ปกติแล้วบริษัททุกแห่งปรารถนาให้พนักงานของบริษัทมีความรักและผูกพันกับบริษัท ตั้งใจจะทำงานกับบริษัทไปแม้ไม่ถึงขั้นตราบชั่วฟ้าดินสลาย แต่ตราบนานเท่านั้น จะลาออกต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เช่น มีการย้ายภูมิลำเนา จำเป็นต้องไปเรียนต่อ เป็นต้น แต่ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติในชีวิตแล้วก็พอใจที่จะทำงานอยู่กับบริษัทที่ทำอยู่
เมื่อใดจำเป็นต้องลาออกก็แสดงความอาลัยอาวรณ์ หลั่งน้ำตาในงานเลี้ยงอำลา ไม่ใช่ประกาศความดีใจที่จะได้พ้นทุกข์พ้นโศก ลิงโลดเหมือนกับได้ออกจากคุกตะราง…….แฮ่
เพราะถ้าบริษัทแน่ใจว่าพนักงานจะทำงานกับบริษัทยาวนาน บริษัทก็จะได้ประโยชน์จากประสบการณ์ของพนักงาน เพราะคนเรานั้นโดยธรรมชาติเมื่อทำงานนานเข้าคุณภาพก็ควรเพิ่มขึ้นด้วย อย่างน้อยก็คือความชำนาญไงครับ แต่ก็มีเหมือนกันนะครับ พวกที่เกิดเป็นคนแต่ไม่ได้เป็น “เวไนยสัตว์”ตามหลักพุทธศาสนาหมายถึงเป็นสัตว์ที่สอนได้ แต่กลับเป็นสัตว์ที่สอนไม่ได้หรือเรียนไม่เป็น ทำงานนานเท่าไหร่ก็ไม่พัฒนา เอาแต่ทำงานซ้ำซากแถมบางทียังรู้มากเอาเปรียบบริษัทมากขึ้น แย่กว่าเดิมเสียอีก
ถ้าเป็นประเภทหลังนี่ ทางบริษัทก็คงไม่เสียดายหรอกถ้าจะลาออก เผลอ ๆ บริษัทจะหาทางกำจัดพนักงานประเภทนี้ด้วยซ้ำไป แต่โดยทั่วไปแล้วคนเรายิ่งทำงานก็น่าจะพัฒนาดีขึ้นทั้งนั้น เพราะฉะนั้นแต่ละบริษัทมักพยายามหาทางจูงใจให้พนักงานมีความพอใจที่จะทำงานกับบริษัทไปตลอด
เพราะถ้าแน่ใจว่าพนักงานจะอยู่ยาวกับบริษัท ทางบริษัทจะทุ่มเทลงทุนในการพัฒนาพนักงานก็จะทำด้วยความสบายใจ เพราะเป็นการหว่านพืชโดยหวังผลได้แน่นอน ส่งไปอบรมเสียเงินเสียทอง ทุ่มทุนให้ไปดูงานต่างประเทศ มีความรู้ความสามารถมากขึ้นก็จะใช้ศักยภาพในการทำประโยชน์ให้กับบริษัทคุ้มหรือบางทีอาจเกินคุ้มกับที่ลงทุนไป
ไม่ใช่อุตส่าห์พัฒนาจากพนักงานไร้เดียงสากลายเป็นคนมีฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่พอมีโอกาสกลับขอลาออกไปอยู่บริษัทอื่นเสียนี่ เพราะเท่ากับสร้างคนให้กับบริษัทอื่น เจอแบบนี้เข้าไม่กี่ราย บริษัทก็ไม่อยากพัฒนาพนักงานแล้ว ใครจะมีกำลังใจลงทุนเพื่อการสูญเปล่าละครับ อย่าทำให้เก่งขึ้นมาเลยเดี๋ยวไปที่อื่น ปล่อยให้โง่ดักดานแบบนี้แหละ มันจะได้ไม่มีทางไป เป็นอย่างนั้นไป
