9 ขั้นตอนกลยุทธ์การสอน เพื่อปรับใช้ในการทำงาน : ดร.พนม ปีย์เจริญ


          การตรึงผู้เรียนรู้ให้อยู่กับผู้สอนได้ตลอดเวลาหรือให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากแต่ก็ไม่ยากเกินความพยายาม หากเรารู้หลักการ ขั้นตอน และจิตวิทยาในการสอน ไม่ว่าจะเป็นการสอนงาน หรือการสอนของวิทยากร หรือครูผู้สอนก็ตาม ดังนั้นครูผู้สอนจะต้องเข้าใจหลักการต่าง ๆในการสอนต่าง ๆ ดังนี้

1. สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ ครูผู้สอนจะต้องทำหน้าที่สร้างแรงจูงใจด้วยการกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้เกิดความรู้สึกขณะเรียนรู้ ดังต่อไปนี้

                1.1 เกิดความท้าทาย (Challenge) ที่อยากได้ใคร่รู้ในสิ่งที่ผู้สอนกำลังนำเสนอ อันเป็นการสร้างความกระหาย อยากจะรู้ว่าถ้าหากทำดังนั้นแล้ว ผลลัพธ์ในอนาคตที่ดีจะออกมาเป็นอย่างไร

                ลักษะการกระตุ้นให้เกิดความท้าทายเช่นนี้เหมาะแก่วัยเริ่มต้นหนุ่มสาวที่มีความกระหายอยากรู้อยากเห็น อยากทำในสิ่งที่แตกต่าง และท้าทายมากกว่าการทำอะไรที่ธรรมดาๆ พื้นๆ เพราะเขาเหล่านั้นไม่กลัวความเสี่ยงพร้อมจะล้มและลุกขึ้นมาใหม่ได้อีกหลายครั้ง

                1.2 ความใฝ่ฝัน (Ambition) หน้าที่ของครูผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความใฝ่ฝัน โดยเฉพาะคนในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว กลุ่มคนเหล่านี้ ฝันของเขาจะใหญ่และกว้าง ซึ่งต่างกับคนที่มีอายุมากๆที่ความฝันของเขาจะแคบ และเล็กลงเรื่อยๆตามวัยของเขา ต้องกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้คนวัยหนุ่มสาวมีความทะเยอทะยาน เพราะเขาเหล่านั้นยังมีกำลัง มีโอกาส มีเวลา และเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวตนของตัวเองที่แท้จริง ครูผู้สอนต้องทำหน้าที่เป็นไฟส่องทางให้เขาเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ ในฝันที่ที่เขามี และเพิ่มโอกาสให้ฝันของเขาเป็นจริงได้มากขึ้น

                1.3 ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) ครูผู้สอนต้องทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นแก่ผู้เรียน ด้วยโจทย์ที่น่าสนใจ ด้วยคำถามที่น่าค้นหา ด้วยกระบวนการที่ทำให้กระหายอยากรู้คำตอบ

                ครูผู้สอนต้องเป็นนักผูกเรื่องที่น่าสนใจ ทำให้ผู้เรียนรู้ค่อยๆเห็นภาพของคำตอบทีละท่อน ทีละท่อน แต่เดาภาพรวมยังไม่ออก จนกว่าการเรียนการสอนจะจบลง

2. เรียนทำไม รู้แล้วจะได้อะไร ผู้สอนต้องอธิบายให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าปลายท่อแห่งแสงสว่างของความสำเร็จจากการเรียนรู้ ผู้เรียนจะได้พบกับอะไรบ้าง ดังนั้นผู้สอนจึงต้องบอกวัตถุประสงค์ในการเรียนการสอนให้ชัดว่าให้ทำอะไรเพื่ออะไร ต้องรู้เรื่องนี้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อะไร เป็นต้น

3. เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้ที่มาที่ไปของเรื่องที่เรียนรู้พร้อมกับเห็นวิวัฒนาการของสิ่งที่กำลังจะเรียนรู้ว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สิ่งที่กำลังเรียนรู้มันมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร เพื่อทีผู้เรียนจะได้เห็นความเติบโตเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เรียนรู้

