สาเหตุที่จีนต้องลดค่าเงินลง : รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์


         ในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา ประเทศจีนประกาศลดค่าเงินหยวน 2 ครั้งเท่ากับเป็นการลดค่าเงินลงประมาณ 3.4% การประกาศลดค่าเงินหยวนของจีนนั้นทำให้วงการเงินมีความแปลกใจและส่งผลเป็นลูกโซ่ทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มลดลง ตลาดหุ้นและตลาดโภคภัณฑ์มีราคาลดลงกันอย่างทั่วหน้า ผลกระทบดังกล่าวทำให้มีการพูดกันทำนองว่า กำลังเกิดสงครามอัตราแลกเปลี่ยนโดยจีนเป็นตัวจุดประกาย

สาเหตุที่จีนต้องลดค่าเงินลงมีเหตุผลหลัก ๆ 2 ประการ คือ

        ประการแรก จีนต้องการที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่เรียกว่า competitive devaluation กล่าวคือเป็นการลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นการส่งออกและเป็นส่วนการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ถ้าวิเคราะห์เชิงลึกจะเห็นว่า จีนถูกแรงกดดันต้องลดค่าเงินลง แรงกดดันดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากประเทศจีนมีการส่งออกทรุดตัวลง เมื่อเดือนมิถุนายนยอดการส่งออกลดลงกว่า 8% ส่วนหนึ่งมาจากค่าแรงที่สูงขึ้น อีกส่วนมาจากค่าเงินของประเทศคู่แข่งอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่จีนแม้จะบริหารด้วย Managed float แต่ก็ค่อนข้างผูกติดกับดอลล่าร์ ดังนั้นเมื่อดอลล่าร์แข็งตัว หยวนก็แข็งตัวตาม ในขณะที่เงินสกุลอื่นที่เป็นคู่แข่งอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ จากการที่มีการคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งปีหลังนี้และยิ่งมีการพูดกันว่า อาจขึ้นในเดือนกันยายนนี้ นักลงทุนทั่วโลกจึงเริ่มเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศเกิดใหม่ มีการขายทิ้งตลาดหุ้นและขายพันธมิตร เพื่อมาซื้อสินทรัพย์ในรูปดอลล่าร์ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเกิดใหม่ซึ่งเป็นคู่แข่งจีนอ่อนตัวลง บริบทดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้จีนต้องประกาศลดค่าเงินหยวน

        ประการที่สอง ประเทศจีนลดค่าเงินหยวนมีเหตุผลสำคัญคือ ต้องการดำเนินมาตรการเปิดเสรีทางการเงินเพื่อที่จะมีสิทธิในการเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ กล่าวคือ ประเทศจีนต้องการเข้าสู่ระบบตะกร้าทางการเงินซึ่งหนุนหลัง IMF ที่เรียกว่า Special drawing rights (SDR) ทั้งนี้เงินใน SDR ได้แก่ ดอลล่าร์สหรัฐ ยูโร เยน และปอนด์ ซึ่งถือว่าเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ ประเทศจีนต้องการให้เงินหยวนเข้าสู่ระบบตะกร้าของ IMF โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือจีนต้องเปิดเสรีทางการเงิน รัฐบาลจีนเปิดเสรีทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากกรอบการค้าระหว่างประเทศตามด้วยกรอบบัญชีเดินเดินสะพัด ในช่วงหลังเปิดในกรอบการเคลื่อนย้ายเงินทุน การเปิดเสรีดังกล่าวนี้ครอบคลุมการเปิดเสรีในด้านอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย การลดค่าเงินหยวนเพราะต้องการให้หยวนสะท้อนถึงอุปทานและอุปสงค์ตลาดมากขึ้นแทนการกำหนดโดยธนาคารกลางจีน การลดค่าเงิน 2 ครั้งนี้จึงเป็นขั้นตอนในการปล่อยให้หยวนเป็นไปตามกลไกตามตลาดมากขึ้นและอีก 2 ปีข้างหน้าก็คงปล่อยให้ลอยตัว ในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน รัฐบาลจีนเปิดเสรีดอกเบี้ยด้วยการขาย certificate of deposit ให้สาธารณชนเท่ากับเป็นการให้ตลาดเป็นตัวชี้ขาดด้านอัตราดอกเบี้ยแทนที่ถูกกำหนดโดยธนาคารกลาง ความจริงธนาคารกลางจีนเริ่มเปิดเสรีดอกเบี้ยด้วยการยกเลิกอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำปี 2013 ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการค่อยยกเลิกอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูง โดยในที่สุด จะให้อุปทานอุปสงค์ตลาดกำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงซึ่งก็เข้าสู่เงื่อนไขการเปิดเสรีทางการเงินเพื่อเปิดโอกาสเข้าสู่ระบบตะกร้าของ IMF และกลายเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ

         การลดค่าเงินของจีนทำให้มีการพูดกันว่า จีนกำลังจุดประกายของการก่อสงครามอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าการก่อสงครามอัตราแลกเปลี่ยนมีความหมายว่า ประเทศต่าง ๆ ต่างฝ่ายต่างลดค่าเงินเพื่อต่อสู้ ถ้ามองในแง่นี้คงไม่ใช่สงครามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างแน่นอน เพราะการกระทำดังกล่าวจะนำไปสู่หายนะของทุกประเทศที่ทฤษฎีเกมเรียกว่า Negative sum game ซึ่งโดยตรรกะแล้วจะไม่มีใครทำ ซึ่งถ้าหากมองในทำนองว่าเป็นช่วงของการปรับดุลยภาพอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่างๆ กำลังปรับดุลยภาพจะมากน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละประเทศ ประเทศเศรษฐกิจแย่ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง จะมีการอ่อนตัวลงของอัตราแลกเปลี่ยนสูง เช่น โคลอมเบียมีค่าเงินอ่อนตัว 40% เวเนซุเอลาอ่อนตัวมหาศาล ทั้งนี้เพราะทั้ง 2 ประเทศพึ่งพาการส่งออกน้ำมันโดยมีสัดส่วน 40% และ 90% ของ GDP ในกลุ่มประเทศอาเซียนก็เช่นเดียวกัน เงินริงกิตของมาเลเซียจะอ่อนค่ามากเพราะพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน อย่างไรก็ตาม จะอ่อนค่ามากขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศในประเทศเกิดใหม่ซึ่งหมายถึงการไหลออกจากตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ถ้าไหลออกเยอะค่าเงินยิ่งอ่อนตัวสูง อย่างไรก็ตาม การไหลออกของนักลงทุนต่างประเทศก็มีสหสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ กล่าวคือ ประเทศไหนขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ประเทศไหนอัตราเติบโตต่ำ ประเทศนั้นก็จะมีเงินไหลออกมาก กล่าวคือ ปรากฏการณ์ลดค่าเงินของจีนจึงเป็นส่วนหนึ่งของภาพฉายการปรับดุลยภาพของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในขณะนี้เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และรองรับกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐนั่นเอง

        ผลกระทบของการลดค่าเงินของจีนต่อไทยนั้นจะทำให้การส่งออกของไทยไปจีนลดลงไปบ้างและส่งออกภาพรวมจะถูกกระทบบ้าง เนื่องจากค่าเงินจีนอ่อนค่า และส่งผลต่อค่าเงินประเทศคู่แข่งอ่อนค่า นอกจากนี้ จีนอาจนำเข้าลดลง เนื่องจากค่าเงินอ่อนค่า

        โดยสรุป การลดค่าเงินของจีนอาจเป็นการซ้ำเติมการส่งออกของไทยให้ลดลงไปบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนของไทยว่าจะปรับตัวอย่างไร