จัดระบบการทำงานของ SME เพื่อพัฒนาธุรกิจให้มีความเป็นสากล : สุขุม นวลสกุล


           เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้รับเชิญให้ไป “ทอล์คโชว์”  ในงานเลี้ยงสังสรรค์บรรดาเถ้าแก่ อาเฮียและอาเจ้เจ้าของร้านค้าและสถานบริการ เช่น เจ้าของอู่รถ โรงกลึง ฯ ลฯ  หรือจะเรียกเป็นภาษาทันสมัยไปกับยุคคือ เจ้าของกิจการระดับ SME โดยผู้จัดขอให้ผมแนะนำว่า  ถ้าท่านที่มาในวันนั้นอยากจะพัฒนาธุรกิจของเขาที่มีลักษณะทำงานกันแบบ “ครอบครัว”  ให้ดูเป็นสากลมีลักษณะเป็น “ระบบ” ควรปฏิบัติการใดบ้าง

           ผมจึงถือโอกาสขอเอาเนื้อหาที่พูดในวันนั้นมาเผยแพร่ในคอลัมน์นี้ด้วย  นอกจากคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่สนใจในเรื่องการบริหารคนหรือ HR แล้ว  ยังทำให้ผมได้รับค่าเรื่องจากเรื่องที่เคยได้รับค่าพูดมาครั้งหนึ่งแล้ว  เท่ากับเรื่องหนึ่งเดียวสามารถทำมูลค่าได้ถึง ๒  ครั้ง  ความคิดดีไหมล๊ะ   แต่คงไม่ประนามว่าผมเป็นคนค้ากำไรเกินควรนะครับ…….ฮ่า ที่ผมแนะนำไปในคืนวันนั้นที่หลัก ๆ อยู่มี ๒ ประการคือ

 

ประการแรก  ผมเห็นว่าควรมีการกำหนดตำแหน่งของคนที่จ้างมาทำงาน

           คนที่ทำงานกับเรานี่แต่ละคนควรมีตำแหน่ง  ไม่ใช่รับใครมาทำงานด้วยก็ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง”  ต่อไปนี้ต้องทำงานทุกอย่างตามที่ “นาย” หรือตัวผู้ว่าจ้างเป็นผู้สั่ง   ซึ่งลักษณะการทำงานในลักษณะดังที่ว่านี่มันน่าจะเป็นระบบ “ทาส”มากกว่า  ซึ่งสมัยนี้ไม่ควรมีอย่างยิ่ง  เพราะตามประวัติศาสตร์นี่  ประเทศไทยเราเลิกทาสกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕  แล้ว

          เพราะฉะนั้นหากร้านหรือโรงงานขนาดย่อมของเราอยากจะให้ทำงานเป็นระบบ  คนที่เป็นลูกจ้างของเราทุกคนต้องมีตำแหน่ง  เช่น  คนทำงานเป็นยามอาจปรากฏในประกาศหรือคำสั่งของร้านให้เป็น “พนักงานรักษาความปลอดภัย”หรือปัจจุบันรู้จักกันแพร่หลายในนาม “รปภ.”    คนที่ช่วยขายของในร้านอาจจะได้ตำแหน่ง “พนักงานฝ่ายขาย”   แม้กระทั่งคนทำหน้าที่ปัดกวาดเช็ดถูก็อาจถูกแต่งตั้งเป็น “พนักงานรักษาความสอาด”  เรียกย่อ ๆ ว่า “รคส.” โก้ไม่แพ้ “รปภ” เหมือนกันนะ  จะบอกให้

           ส่วนแต่งตั้งไปแล้ว  เราอาจจะใช้หรือไหว้วานเขาให้ทำมากไปกว่าตำแหน่งก็น่าจะได้  เช่น เมื่อมีรถมาส่งสินค้า  อาจจะต้องระดมทั้ง รปภ. และ รคส.  มาช่วยพนักงานพัสดุครุภัณฑ์ (พคภ.) ขนสินค้าเข้าโกดัง  คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธคำสั่งของอาเสี่ย  เอ๊ย………ผู้จัดการร้านหรอก จริงไหมครับ  เพราะคนไทยนี่โดยปกติจะเป็นคนที่มีน้ำใจอยู่แล้ว  ไม่งั้นจะมีเพลง “ไทยเป็นชาติที่มีน้ำใจ……”หรือครับ……..แฮ่

           ถ้าเกิดพนักงานคนใดหัวหมอแย้งว่า  เป็นการสั่งให้ทำงานเกินหน้าที่   ก็อธิบายหรืออ้างว่า “นี่เป็นภาวะฉุกเฉิน”  คนเป็นผู้จัดการหรือหัวหน้าย่อมมีอำนาจพิเศษสั่งการได้   จะยกตัวอย่างว่า ระดับชาตินายกรัฐมนตรียังมีมาตรา ๔๔ ไว้ใช้ในทุกกรณีย์เลย  ตัวอย่างมีชัดเจน  เถียงเรายากหรือในประกาศเวลาบรรจุคนในตำแหน่ง  อาจมีสิ่งที่เรียกว่า job discliption หรือรายละเอียดของตำแหน่งนั้นต้องทำอะไรบ้าง   อาจจะขมวดไว้ตอนท้ายว่า  “ทำตามผู้จัดการสั่ง”  หรือ “ทำทุกอย่างตามที่ประธานสั่ง” ก็ย่อมได้

