ปัจจัยหนุน Startup ให้พบโอกาสประสบความสำเร็จ : ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์


พอดีวันก่อนได้มีโอกาสอ่านบทความของคุณไว ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา มาครับผมเห็นว่าเป็นประโยชน์มากเลยขออนุญาตนำมาส่งต่อนะครับ

          เริ่มแรกอยากให้ลองมองย้อนไปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การจ้างงานและการเติบโตของเศรษฐกิจปริมาณมหาศาลของสหรัฐอเมริกาล้วนเกิดจากธุรกิจไฮเทค เช่น Apple, Amazon, Google, Salesforce, VMware, Facebook, Twitter, Groupon, และ Zynga ลองนึกภาพตามดูนะครับว่า GDP ของสหรัฐเท่ากับ 15 ล้านล้านเหรียญ ถ้าลองนับเฉพาะ 9 บริษัทนี้ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา แต่กลับพบว่าสามารถสร้าง GDP ได้เกือบ $1 ล้านล้านเหรียญทีเดียว โลกเราตอนนี้กำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาสู่การปฏิวัติของข้อมูลสารสนเทศ เรามีผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมากกว่า 2,000 ล้านคน ซึ่งในที่นี้พวกเขาก็ใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย นี่คือโครงสร้างพื้นฐานในการใช้ชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนไป

           เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการเทคโนโลยีโดยเฉพาะ Startup จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคนี้ คนเหล่านี้จะเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่าง และนำมาซึ่งการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในหลายๆ ภาคธุรกิจ จะว่าไปบริษัทไฮเทคโนโลยีล้วนเข้าไปแทรกแซงและแผ่กระจายแทบจะในทุกภาคส่วนทุกกลุ่มของสังคม และในอีกด้านหนึ่งบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่แต่ไม่ได้ปรับตัวหรือปรับตัวช้าเกินไป ก็จะถูกเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปแทนที่ และแน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ของเหล่าบรรดา Startup ก็สามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้แก่ผู้บริโภคได้มากกว่าเสียด้วย ยกตัวอย่างเช่น

Kodak โดนเข้าทดแทนโดย Instagram

Borders Books (ร้านหนังสือ) โดนเข้าทดแทนโดย Amazon

Tower Records โดนเข้าทดแทนโดย Apple (iTunes) และ Spotify

โรงแรมต่างๆ โดนเข้าทดแทนโดย Airbnb

Taxi โดนเข้าทดแทนโดย Uber

Resumes & Recruiters โดนเข้าทดแทนโดย LinkedIn

หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ > Social media อย่าง Facebook และ Twitter

              แม้ Google, Facebook, Amazon จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน แต่ก็มีโอกาสเป็นอย่างสูงมากๆ เลยที่บริษัทที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2025 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมาจากบริษัทที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อนในวันนี้  Startup เหล่านี้สามารถเกิดมาได้จากที่ไหนก็ได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย บราซิล สิงค์โปร หรือ แม้แต่ประเทศไทยของเราด้วยครับ

            นอกจากในแง่ของการสร้างงาน มีการศึกษาจาก Kauffman ว่า ในช่วง 28 ปีที่ผ่านมานี้ การสร้างงานใหม่ในสหรัฐ ทั้งหมดล้วนมาจาก Startup ทั้งสิ้น ส่วนบริษัทในยุคอุตสาหกรรมมีแต่ตัดตำแหน่งงานทิ้งลดจำนวนคนมากกว่าจ้างงานใหม่ ซึ่งคำถามสำคัญคือถ้าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับการเติบโตของ Startup แล้วเราจะสนับสนุนการเติบโตของ Startup ได้อย่างไร? คำตอบก็คือด้วยการสร้าง ecosystem หรือระบบนิเวศ ที่เป็นแหล่งกำเนิดของมันนั่นเองครับ ซึ่งระบบนิเวศนี้ประกอบไปด้วยหลายๆ ส่วนที่สำคัญ เช่น

Venture Capital (VC) – Startup ต้องการเงินทุนตั้งต้นในการสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นธุรกิจที่ยากนักที่จะขอแหล่งเงินทุนเดิม ๆ อย่างธนาคาร เพราะธนาคารไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงสูงแบบนี้ได้ จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีนักลงทุนที่เข้าใจในธุรกิจ Startup เข้ามาสนับสนุน

Angel Investors และ Accelerators – นักลงทุนแบบ Angels และ Accelerators จะเข้ามาลงทุนในช่วงแรกๆ ด้วยเงินทุนจำนวนน้อยกว่า VC แต่เน้นลงทุนในจำนวนมากๆ หว่านไปกับหลาย Startup เพื่อคาดหวังว่าจะมีซักรายที่ดังเป็นพลุแตกและทำให้เกิดผลตอบแทนกลับมาชดเชยรายอื่นๆ ที่พลาดเป้าหมายไป

Talents – ทีมงานก่อตั้งเป็นเรื่องที่สำคัญมากอันหนึ่ง ถ้าไม่มีทีมที่เหมาะสมทั้งในแง่ของทัศนคติและทักษะแล้ว Startup ก็เกิดยากครับ

            โดยสรุปแล้ว จากหลาย ๆ ปัจจัยที่กล่าวถึงนี้ ทำให้มีบางที่ในบางประเทศที่เป็นแหล่งเหมาะสมอย่างยิ่งในการสร้าง Startup และมีการรวมตัวกันของ Startup อย่างเข้มข้น เช่น Silicon Valley ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าการสร้างระบบนิเวศที่ประสบความสำเร็จจะเป็นการการันตีการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่แน่นอนคือระบบนิเวศเป็นโรงงานปั๊ม Startup ออกมาปริมาณเยอะมาก ๆ และช่วยเป็นเบ้าหล่อหลอมให้ Startup เหล่านั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จมาก หรือแม้กระทั่งประสบความสำเร็จอย่างบ้าคลั่งเลยครับ!