ในการค้ามีตำนาน ตอน ชาผู่เอ๋อ คือเมี่ยงอบแห้ง : บัณรส บัวคลี่


          วันก่อนคนใกล้ตัวไปจังหวัดน่าน แล้วก็นำชาพื้นเมือง ซึ่งคนทางเหนือเรียกกันทั่วไปว่า ใบเมี่ยง (หรือบางแห่งเขียนว่าเหมี้ยง)มาฝาก วิสาหกิจชุมชนที่นั่นพยายามจะยกระดับสินค้าท้องถิ่น พลิกให้หลุดไปจากนิยามของเมี่ยงพื้นบ้านที่มีแต่คนรุ่นเก่าแก่เท่านั้นที่ยังนิยมกินกัน เขาเอาใบชาเมี่ยงที่ว่าปรับปรุงรูปแบบ พยายามยกขึ้นสู่นิยามของสินค้าตัวใหม่ โฉมใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น ชาดำ” หรือ Black Tea จับตลาดใบชาสุขภาพของคนยุคใหม่ ทำแพกเกจจิ้งใส่กล่องสวยงาม ข้างในมีซองฟลอยด์บรรจุชาแยกถุงป้องกันความชื้น ดูทันสมัยดี

         เห็นแล้วสะดุดตา นึกอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ เพราะชาพื้นเมืองทางภาคเหนือที่เรียกกันมายาวนานว่าเมี่ยงนี่มันมีความเป็นมาหรือที่ภาษานักการตลาดเรียกว่า Story ของตัวเอง แล้วก็มันก็ดีพอจะกลายเป็นสินค้าน่าสนใจระดับเดียวกับ ชาผู่เอ๋อ ของจีนซึ่งใครไปใครมายังต้องหาซื้อเก็บกัน เพราะเจ้าชาชนิดนี้เก็บได้นาน มีสรรพคุณทางยา และที่สำคัญมีราคาแพงมาก ขนาดที่ยุคหนึ่งเขาบอกว่ามีค่ามากกว่าทองคำด้วยซ้ำไป

         ก็เพราะว่า เมี่ยงแบบไทยๆ กับ ชาผู่เอ๋อที่เลื่องชื่อของสิบสองปันนา มันคือพืชชนิดเดียวกันครับ แถมมีรากที่มาใกล้ชิดกันมากด้วย!

          เราจะเริ่มที่ ผู่เอ๋อ ก่อนเพื่อให้เห็นว่าทำไมชาของเขาถึงได้โด่งดังระดับโลกเป็นของฝากเลื่องชื่อ แถมเป็นชาในตำนานที่แพงระยับ ขนาดที่เขายกให้เป็นมรดกกันเลยเพราะเจ้าชาชนิดนี้ยิ่งอยู่นานยิ่งมีราคา

         ผู่เอ๋อ () เป็นชื่อเมืองในเขตสิบสองปันนา อยู่ทางเหนือของเมืองเชียงรุ้ง (จิ่งหง) ใกล้ๆ กันคือเมืองซือเหมา ใต้ลงมาคือเมืองไฮ เขต 3-4 เมืองดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลูก ชาสายพันธุ์อัสสัม Camellia sinensis (C. sinensis assamica) ซึ่งไม่เหมือนกับชาจีนที่เราคุ้นเคยเพราะชาสายพันธุ์อัสสัมนั้นต้นสูงใหญ่ เป็นไม้ขนาดกลาง เวลาเก็บต้องปีนขึ้นไปเก็บ ชาชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันมายาวนานอย่างน้อยก็ราวๆ 700 ปีก่อนหลังจากที่มองโกลบุกตียูนนาน แล้วก็ผนวกเอาอาณาจักรไตลื้อเมืองจิ่งหงเป็นส่วนหนึ่งในเขตปกครองของราชวงศ์หยวน (กุบไลข่าน) และนั่นก็เป็นครั้งแรกเลยครับที่ราชสำนักจีนแผ่นดินใหญ่มีบันทึกเป็นทางการถึงการมีอยู่ของดินแดนแถบนี้เพราะก่อนหน้านั้นไปสุดแค่ต้าหลี่ก็สุดแสนไกลแล้ว ยุคโบราณโน้นการเดินทางจากคุนหมิงหรือต้าหลี่ไปสิบสองปันนาต้องเดินทางระหกระเหินข้ามเขาเป็นสัปดาห์ๆ นะครับกว่าถึง  แต่มองโกลนี่เป็นนักทำสงครามทางไกล ดั้นด้นบุกลงไปไกลกว่าที่ราชสำนักจีนยุคก่อนหน้าจะเคยไปถึง ขนาดที่คิดจะยกมาตีเชียงใหม่ด้วยซ้ำไป แต่เพราะมันไกลมาก ยากลำบากสุด ชะเงื้อมมือของหยวนจึงหยุดอยู่แถวๆ สิบสองปันนาเขตเมืองลื้อ แหล่งปลูกชาผูเอ๋อที่ว่า  แต่ที่สำคัญที่สุดการเข้ามาของมองโกลคือการเปิดดินแดนทั้งหลายให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