ดังนั้นทุกบริษัทต้องมีนโยบายหรือกลยุทธที่จะทำให้พนักงานเมื่อเข้ามาแล้วแม้จะไม่ถึงขั้นรักแต่ก็ต้องพอใจที่จะทำงานไปกับบริษัท โดยไม่มีอาการวอกแวก นั่งหรือยืนทำงานอยู่กับเรา แต่สายตาสอดส่ายหาช่องทางที่จะไปอยู่กับบริษัทอื่น หว่านใบสมัครไว้ที่โน้นที่นั่น พร้อมเสมอที่จะลุกออกจากที่เดิมเพื่อไปทำงานที่ใหม่
โดยปกติสิ่งที่จูงใจให้พนักงานอยู่กับบริษัทได้มากที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์” เพราะแม้ไม่ค่อยจะมีใครสารภาพว่าเป็นคนเห็นแก่ได้ แต่เชื่อเถอะถ้าจะได้ไม่มีใครรังเกียจ หรือถ้าไม่ได้ก็อาจไม่เห็นอะไร……..ฮ่า
เพราะฉะนั้น บริษัทไหน เงินเดือนดี รายได้งาม สวัสดิการแยะ ย่อมเป็นบริษัทที่ใคร ๆ ก็อยากเข้าทำงานและหากมีโอกาสทำงานแล้วก็ไม่ยอมลาออกไปไหน แถมยังกลัวโดนให้ออกเสียอีก ซึ่งถ้ารู้สึกขนาดนั้นก็จะขยันขันแข็งแข่งกันเป็นพนักงานดีเด่น เพื่อที่บริษัทจะได้พอใจอยากอนุรักษ์ไว้เพราะมีคุณค่ากับบริษัท ไม่เก็บคนประเภทนี้ไว้แล้วจะให้บริษัทจำเริญรุ่งเรืองได้อย่างไร
แต่สิ่งที่อยากเสนอในบทความนี้คือสิ่งที่อาจไม่ใช่ผลประโยขน์แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้พนักงานมีความผูกพันและอยากทำงานกับบริษัท นั่นก็คือ “ความภาคภูมิใจ” จึงได้ตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า “กินไม่ได้แต่เท่”ไงละครับ เพราะเรื่องอย่างนี้ทำให้พนักงานยืดอกเข้าสู่สังคมได้อย่างสง่าผ่าเผยไม่ใช่พูดคุยกับใครก็ไม่กล้าบอกว่าทำงานที่ไหน อะไรอย่างนี้เป็นต้น
คนสองคนทำงานประเภทเดียวกันแต่คนละแห่ง คนหนึ่งอาจจะเป็นคนชอบคุยอวดว่าตนเองทำงานที่ไหนแต่อีกคนหนึ่งอาจกระมิดกระเมี้ยนไม่ยอมบอกใครว่าทำงานที่ไหน เช่น ทั้งสองคนทำงานโรงแรม คนหนึ่งทำงานโรงแรมห้าดาวระดับอินเตอร์มีสาขาทั่วโลก แต่อีกคนหนึ่งทำงานโรงแรมม่านรูด แน่นอนครับคนหลังนี่ใครถามว่าทำงานที่ไหนคงตอบอ้อมแอ้มว่า “โรงแรมแห่งหนึ่ง” แล้วรีบปลีกตัวจากไปไม่เปิดโอกาสให้ถามว่า “โรงแรมอะไร” ผิดกับคนแรกที่อาจจะไม่รอให้คนถาม แต่รีบแนะนำตัวเองว่าทำงานที่ไหน แถมยังแจกนามบัตรอีกด้วย
เพราะฉะนั้นผู้คนจึงพยายามหาช่องทางทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียงหรือมีสินค้าคุณภาพดีเด่นเป็นที่ยอมรับของสังคม เหตุเพราะอิทธิฤทธิ์ของสิ่งที่เรียกว่า “กินไม่ได้แต่เท่” หรือ “ความภาคภูมิใจ” มีส่วนอยู่ เห็นด้วยไหมครับ ผมเองก็เจอมนตราบทนี้กับเขาเหมือนกัน จึงขอนำมาเล่าให้ฟัง
