู้สึกเคารพรักและสนิทใจที่จะเรียกเช่นนั้น อันเป็นเอกลักษณ์ที่ประเสริฐยิ่งของคนไทยซึ่งชาติอื่น ๆ อาจไม่มี

         สำหรับบรรยากาศในที่ทำงานนั้นการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กรหลาย ๆ ครั้งอาจเกิดความผิดพลาดหรือขุ่นข้องหมองใจกันได้จะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม  ดังนั้น “ผู้นำ” ที่ดีจึงควรให้ความสำคัญกับปัญหาและอุปสรรคในการสื่อสารเพราะโดยธรรมชาติแล้วการพูดจากันนั้นสามารถแสดงเจตนารมณ์ได้มากกว่าการเขียน เนื่องจากประสาทควบคุมการพูดนั้นเมื่อกลั่นกรองสิ่งต่างๆ แล้วก็สั่งการออกมาได้เลยจากความเป็นจริงของเจตนารมณ์นั้น ๆ “ผู้นำ” ที่ดีเมื่อทราบเช่นนี้แล้วจึงควรระมัดระวังการสื่อสารของตนเองให้รัดกุมมากที่สุด เพราะการพูดสามารถก่อให้เกิดผลทั้งต่อผู้พูดและผู้ฟังได้หลายประการ อาทิ พูดให้คนมีความสุข พูดให้คนภูมิใจ พูดให้คนมีความรู้สึกว่าเขาสำคัญ พูดให้คนมีความรู้สึกผูกพัน พูดให้คนเห็นคล้อยตามและเชื่อฟัง พูดให้คนเปลี่ยนทัศนคติหรือความเชื่อ พูดให้คนประนีประนอมกัน พูดให้คนยอมรับและรับฟังซึ่งกันและกัน พูดให้คนศรัทธา ยำเกรง และงดเว้นการกระทำก็ยังสามารถทำได้ในหลาย ๆ สถานการณ์ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้เลยก็ยังมีให้เห็นอยู่และนี่คืออิทธิพลของการสื่อสารด้วย “การพูด”  ขณะเดียวกัน การสื่อสารด้วย “การพูด” ก็อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาในทางตรงข้ามได้นั่นก็คือ การพูดที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ระมัดระวัง หรืออาจจะตั้งใจ ซึ่งเมื่อพูดไปแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีแต่ประการใดเลย อาทิ การพูดให้คนระแวงกัน การพูดให้คนขาดศรัทธาในบุคคลอื่น การพูดให้คนหลงใหล งมงายโดยการอ้างอำนาจลึกลับ การพูดให้คนโกรธกันและอาฆาตพยาบาท จองเวรกัน เป็นต้น

          อิทธิพลของการสื่อสารด้วยการพูดจึงมีความสำคัญมากต่อการรักษาสถานภาพบทบาทและการบริหารจัดการของ “ผู้นำ” ที่จะก่อให้เกิดความรัก ความศรัทธา และความน่าเชื่อถือที่มีต่อตัวผู้นำเป็นอย่างมาก คิดว่าท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวเหล่านี้ที่ว่า “พูดจาเหมือนคนคุ้นเคยกัน” “พูดเหมือนว่าไม่เคยรู้จักกัน”  “พูดอย่างกับคนแปลกหน้า”  “พูดเหมือนกับเพื่อนซี้” และ “พูดเหมือนคนโกรธเคืองกันมาแต่ชาติปางก่อน”  คนบางคนพูดจาและแสดงท่าทางใหญ่โตโอหังอลังการเพื่อให้คนรู้สึกว่าตนเองยิ่งใหญ่คับฟ้า แล้วคิดว่านั่นคือความยิ่งใหญ่ของตนเอง แต่พอมีคนที่ตนเองรู้สึกว่ายิ่งใหญ่กว่าเข้ามาอาการก็จะทุเลาลง คนประเภทนี้ก็มีให้เห็นอยู่อย่างดาษดื่นทั่วไป แต่ “ผู้นำ” ที่ดีคงเข้าใจความหมายที่ว่า “สำเนียงนั้นส่อภาษา ส่วนกิริยานั้นส่อสกุล” เป็นเช่นไรกันแล้วใช่มั้ยครับ?

 

………………………….

 

แด่ “ผู้นำ” ที่รัก

 

                       ถ้าเพียงแด่คุณแตะต้องสัมผัสฉันอย่างนุ่มนวล และพูดจากับฉันอย่างอ่อนโยน มองดูฉันและยิ้มให้ฉัน ฟังฉันพูดก่อนที่คุณจะชิงพูดเสียเองแล้ว ฉันก็จะเติบโตและงอกงามได้อย่างแท้จริง

 

คุณอมรเทพ  ดีโรจน์วงศ์

 

………………………….