เมี่ยงล้านนาที่ผ่านกระบวนการนึ่ง ที่มา สถาบันชา ม.แม่ฟ้าหลวง http://goo.gl/qw90C9

        โดยหลังจากนั้นมันก็เกิดมีการค้าทางไกล เชื่อมระหว่างสิบสองปันนาขึ้นไปเหนือ-ใต้-ตะวันตก เพราะชาวทิเบตเกิดพบว่าเจ้าชาผู่เอ๋อจากสิบสองปันนานั้นมันไปด้วยกันได้กับระบบวัฒนธรรมอาหารบนที่สูง ชาผู่เอ๋อไม่เหมือนกับชาจีนทั่วไปเพราะต้องผ่านการหมัก (Fermentation) แล้วก็บ่มจนเป็นก้อน ใบเป็นสีดำคล้ำแต่ก็น่าแปลกที่ไม่บูดเสีย ยิ่งนานยิ่งออกฤทธิ์สรรพคุณมากขึ้นไปอีก พวกทิเบตนี่กินนมจามรี กินเนื้อจามรี (คยัค) ซึ่งเหนียวหนาเส้นใหญ่ ย่อยยาก มันต้องมีอะไรที่ช่วยในระบบการย่อยของเขา

        ปรากฏว่าเจ้าชาสีดำเป็นก้อนแข็งนามว่าผู่เอ๋อนี่มีสรรพคุณช่วยในการย่อยน่ะสิครับ ไม่เพียงเท่านั้นยังไปด้วยกันได้กับนมจามรีที่เขาทำเป็น “ชานม” ทำให้ชานมดังกล่าวย่อยง่าย แถมช่วยให้ระบบลำไส้ทำงานปกติ

         วิธีการบริโภคชาสีดำเป็นก้อนจากเมืองผู่เอ๋อของคนทิเบตก็คล้ายๆ กับพวกนอกด่านแถวๆ ซินเกียงหรือเลยไปทางตะวันตกข้ามทะเลทรายทาลิมาคันที่ใช้เจ้าใบชาสีดำชนิดนี้ปรุงเป็นชานม เพื่อให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดี

ใบชาผู่เอ๋ออัดแท่งทรงกลม ที่มา http://www.nanmu.cn/

         ชาผู่เอ๋อจึงไม่ใช่แค่ใบชาธรรมดาเพื่อชงกินแบบชิล-ชิล…หากกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของคนบนหลังคาโลกและท้องทุ่งที่ราบกว้างใหญ่นอกด่าน  มันจึงเกิดเครือข่ายเส้นทางการค้าที่โด่งดังขึ้นมาเรียกว่า เส้นทางสายชา-ม้า หรือ Tea-Horse Road 茶马道 มีพวก ชนเผ่าหุย และคนพื้นเมืองในยูนนานเช่นชาวไป๋ ชาวนาซิ ประกอบการค้าทางไกล ขนส่งเจ้าชาอัดแท่งสีดำเดินทางรอนแรมบนสันเขา ไต่เชือกข้ามแม่น้ำจินซาเจียงขึ้นไปถึงทิเบต แล้วก็เอาชาแลกกับม้าสายพันธุ์ทิเบตลงมาเพราะม้าชนิดนี้อดทน พวกนักรบนิยมใช้เป็นพาหนะ เส้นทางชา-ม้านี่ขึ้นไปถึงเสฉวน เลยไปเชื่อมกับเส้นทางสายไหมที่ทอดไปยังตะวันตกด้วย ไม่ใช่แค่นั้นมันยังลงลึกจากสิบสองปันนาเข้าเขตพม่า เลาะไปถึงอินเดียโน่น

