พ.ศ.นี้ มหาอำนาจโลกกำลังประลองกำลังในสงครามที่ไม่ได้ประกาศในหลายสมรภูมิ หนึ่งในแนวรบสำคัญก็คือสงครามการเงิน จีนพยายามสถาปนาเงินหยวนของตนเองให้เป็นสกุลหลักอีกหนึ่งสกุลของโลก ไม่เพียงเท่านั้นผู้ผลิต – ผู้ใช้รายใหญ่อย่างรัสเซียและจีนยังจับมือกันค้าน้ำมันโดยสกุลเงินของตัว แนวรบด้านการเงินดูประหนึ่งในมีอะไรรุนแรงแต่ที่แท้แล้วกลับแหลมคมกว่าที่คิด เพราะผลของวิธีการดังกล่าวอาจทำให้ดอลลาร์ และระบบการเงินแบบโลกตะวันตกพังลงมาได้..เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากของโลกในยุคของเรา เรื่องแบบนี้ไม่ใช่จะเกิดไม่ได้ ทุกอย่างมีขึ้นลง โรมที่เคยยืนยงก็สามารถล่มสลายได้ ประวัติศาสตร์สอนไว้ชัดเจน
เงินปอนด์ของอังกฤษเคยเป็นสกุลเงินหลักมาก่อนดอลลาร์สหรัฐ แต่ดอลลาร์ก็ผงาดขึ้นมาเป็นสกุลหลักหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็น่าสนใจนะครับ ไม่มีใครเคยยิ่งใหญ่ผูกขาดเป็นเบอร์หนึ่งโดยไม่มีคู่แข่ง ที่เงินปอนด์ยุครุ่งเรืองระหว่างที่อังกฤษเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินก็ยังถูกปฏิเสธจากชาติในอาณัติตน
ปอนด์อังกฤษ ยิ่งใหญ่แค่ไหนคนอินเดียก็ไม่นิยมใช้ ยังเคยชินกับสกุลเงินเก่าแก่ของตน คือ รูปี จนที่สุดอังกฤษต้องใช้วิธีละมุนละม่อม ครอบครองจากภายใน อังกฤษยอมให้อินเดียและประเทศใกล้เคียงใช้รูปี แต่ตนนั้นเข้ามาคุมรูปีอีกทอดหนึ่ง เกิดเป็น รูปีอังกฤษ โดยใช้วิธีปั๊มเหรียญและออกธนบัตรที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์รูปกษัตริย์หรือควีนลงไป แปลงรูปีเป็นเวอร์ชั่นอาณานิคมขึ้นมา จักรวรรดิอังกฤษแรกๆ จึงมีทั้งปอนด์ ทั้งรูปี ..มีแค่สองสกุลหลักนี้ก่อนในยุคแรก ต่อมาในยุคหลังค่อยเกิดสกุลอื่นๆ ใช้ในดินแดนในอาณัติแต่ละภูมิภาค
เงินรูปีของอังกฤษนี่ไปไกลมาก ครอบคลุมครึ่งโลกทีเดียวเชียวล่ะครับ มีใช้กันตั้งแต่ อาฟริกาตะวันออก อาหรับ เปอร์เชีย เอเชียใต้ ลามมาถึงเขตอาณานิคมอังกฤษในเอเชียอาคเนย์ อย่างพม่าด้วย ส่วนปีนัง สิงคโปร์ ยุคแรกก็ใช้รูปีเช่นกัน มาเปลี่ยนราว ๆ ต้นรัชกาลที่ห้าเมื่ออังกฤษประกาศนโยบายใหม่ใช้ สกุลเงินสเตรทดอลลาร์ Straits dollar แยกออกมาจากรูปีอินเดีย แต่ในที่สุดแล้วสกุลเงินคาบสมุทรมลายาก็ยังใหญ่ไม่เท่ารูปีชมพูทวีปอยู่ดี
รูปีนั้นทรงอิทธิพลมากในยุคเรือปืน เงินตรายุคใหม่มันมากับกระแสโลกาภิวัตน์อาณานิคม สมัยรัชกาลที่สี่หลังจากเปิดประเทศตามสนธิสัญญาบาวริ่ง (และตามมาด้วยสัญญากับประเทศอื่นอีก) มีเงินตราชนิดต่างๆ เข้ามาใช้กันมากมายหลายชนิด ยุคนั้นเริ่มมีเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์แล้วสยามเราก็สั่งเข้ามาผลิตเอง ต่อมาประเทศสยามของเราจึงปฏิรูปเงินตราประกาศใช้ระบบเงินบาทขึ้นมาจากนั้นก็ยุติเงินแบบเก่าคือเงินพดด้วงตั้งแต่ พ.ศ.2417 นับจากนั้นเป็นต้นมา…แต่อย่างไรก็ตามเงินบาทของสยามก็ยังสู้รูปีไม่ได้
