มาเช็คกัน คุณเป็น “โรคโนโมโฟเบีย” หรือเปล่า ?


มาเช็คกัน คุณเป็น “โรคโนโมโฟเบีย” หรือเปล่า ?
        ในยุคนี้ที่มือถือสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าการพูดคุยสนทนา  ไม่ว่าจะเป็นการแชตพูดคุย เล่นเฟซบุ๊ค สั่งซื้อออนไลน์ เล่นเกม ช็อปปิ้งออนไลน์ และกิจกรรมอื่น ๆอีกมากมาย ทำให้หลายคนอาจเป็นโรคติดโทรศัพท์หรือ “โนโมโฟเบีย”  แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต  ให้ความรู้ว่า  “โนโมโฟเบีย (nomophobia)” มาจากคำว่า โนโมบายโฟนโฟเบีย (no mobile phone phobia) หรืออาการขาดมือถือไม่ได้ จัดอยู่ในกลุ่มอาการวิตกกังวล มาสังเกตดูว่าคุณมีอาการของโรคนี้หรือไม่
-เมื่อมีมือถือแต่ใช้การไม่ได้ จากอยู่ในที่ไม่มีสัญญาณ หรือแบตเตอรี่หมด จะรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย บางรายหากเป็นมาก อาจเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ได้
-มักพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา จะรู้สึกกังวลใจหากมือถือไม่ได้อยู่กับตัว
-หมกมุ่นอยู่กับการเช็คข้อความ/ ข้อมูลในมือถือตลอดเวลา
-ดูโทรศัพท์บ่อยๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน
-เมื่อได้ยินเสียงเตือนเข้ามาจะวางงานเพื่อเช็คข้อความในมือถือทันที
-เล่นมือถือก่อนนอน หลังตื่นนอน หรือขณะที่ทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถหรือนั่งรถ
-ไม่เคยปิดมือถือ
-ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า
        พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน  ทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น นิ้วล็อค สายตาเสื่อมเร็ว  กล้ามเนื้อที่คอ บ่า ไหล่เกร็งและปวดเมื่อย จากการก้มหน้าเพ่งจอเป็นเวลานาน  และทำให้หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัยอันควร  อาจทำให้เส้นประสาทสันหลังที่บริเวณส่วนคอ ถูกกดทับ เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง หรือเดินโคลงเคลงเหมือนจะล้ม  อาจเกิดโรคอ้วนได้ง่ายจากการนั่ง
อยู่กับที่นานๆ  ดังนั้นจึงต้องสร้างวินัยในการใช้มือถือ  ควรใช้เท่าที่จำเป็น  ทำกิจกรรมอื่นทดแทน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย  ถ้ารู้สึกเหงาให้หาเพื่อนคุยแทนการสนทนาผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์   ตั้งกฎว่าจะไม่แตะต้องมือถือภายในเวลาที่กำหนดเช่น 30 นาที 1 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาห่างมือถือให้มากขึ้น หรือ กำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดมือถือ  ทั้งนี้ ผลสำรวจทั่วโลกพบว่า คนที่เกิดอาการโนโมโฟเบีย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นมากกว่าวัยทำงาน เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีเพื่อนมาก ชอบเล่นเกม ชอบเที่ยว ชอบทำกิจกรรมมากมาย จึงส่งข้อมูลผ่านมือถือถึงกันบ่อยๆ  สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจของสมาคมโฆษณาดิจิทัลปี 2557 พบมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 94.3 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 5.4 ล้านเครื่อง
ขอบคุณรูปจาก http://news.tlcthai.com/