เมื่อตอนผมเรียนจบและอยากเป็นอาจารย์ แต่เดิมไม่ได้ตั้งใจจะเป็นอาจารย์รามคำแหงหรอกครับ เพราะตอนนั้นรามคำแหงเพิ่งตั้งใหม่ ๆ ยังไม่มีชื่อเสียงและทำท่าจะมีชื่อเสียด้วยซ้ำไป เนื่องจากรับสมัครนักศึกษาโดยไม่คัดเลือก เลยโดนปรามาสจากนักวิชาการทั้งหลายว่าคงยากที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีได้ บางคนทำนายว่าจะกลายเป็นซ่องโจรโน้นแน๊ะ
แต่ไปสมัครที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่เคยเรียนมาเขาก็ไม่รับ จึงต้องซมซานมารามคำแหง ด้วยความตั้งใจว่าจะอยู่ที่นี่สักพักพอปีกกล้าขาแข็งค่อยหาทางขยับขยายไปอยู่ที่อื่น ที่คิดอย่างนั้นก็เพราะเสียววิพากษ์วิจารณ์ของสังคมขณะนั้น แต่ไป ๆ มา ๆ ผมกลับอยู่รามคำแหงชั่วชีวิตการทำงานประจำเลยละครับ อยู่จนได้เป็นหัวหน้าซ่องโจร เอ๊ย…..อธิการบดี ก็เพราะ “กินไม่ได้แต่เท่”นี่แหละครับ
ผมโดนคาถาของอธิการบดีท่านแรกของมหาวิทยาลัยในวันปฐมนิเทศอาจารย์ใหม่ ผมยังจำได้และนำมาใช้สมัยผมเป็นอธิการบดี ในขณะที่เราเข้าทำงานเพราะความจำใจหางานที่อื่นยังไม่ได้ ท่านกล่าวว่า
“ขอให้อาจารย์ทุกคนจงภาคภูมิใจที่ได้เป็นอาจารย์รามคำแหง เพราะเราทำงานสำคัญให้กับสังคมยิ่งกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยไหน ลองคิดดูซี อาจารย์ที่อื่นทำงานง่ายจะตาย เอาเอ็นทรานซ์ไปคัดเด็กเก่ง ๆ ไปสอน แต่อาจารย์รามคำแหง ต้องเอาเด็กที่เอ็นท์ไม่ติด เอาคนที่ทำงานแล้วแล้วแต่ยังอยากเรียน เอาคนแก่แล้วแต่อยากเรียน เราต้อง “ปั้นดินให้เป็นดาว”
คำว่า “ปั้นดินให้เป็นดาว” นี่สะกดผมให้เต็มอกเต็มใจและภาคภูมิใจในการเป็นอาจารย์ที่รามคำแหง อยู่ยาวนานจนใครต่อใครเรียกว่า “สอนราม”……..แฮ่
เพราะฉะนั้น จึงอยากแนะนำบริษัทต่าง ๆ ว่านอกเหนือจากรายได้และสวัสดิการดี ๆ แล้ว อย่าลืมนะครับ มีสิ่งที่เรียกว่า “กินไม่ได้แต่เท่” หรือ “ความภาคภูมิใจ”ที่เอามาผูกพนักงานให้อยู่กับบริษัท ลองหาจุดที่จะนำไปสู้ความรู้สึกนี้ทางใดทางหนึ่ง เช่น มาช่วยกันเป็นแนวหน้าในการสร้างบริษัท มาช่วยกันทำให้คนไทยมีความสุขกับผลิตภัณฑ์ของเรา สินค้าเรามีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร
ลองหาแง่มุมที่จะใช้เป็นพลังผลักดันให้พนักงานเกิดความรู้สึก “ความภาคภูมิใจ” จะทำให้ได้พนักงานที่มีประสิทธิภาพขึ้น