4. เร้าให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ก่อนเข้าสู่เนื้อหา ผู้สอนต้องทำหน้าที่วอร์มอัพผู้เรียนด้วยการเร้าความสนใจผู้เรียนให้เกิดความอยากได้ใคร่รู้ในเรื่องที่กำลังจะสอนพวกเขา ให้เกิดความกระหายรู้ อันเป็นเรื่องสำคัญมากในการสอน เพราะถ้าหากเราสามารถทำให้เขาสนใจ อยากรู้อยากเห็นได้แล้ว ผู้เรียนจะตั้งใจฟัง พร้อมกับคิดตามกับสิ่งที่เรานำเสนอ เพื่ออยากจะค้นหาบทสรุปตอนท้ายของการเรียนการสอนเรื่องนั้นๆ

5. เนื้อหาในการเรียนต้องตอบโจทย์ได้ชัด ในการที่ผู้สอนสร้างสิ่งเร้าในช่วงแรกของการสอนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้ผู้เรียนสนใจเนื้อหาที่เรียน จะดีกว่านั้นอีกหากเนื้อหาที่เขาตั้งใจฟังนั้นสามารถตอบคำถามในใจของเขาได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันเนื้อหาต่างๆที่เราสอนนั้นสามารถทำให้เราสามารถตอบโจทย์หรือวัตถุประสงค์ได้ครบทุกข้อข้องใจของผู้เรียนเช่นเดียวกัน ทั้งในขั้นของ

                – ความรู้ (knowledge)

                – ทักษะ (Skill)

                – ทัศนคติ (Attitude)

– ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้เกิดความทะยานอยากหรือกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้มากพอ หรือไม่

– เนื้อหาในการเรียนเหมาะกับเพศ วัย หรือพื้นฐานความรู้หรือไม่

6. ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ผู้สอนต้องมีเทคนิคในการกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้เกิดความกระหายที่อยากจะเรียนรู้ สิ่งนี้เป็นหน้าที่สำคัญของผู้สอนที่จะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้เกิดความสนใจใคร่รู้ในทุกช่วงขณะของการเรียนรู้ เพื่อทำให้ผู้เรียนสนใจ พร้อมๆกับเข้าใจในสิ่งที่ผู้สอนอยากให้ผู้เรียนได้เข้าใจในสิ่งที่ผู้สอนเข้าใจ

7. ชี้แนะหนทางแห่งการพัฒนา ครูที่ดีคือที่ปรึกษาที่ดี นั่นหมายถึงว่าครูผู้สอนนั้นต้องมีจิตใจที่มีความเมตตาค่อนข้างสูง มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้กับศิษย์อย่างเต็มอกเต็มใจ ตลอดจนมีความสุขกับการได้อธิบาย ชี้แนะ แนะนำหนทางแห่งการพัฒนาให้ศิษย์มีความเจริญก้าวหน้าไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

8. วัดความก้าวหน้าจากการประเมินการเรียนรู้ ผู้สอนที่ดีควรมีดัชนีชี้วัดการเรียนรู้ของผู้เรียนในหลากหลายวิธีชี้วัดความก้าวหน้าของผู้เรียนว่าได้รับรู้และเรียนรู้ไปได้มากน้อยเพียงใด ทั้งจากการให้ทำแบบฝึกหัดที่ออกแบบมาอย่างมีคุณภาพในการวัด มีความหลากหลาย ครอบคลุม น่าสนใจ ท้าทาย สนุกเรียน สนุกรู้ หรือประเมินจากการพูดคุยซักถามทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ว่าผู้เรียนมีวิวัฒนาการในการเรียนรู้ไปมากน้อยเพียงใดกับการถ่ายทอดในรูปแบบต่างๆของเรา

9. กระตุ้นให้รู้จักคิด วิเคราะห์ และจดจำ การกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้ รู้จักคิดวิเคราะห์ที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นกลวิธีของผู้สอนที่จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกกับการคิดวิเคราะห์หาคำตอบที่เป็นเหตุเป็นผลอย่างสนุกสนาน เป็นความสามารถของครูผู้สอนที่จะหาโจทย์ที่ท้าทาย เหมาะสม สอดคล้องกับเรื่องที่สอน เหมาะสมกับวัย, อาชีพ, อายุ ของผู้เรียน อันจะมีส่วนทำให้ผู้เรียนได้แนวคิดใหม่ๆจากการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง และได้คำตอบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นก็จะทำให้ผู้สอนได้รู้ว่าผู้เรียนมีความเข้าใจกับสิ่งที่สอนมากน้อยเพียงใด

                ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของหลักการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ สนใจ และพึงพอใจกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการเรียนรู้ในอนาคตข้างหน้า