         เส้นทางการค้านี้เป็นเส้นทางโบราณที่เก่าแก่และน่าสนใจไม่น้อยกว่าเส้นทางสายไหม เชื่อมจีนตอนใต้ พม่า ไทย อินเดีย บังคลาเทศ ทิเบต ต่อกันหมด

         เจ้าชาผู่เอ๋อที่ขนส่งรอนแรมไปนี่มันยากลำบากมาก พอไปถึงปลายทางมูลค่าของมันก็เพิ่มขึ้นแพงระยับ เขาจึงเทียบกับว่ามันแพงพอๆ กับทองคำ ต่อมาความนิยมของชาชนิดนี้ขยายวงไปยังพื้นที่จีนตอนใน ด้วยความที่มันสามารถเก็บรักษาได้นานยิ่งอยู่นานยิ่งมีค่าจึงมีผู้มอบเจ้าชาอัดแท่งชนิดนี้เป็นเหมือนสินทรัพย์ ส่งทอดเป็นมรดกแทนเงินทองได้ด้วย

         ผมไปเที่ยวที่ลี่เจียง พบเห็นร้านขายชาผู่เอ๋อมากมายเต็มไปหมด ชนิดถูกๆ ก็ห่อละราวๆ 100 บาท ไปเจอร้านเฉพาะของมัน ขนาดกลางๆ นี่ห่อกลมๆ ขนาดข้าวเกรียบแผ่นใหญ่ก็ตก 3,000-6,000 บาท  ส่วนที่แพงของดีไปเลยเขาว่ากันเป็นหมื่นครับ

         อย่างที่เกริ่นไว้ล่ะครับว่า เมี่ยงล้านนา ที่แท้ก็คือชาชนิดเดียว สายตระกูลเดียวกับชาผู่เอ๋อที่โด่งดัง สำหรับท่านที่ไม่รู้จักจะสรุปพอสังเขปว่า เมี่ยงนี่เป็นพืชพื้นเมืองล้านนามีมายาวนาน แล้วก็เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมของคนท้องถิ่น เขาเด็ดเอาใบเมี่ยง(ใบชา)มาหมักแล้วทำเป็นอาหารว่าง มีประจำอยู่ทุกครัวเรือนไว้แกล้มกับบุหรี่ขี้โย วิธีการกินก็มีกลวิธีของล้านนาคือแกะห่อเมี่ยงออกมา ในนั้นจะเป็นใบชาที่ผ่านการหมักสีคล้ำๆ มีน้ำแฉะๆหน่อยๆ เติมเกลือเม็ด ใส่ขิงลงไปเพิ่มรสชาติแล้วก็อม เขาจึงเรียกว่า อมเมี่ยง เพื่อให้ได้รสชาติ..จะไม่ใช้เคี้ยวกินกัน อมแล้วรู้สึกยังไง?

เส้นทางค้าโบราณ ชา-ม้า หรือ Tea-Horse Road  ที่โด่งดัง ที่นำเอาชาผู่เอ๋อแบกขึ้นหลังไต่หลังคาโลกขึ้นไปถึงทิเบต ที่มา www.chinawatch2050.com

         เมี่ยงนี่ที่แท้ก็คือกาแฟของคนโบราณนั่นล่ะเพราะเมี่ยงมีคาเฟอีน 3-4% แล้วก็มีแทนนิน 7-15% มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะ คนที่เคยบริโภคแล้วสามารถติดเอาง่ายๆ ด้วยฤทธิ์ทางเคมีที่ว่า