            การมีประกาศว่าใครอยู่ในตำแหน่งอะไร  เป็นการให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย  คนที่ได้รับการแต่งตั้งย่อมมีความภาคภูมิใจว่า  ตัวไม่ใช่คนธรรมดามีตำแหน่งกับเขาเหมือนกัน  แม้จะไม่ใช่ตำแหน่งใหญ่โตอะไร  แต่ก็เป็นคนที่มีความหมายมีตัวตนอยู่ในสถานที่ทำงานนั้น  เป็น somebody ไม่ใช่  nobody

            จะให้ผู้มีตำแหน่งมีความรู้สึกยินดีหรือมีความภูมิใจมากขึ้น  ทางเจ้าของหรือผู้จัดการธุรกิจควรจะออกบัตรประจำตัวพนักงานของบริษัทมีรูปถ่ายติดบัตรแสดงตนด้วย  แม้จะไม่เอาไปใช้แทนบัตรประชาชนไม่ได้  แต่ก็เอาไว้โชว์พี่น้องเพื่อนฝูงให้เห็นว่า  เป็นคนมีระดับมีสังกัดอ้างอิงกับเขาเหมือนกัน 

 

ประการที่สอง   ควรจะมีกฏเกณฑ์กติกาที่แน่นอนเป็นลายลักษณ์อักษร

           การบริหารที่เป็นระบบควรเป็นการปกครองโดยกฏหมายไม่ใช่การปกครองโดยคน  หมายความว่าควรมีกำหนดกฏเกณฑ์เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับสิทธิหรือสวัสดิการต่าง ๆ  ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ปกครอง เช่น  จะลาพักร้อนสัหน่อยก็ต้องคอยลุ้นว่าเจ้านายจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต   ต้องคอยหาจังหวะตอนเจ้านายอารมณ์ดีค่อยไปขอ    เพราะถ้าไปขอผิดจังหวะอาจจะถูกตะเพิดออกมาทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ออกปากขอเลย  ทำให้ร้อนตั้งแต่ยังไม่ได้พักเลย

           ควรมีระเบียบกำหนดแน่นอนว่า  พนักงานจะมีวันพักร้อนปีละกี่วัน  จะแบ่งลาซอยเป็นคราวละสองวันสามวันได้หรือไม่ได้  หรือต้องลารวดเดียวเลย   ถ้าหากจะลาต้องยื่นก่อนถึงกำหนดกี่วัน  มีระยะหรือช่วงไหนบ้างที่ไม่ให้ลา  ทางเจ้านายจะมีสิทธิอย่างไรในการยับยั้งการลา   อาจจะมีแบบฟอร์มการลาให้กรอกเพื่อความสะดวก   เมื่อยื่นลาแล้วก็รอฟังผลเป็นลายลักษณ์อักษรหรือวาจาก็แล้วแต่

            สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ  ที่ให้กับพนักงาน  ควรมีประกาศให้ได้ทราบชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร  อาจจะรวบรวมทำเป็นหนังสือคู่มือแจกให้กับพนักงานทุกคนที่ทำงานด้วย   ทุกคนจะได้รับรู้รับทราบ  และถ้ากำหนดไว้แล้ว  ไม่ควรเบี้ยวเป็นอันขาดไม่งั้นแล้วก็จะไม่เป็นระบบ  ไม่มีมาตรฐาน  ไม่ใช่ใช้อารมณ์  “หนังสือไม่สำคัญหรอกโว้ย  กูไม่ให้ซะอย่าง  มึงจะทำไม”   ถ้าแบบหลังละก็ไม่มีระบบแน่นอน

           ในวันนั้น  ผมแนะนำผู้ที่มาร่วมงานไปแค่ ๒ ข้อ  เพราะบรรยากาศในงานไม่เหมาะการพูด  การพูดในขณะที่คนกินนี่ไม่ใช่เรื่องง่าย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกินแบบโต๊ะจีน  เพราะถ้าคนมัวแต่สนใจฟัง เผลอแผลบเดียวจะหันกลับไปกิน  ปลาเจี๋ยนตัวเบ้อเร่ออาจจะเหลือแต่ก้างแล้วก็ได้……ฮ่า แต่ผมเชื่อว่าถ้าเจ้าของกิจการใดที่ดำเนินกิจการในระบบครอบครัวลองนำ ๒ ข้อนี้ไปปฏิบัติในที่ทำงาน   ลูกจ้างหรือพนักงานที่ทำงานกับเราจะมีขวัญและกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้น  ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นอย่างแน่นอน  

          เพราะการทำงานในรูปแบบครอบครัวอาจจะมีความอบอุ่นใกล้ชิด  แต่ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับ “อารมณ์”  เป็นหลัก  อาจขาดสิ่งที่เรียกว่า “ความยุติธรรม”   ไม่เหมือนกับการทำงานกับระบบที่จะมีคำว่า “กฏเกณฑ์”ให้ทุกฝ่ายยึดถือปฏิบัติ   มีคำว่า “มาตรฐาน” ตามมา