กฎหมายลิขสิทธิ์ ในยุคอินเตอร์เน็ตที่ไร้ขอบเขต : อ.นิติ เนื่องจำนงค์


        สวัสดีท่านผู้อ่านและชาว Smart SME ทุกท่านครับ ฉบับนี้ผมคงต้องตามใจหลายๆท่านที่ได้สอบถามผมถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ ภายใต้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ทีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมานี้  

        หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ในช่วงที่ผ่าน หลายคนให้ความสนใจและมีการพูดถึงกันยังแพร่หลาย พร้อมทั้งมีข้อสงสัยคำถามตามมาเยอะแยะมากมาย ทั้งการนำข้อความ ภาพถ่าย คลิป การดาวน์โหลด ไม่จะใช้เพื่อการโพสต์เองโดยตรง หรือการกดแชร์ การกดลิงค์ การใช้ส่วนตัวกับทางการค้าจะทำได้มากน้อยเพียงใด จะมีความผิดหรือไม่  และจะรู้ได้อย่างไรว่าเนื้อหาหรือภาพได้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตั้งแต่เมื่อใด คำถามเหล่านี้และอีกมากมายได้เป็นที่พูดถึง โดยสังคมเริ่มเกิดความสับสน กังวลต่างๆ ผมขอนำเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์มาสรุปให้ชาว Smart SME ได้ทราบกันนะครับ

          ก่อนอื่นผมต้องขอเรียนว่ากฎหมายลิขสิทธิ์นั้นไม่ใช่กฎหมายใหม่ ฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนเท่านั้น ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยกฎหมายให้ความคุ้มครองทันทีที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานนั้นออกมา ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนบทประพันธ์ คนถ่ายภาพ คนเขียนข้อความ คลิปต่างๆ คนจัดฉากละคร นักแสดง พิธีกร ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ทันทีที่ได้มีการสร้างสรรงานนั้นออกมา และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทันที ทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่างานอันมีลิขสิทธิ์นั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างหลายรูปแบบ ผมขอจำแนกเป็นกรอบหลัก ๆ สำหรับการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต โดยมีหลักดังนี้

แบบที่ 1 การใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของคนอื่น โดยการใช้ส่วนตัว (ที่ไม่ได้หากำไรหรือไม่เพื่อประโยชน์ทางธุระกิจ) สามารถทำได้ เพียงแต่เมื่อมีการเอามาใช้นั้น ห้ามดัดแปลง ตัดต่อ เพิ่มเติม แก้ไข และให้อ้างแหล่งที่มา 

แบบที่ 2 การใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของคนอื่น เพื่อประโยชน์ทางการค้า เพียงแค่อ้างแหล่งที่มาไม่เพียงพอครับ ต้องขออนุญาตจากเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ก่อน

         ช่องทาง Social media สำคัญมากขึ้นเรื่อย เพราะมีการใช้ช่องทางนี้เยอะมากขึ้นและง่ายต่อการสื่อสาร ให้ดูแบบที่ 1  หรือ แบบที่ 2 ครับ เนื่องจากบางท่านใช้ช่องทางนี้เพื่อการค้า ซึ่งจะทำให้เข้าแบบที่ 2 ครับ โดยในช่องทาง Social media นั้น บางช่องทางสามารถบอกได้ว่าผู้สร้างสรรงานต้องการให้สาธารณชนเข้าถึงและใช้ได้ เช่นการโพสต์แล้วตั้งสถานะว่า (public) อย่างไรก็ดีโดยการใช้ส่วนตัว การกดแชร์ การกดลิงค์ มีข้อควรระวังเพิ่มเติมนะครับ ในกรณีที่ถึงแม้จะใช้ส่วนตัวผมก็แนะนำให้อ้างแหล่งที่มาให้ชัดเจน นอกจากประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งที่มาของต่อผู้อื่นแล้ว อย่าลืมว่าข้อมูลเหล่านั้นเราไม่ได้สร้างขึ้น ดังนั้นข้อมูลเหล่านั้นอาจไม่จริงหรือไม่ถูกต้องก็ได้ ซึ่งการกระทำนั้นอาจทำให้เราต้องรับผิดจากกฎหมายอีกหนึ่งฉบับคือ พระราชบัญญัติความรับผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็ได้นะครับ

        ถึงตรงนี้ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ขอเรียนกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้น่ากลัวและลำบากอย่างที่คิด เพียงแต่เราต้องรู้จักให้เครดิตและบอกแหล่งที่มาของงานอันมีลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เพราะเราไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์งานนั้น ๆ ทั้งนี้เจตนาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นทางการค้าต้องขออนุญาตก่อน สุดท้ายนี้สังคมเราคงต้องยอมรับว่าเนื้อหา ข้อความ คลิปต่าง ๆ ที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตเยอะแยะมากมายนั้น ข้อมูลทั้งหมดนั้นถึงแม้จะง่ายต่อการเข้าถึง แต่ก็ล้วนแล้วเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์โดยมีผู้สร้างสรรค์งานที่เราทุกคนต้องเคารพสิทธิครับ

 

.นิติ เนื่องจำนงค์

ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายศรีปทุม

Nerngchamnong.niti@gmail.com

Niti.ne@spu.ac.th