เมื่อเดือนพฤษภาคมผ่านมามีการประชุมสุดยอด ACMECS ครั้งที่ 6 ของผู้นำในกลุ่มประเทศ ACMECS ซึ่งประกอบด้วย พม่า (ซึ่งปีนี้เป็นเจ้าภาพ) กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ซึ่งเป็นการประชุมทุก ๆ 2 ปี โดยใน 2 ปีข้างหน้าไทยจะเป็นเจ้าภาพ ความจริงนั้น ACMECS เป็นโครงการที่มีความริเริ่มจากไทยซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ของประเทศที่มีชายแดนดินกันบนกรอบของลุ่มแม่น้ำที่ติดกัน ACMECS ถือเป็น subset ของอาเซียน กล่าวคือ เป็นความร่วมมือระหว่าง 5 ประเทศของ 10 ประเทศอาเซียน นอกจากนั้น ACMECS ยังมีความเกี่ยวข้องและเป็นส่วนเสริมกับกรอบความร่วมมือ 6 ประเทศที่เรียกว่า อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง – GMS (Greater Mekong Subregion)
กรอบความร่วมมือลุ่มแมน้ำอิระวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) ซึ่งเป็น 5 ประเทศที่มีชายแดนติดกันของอาเซียน ส่วนหนึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งและรวดเร็วยิ่งขึ้นทั้งในทางมิติเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และแน่นอนในกรอบดังกล่าวจะมีภาพใหญ่ของ AEC เป็นเสมือน Background ดังจะเห็นได้ว่า ภายใต้กรอบ AEC ซึ่งมี 4 ข้อใหญ่ ๆ คือ
1. เป็นตลาดร่วมและฐานการผลิตร่วมซึ่งหมายถึง การเปิดเสรีสินค้า (AFTA) เงินทุน บริการ แรงงาน
2. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันมี 6 องค์ประกอบ โดย 1 ในองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความร่วมมือด้าน Infrastructure ระหว่างประเทศสมาชิก
3. การพัฒนาที่เท่าเทียมกันคือ 6 ประเทศเก่าต้องช่วยพัฒนาประเทศเข้าใหม่ (CLMV)
4. บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการพัฒนา Asean+3 และ +6, RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership)
ในการประชุมครั้งนี้ ACMECS ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนซึ่งเป็นกรอบที่อยู่ในข้อที่ 1 ของ AEC การส่งเสริมการเดินทาง เช่น การพูดคุยกันเรื่อง single visa ก็เป็นกรอบภายใต้นัยยะของตลาดร่วม ซึ่งมีความหมายว่า การเปิดเสรีแรงงานมีฝีมือ 8 ประเภท ตามที่ระบุไว้ใน AEC ปัจจุบัน และเนื่องจากอุปสรรคในรูปแบบภาษีศุลกากรของ 5 ประเทศอาจกล่าวได้ว่าเกือบจะเหลือ 0 หมดแล้ว ดังนั้น การพูดคุยกันจึงเป็นการพูดถึง การขจัดอุปสรรคที่มิใช่กำแพงภาษี (NTB) มากกว่า ในการประชุมครั้งนี้จึงมีการพูดถึงเรื่องความร่วมมือทางสังคม เช่น เรื่อง HR, Training ก็เป็นส่วนหนึ่งของกรอบประชาคมอาเซียนทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุข นอกจากนั้น ประเด็นสำคัญคือ การส่งเสริมให้ขยายและเร่งความเชื่อมโยง Infrastructure ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนส่ง Logistic การพัฒนาเศรษฐกิจจำเพาะของชายแดนที่ติดต่อกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ AEC แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในกรอบของ GMS ด้วย การประชุมสุดยอด ACMECS จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนเสริมของอนุภูมิภาค (GMS) ซึ่งนอกจากจะประกอบด้วย 5 ประเทศ แล้ว ยังประกอบด้วยแคว้นยูนนาน ประเทศจีน การเชื่อมโยง 6 ประเทศย่อมหมายถึง 5 ประเทศใน ACMECS จะต้องร่วมมือและเร่งพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านคมนาคมทั้งทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ เพื่อที่จะเชื่อมโยงต่อไปถึงยุโรปที่เราเรียกว่า “One Belt, One Road” หรือเส้นทางสายไหม (ซึ่งรัฐบาลจีนกำลังพัฒนาอยู่) โดยประกอบด้วย 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางเรือไปถึงกรีซ เส้นทางถนนและรถไฟผ่านไซบีเรียไปถึงยุโรปตะวันออก และเส้นทางท่อก๊าซจากจีนไปยุโรป จีนเองก็ได้จัดตั้ง Asia Infrastructure Investment Bank (AIIB) เพื่อรองรับการลงทุนในภูมิภาค ดังนั้นการประชุมสุดยอด ACMECS จึงเป็นส่วนเน้นและเป็นตัวเร่งภายใต้กรอบใหญ่ของ GMS นั่นเอง
ถ้าจะวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงของ ACMECS กับภาพที่ใหญ่กว่าจะสามารถอธิบายได้ว่า ACMECS เป็นความร่วมมือในระดับ subset เป็นระดับอนุภูมิภาค, AEC เป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Asean+3 เป็นความร่วมมือระดับเอเชียนั่นเอง จากทั้ง 3 กรอบที่กล่าวถึง จึงไม่น่าแปลกใจเลยถ้าใน 10 ปีข้างหน้า Asean+3 จะพัฒนาสู่ประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งหมายถึงจะแน่นแฟ้นในตลาดร่วม ซึ่งจะเปิดเสรีทางด้านสินค้า เงินทุน บริการ ส่วนแรงงานอาจจะเปิดเสรีในขอบเขตที่จำกัด