         เมี่ยงนี่สำคัญมาก แต่ละชุมชนเก่าแก่จะมีย่านที่ปลูกเมี่ยง เรียกว่าป่าเมี่ยง ปัจจุบันก็ยังคงมีพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งปลูกเมี่ยงหลายแห่งในภาคเหนือ แต่น่าเสียดายที่คนบริโภคเมี่ยงแบบดั้งเดิมเหลือน้อยลงทุกขณะ ส่วนผู้ที่มองเห็นโอกาสและช่องทางจะพลิกเปลี่ยนตัวสินค้ายังมีน้อย คนที่รู้จักชาต้นใหญ่ๆ สายพันธุ์อัสสัมมาหมักก่อนให้เป็นชาสีดำก็ยังน้อยอยู่ สู้ตลาดชาเขียวไม่ได้

          คนล้านนา รู้จักหมักและบ่มเมี่ยงมาจากไหนไม่แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ คือคนไตลื้อนั้นมีเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันในภูมิภาคแถบนี้มายาวนาน ตั้งแต่สิบสองปันนาลงมาตามแม่น้ำโขง ไทย ลาว น่าน แพร่ พะเยา เชียงราย แล้วชาวไตลื้อนี่รู้จักหมักเมี่ยงกันทุกชุมชน มันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใช้ประโยชน์จากต้นเมี่ยงหรือใบชาสายพันธุ์อัสสัมที่เป็นพืชซึ่งขึ้นได้ดีในเขตนี้

          เมี่ยง หรือ ใบชาหมัก มันจึงมีรากเหง้าที่มาเดียวกัน จากเมืองผู่เอ๋อ ซือเหมา เชียงรุ่ง เมืองไฮ ลงมาถึงเมืองสิง เมืองยอง ในลาว-พม่า ลงมาถึงล้านนา เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ น่าน ล้วนแต่มีวัฒนธรรมปีนขึ้นไปเด็ดใบชามาต้มแล้วก็หมัก เป็นอาหารเครื่องดื่ม สำหรับชาผู่เอ๋อนั้นด้วยเหตุที่ต้องขนทางไกล ยากลำบากเขาจึงต้องอบและบ่มให้แห้ง บรรทุกได้เยอะ รูปของผลิตภัณฑ์จึงออกมาในรูปที่คล้ายกับใบชาแบบจีน แต่เมี่ยงของไตลื้อและล้านนาที่สืบทอดกันมา ไม่ต้องขนส่งไปไหนไกล จึงไม่ได้ทำตากแห้งอัดเป็นก้อนแบบผู่เอ๋อ ทั้งๆ ที่หากคิดทำก็ไม่ได้แตกต่างกัน

          เขาว่าเมี่ยงของท้องถิ่นล้านนากำลังจะตายไปกับกระแสความเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ผมกลับคิดว่ามันยังมีศักยภาพอย่างยิ่ง นี่เป็นโอกาสทำเงินทองของคนภาคเหนือ หากรัฐสนใจช่วยงานด้านวิจัย ไปสำรวจดูสรรพคุณของมันทั้งก่อนและหลังการแปรรูป ดีไม่ดีจะกลายเป็นสินค้าท้องถิ่นที่ช่วยคนเล็กคนน้อยให้กลายเป็นเศรษฐีใบชาขึ้นมา ก็เพราะเจ้าเมี่ยงใบชาท้องถิ่นล้านนามีทั้งเรื่องราวและน่าจะมีสรรพคุณไม่แพ้ญาติสนิทชื่อว่าผู่เอ๋อจากสิบสองปันนา..เจ้าใบชาสีดำที่มีค่าแพงระยับนั่นเลย

         น่าเสียดายที่บางพื้นที่กำลังคิดจะตัดโค่นป่าเมี่ยง ด้วยเหตุที่ไม่มีคนนิยมกินเหมือนแต่ก่อน รัฐบาลกำลังคิดหนุนเสริม SMEs สร้างนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา ลองชวนชาวบ้านทางเหนือย้อนกลับไปดูป่าเมี่ยงแถวบ้านตนน่าจะดีไม่น้อยนะครับ