“ช่องทางการตลาด” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการ SME ประสบความสำเร็จ และเป็นสิ่งสำคัญที่ SME ไทยกำลังมองหา ผู้ประกอบการหลายรายผลิตสินค้าที่มีไอเดียและคุณภาพ จึงต้องหาที่ “ปล่อยสินค้า” ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล จัดทำโครงการในชื่อ “ติดอาวุธทางการตลาดเพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาผู้ประกอบการไทย” แนะวิธีการที่จะทำให้ SME ได้มีโอกาสจำหน่ายและส่งออกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์และกลุ่มเซ็นทรัลได้ทำการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการ SME และ OTOP ที่สนใจเข้าร่วมโครงการติดอาวุธทางการตลาด เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาผู้ประกอบการไทย มีผู้สมัครกว่า 600 รายจากทั่วประเทศ ขณะที่อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือก SME สำหรับผู้ที่ผ่านรอบที่ 1 จำนวน 49 ราย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า อุดรธานี
บุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะเข้ามาช่วยในเรื่องช่องทางการจำ หน่ายและถ่ายทอดประสบการณ์ค้าปลีก และให้ใช้พื้นที่ใน บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด อาทิ เซ็นทรัล โรบินสัน บีทูเอส ออฟฟิศเมท ท็อปส์ แฟมิลี่มาร์ท โฮมเวิร์ค ไทวัสดุ เซ็นทรัลออนไลน์ เป็นต้น ที่กลุ่มเซ็นทรัลมีอยู่มาเป็นสถานที่สำหรับทดลองวางจำหน่ายให้กับสินค้าเป็นระยะเวลา 6 เดือน หากสินค้าใดจำหน่ายได้ก็จะมีการร่วมพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น ส่วนรายที่จำหน่ายไม่ได้ตามเป้าก็ต้องมีการแนะนำเพื่อปรับรูปแบบให้ตรงกับความต้องการของตลาด
“เราสนับสนุนด้านความรู้ และพื้นที่จัดจำหน่าย ต่อไปก็อยู่ที่ตัว SME เองว่าจะสามารถรวมตัวกันได้ดีแค่ไหน เพราะคนที่ตัดสินไม่ใช่เรา แต่เป็นลูกค้า ลูกค้าจะบอกว่าสินค้าที่วางอยู่จะได้รับความนิยมหรือโดนใจมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญทุกคนต้องรู้ว่ารายได้ที่ได้จากการจำหน่ายจะต้องนำมาเป็นทุนต่อยอดพัฒนาสินค้าให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพราะการหยุดลงทุนกับสิ่งเหล่านี้ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ SME รายอื่นเข้ามาทำตลาดแทนได้ บุษบากล่าว
ส่วนเรื่องเกณฑ์การคัดเลือกสินค้าเพื่อมาจำหน่ายนั้น บุษบาอธิบายว่า ประการที่หนึ่ง ต้องการเห็นความแตกต่างของสินค้า ประการที่สอง สินค้าต้องมีคุณภาพที่ดี เพราะคุณภาพที่ดีต้องเดินไปพร้อมกับรูปลักษณ์ที่โดดเด่นและสองสิ่งนี้จะทำให้ลูกค้ากลับมา
นอกจากนั้น กลุ่มเซ็นทรัลยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการ “สินค้าชุมชนของเรา” โดยได้รับความช่วยเหลือกระทรวงพาณิชย์ “เราได้ทำความรู้จักกับชุมชนต่างๆ และพัฒนาสินค้าต่างๆ ร่วมกัน จนเกิดผลิตผลแห่งภูมิปัญญาของคนไทยที่สามารถต่อยอดไปสู่ตลาดโลกได้ ภายใต้ตรา “สินค้าชุมชนของเรา” เรียกว่าเป็น “เป็นผลิตผลจากใจ ผลิตภัณฑ์แห่งรอยยิ้ม” ให้คนท้องถิ่นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถจำหน่ายสินค้าไปได้ไกลกว่าในพื้นที่ถิ่นเกิด และยังได้เรียนรู้ความเคลื่อนไหวของตลาด ต่อยอดไปได้ไม่รู้จบ พร้อมเติบโตไปกับเราอย่างยั่งยืน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร กล่าวทิ้งท้าย