เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก !!
ไม่มีใครรู้และเข้าใจถ้าไม่ใช่ผู้หญิงด้วยกัน โดยเฉพาะเวลาที่ต้องอยู่ในภาวะมีประจำเดือน นอกจากทำให้หงุดหงิดรำคาญใจ ใช้ชีวิตไม่สะดวกสบายแล้ว บางคนยังมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ผู้หญิงกว่า 90% มักปวดท้องในระหว่างที่ตนเองมีประจำเดือน แต่จะทราบได้อย่างไรว่าคุณปวดท้องประจำเดือน ที่ไม่มีสาเหตุจากโรค พญ.ธาริณี ลำลึก สูติ-นรีแพทย์ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ความรู้ไว้ว่า คนที่ปวดประจำเดือนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
-1.กลุ่มที่มีโรค คือ โรคเนื้องอกในมดลูก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดทื่ โรคผังพืดในอุ้งเชิงกราน อาการเหล่านี้ทำให้ปวดจากโรคที่เป็นอยู่
-2.กลุ่มที่ไม่มีโรค เกิดอาการปวดจากร่างกายหรือมดลูกมีการสร้างสารเคมีตัวหนึ่ง ชื่อ พรอสตาแกนดิน ที่ทำให้มดลูกมีการบีบตัว ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยระหว่างมีรอบเดือนได้
วิธีการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
โดยปกติแล้วเราจะทานยาต้านสารพรอสตาแกนดิน เช่น ยาพอนสแตน บลูเฟ่น เป็นต้น แนะนำให้ทานช่วงเริ่มปวดใหม่ ๆหรือก่อนที่จะมีอาการปวด จะทำให้บรรเทาอาการได้ดีมากขึ้น นอกจากนี้แล้วอาจจะใช้การประคบด้วยถุงน้ำร้อนร่วมด้วยก็จะช่วยลดอาการปวด หากอาการปวดยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการปวด
อาการตกขาวระหว่างมีประจำเดือน
โดยปกติแล้วช่วงระหว่างก่อนและหลังมีประจำเดือน ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ทำให้มีอาการตกขาวก่อนและหลังมีประจำเดือนได้ ซึ่งเป็นปรกติ ซึ่งเราจะสังเกตได้จากลักษณะตกขาวที่เป็นสีขาวใส กลิ่นไม่แรง ปริมาณไม่มากนัก ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะผิดปกติ หรือท้องเสียร่วมด้วย
การไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ
การไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆจะทำให้มีการหมักหมม มีการอาการอักเสบ และติดเชื้อได้ ถ้าอาการติดเชื้อดังกล่าวลุกลามขึ้นไปบริเวณมดลูกหรือปีก มดลูกก็จะทำให้มีอาการปวดท้องน้อยได้ แต่อาการปวดจากสาเหตุนี้ไม่ใช่อาการปวดจากประจำเดือน เป็นอาการปวดจากมดลูกหรือปีกมดลูกอักเสบ
วิธีการบรรเทาหรือป้องกัน
อันดับแรก ให้สังเกตตนเองว่าเวลาที่ปวดประจำเดือนเป็นการปวดแบบใด ปวดแบบมีโรค หรือแบบไม่มีโรค ถ้าปวดแบบมีรอยโรคจะมีอาการปวดมากและไม่สามารถบรรเทาด้วยยาได้ และอาจจะปวดก่อนหน้าที่จะมีประจำเดือนสักประมาณ 2-3 วันถึงหนึ่งสัปดาห์ หรือปวดหลังจากที่ประจำเดือนหมดไปแล้ว และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการปวดร้าวบริเวณก้นหรือขา ต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและตรวจรักษา หากหาสาเหตพบว่าปรกติอาจจะต้องปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน เช่น ออกกำลังกาย ก็จะทำให้มีการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ทำให้เราทนต่อความปวดได้มากขึ้น
ขอบคุณเรื่องราวดี ๆจากรายการสุขกายสบายใจ ออกอากาศทางช่อง Smart SME ทุกวันอาทิตย์ เวลา 08.00-08.30 น.
ขอบคุณรูปจาก http://www.beauty24store.com/