ความนิยมของตลาดนั้นมีอำนาจเหนือรัฐชาติ ตลาดการเงินนี่มันไร้พรมแดนมาตั้งแต่ครั้งกระโน้นนะครับ…
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือดินแดนทางภาคเหนือล้านนา ที่แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรตามนโยบายปฏิรูประบบราชการดึงอำนาจเข้าส่วนกลาง แต่ล้านนาภายใต้ระบบเทศาภิบาลก็ยังไม่นิยมใช้เงินบาท โดยสกุลเงินที่ทางล้านนานิยมสูงสุดยังเป็นรูปีที่นิยมใช้กันมาก่อน รูปีนั้นใช้ต่อกันมาอีกนานทีเดียว จนใกล้ถึงสงครามโลกครั้งสองเงินบาทค่อยพอจะหยั่งเท้าได้
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ข้าราชการจากสยามเดินทางขึ้นภาคเหนือพกเหรียญกษาปณ์และธนบัตรเงินบาทขึ้นไปใช้ได้แค่เมืองระแหง (จังหวัดตาก) เท่านั้น เพราะพอเลยขึ้นเหนือไปแล้วเขาไม่ใช้บาทกัน เรียกหาแต่รูปี จะเอาบาทไปจับจ่ายซื้อของ แม่ค้าไม่รับนะครับ
ตลาดเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น เป็นเรื่องของรายใหญ่มีเสียงดัง เงินรูปีเป็นที่นิยม และสามารถจับจ่ายแลกเปลี่ยนในพื้นที่ภาคเหนือมาก่อนเพราะการค้าและการทำไม้ เจ้าเงินตรารูปีจากอินเดียชนิดนี้ข้ามมามีอิทธิพลในตลาดภาคเหนือก่อนที่พม่ามัณฑะเลย์ยังไม่แตกด้วยซ้ำไป
คือเงินรูปีอินเดียนี่แม้จะมีชื่อแขกๆ ว่ารูปี แต่ที่แท้เป็นเงินตราที่อังกฤษผลิตมาใช้ในอาณานิคมอินเดียของตัวเอง อังกฤษรบกับพม่าครั้งแรกพ.ศ. 2367 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ยึดเขตมอญและมะละแหม่ง รวมทั้งเมืองท่าตอนใต้ได้ แล้วก็ผนวกพื้นที่ดังกล่าวกับอินเดีย เงินรูปีก็ติดตามมา เป็นครั้งแรกที่มันมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการ
จากพม่าก็ไหลข้ามมาล้านนาไม่ยาก!
พื้นที่พม่าตอนใต้ในครอบครองของอังกฤษเศรษฐกิจดีกว่าเงินรูปีมันจึงหอมหวาน ประวัติศาสตร์บอกว่าชาวพม่าทางภาคเหนือตามลงไปรับจ้างทำมาหากิน พกพารูปีกลับไปใช้ แล้วก็มีอิทธิพลข้ามพรมแดนมาถึงล้านนา มีพ่อค้าวัวต่างม้าต่างจากเชียงใหม่ไปค้าขายที่มะละแหม่งได้รูปีกลับไป จากนั้นก็มีบริษัททำไม้ของอังกฤษเลาะแม่น้ำสาละวินขึ้นมาจากมะละแหม่งเข้าไปในเขตรัฐฉาน สมัยโน้นล้านนามีอาณาเขตประชิดแม่น้ำสาละวิน(แม่น้ำคง)ฝั่งตะวันออกซึ่งมีไม้สักอุดมสมบูรณ์มาก ดินแดนแถวนั้นทั้งหมดยังเป็นของเราอยู่ บริษัทอังกฤษโดยเฉพาะบอมเบย์เบอร์มามาขอสัมปทานจากเจ้าหลวงผู้ครองนครเชียงใหม่ ตัดไม้ริมสาละวินแล้วล่องลงไปที่มะละแหม่งส่งต่อลอนดอน แรกๆ ได้กำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ร่ำรวยกันตั้งแต่บริษัทยันลูกช่วงท้องถิ่น
เงินรูปีจากอินเดียจึงข้ามมาใช้ในพื้นที่ภาคเหนือล้านนาตั้งแต่ครั้งโน้น ประมาณว่าก่อนพ.ศ.2400 นี่เงินรูปีก็แพร่หลายทั่วไปแล้ว แม้ว่าต่อมาเมื่อสยามตั้งกรมป่าไม้เพื่อเข้าไปจัดการสัมปทานป่าแทนระบบเจ้าหลวง แต่ทว่าระบบการจ่ายเงินค่าตอก็ยังใช้สกุลรูปีอยู่เช่นเดิม
ระบบการแบ่งค่าสัมปทานไม้หลังจากที่สยามเข้าไปจัดการนั้น เขาจะแบ่งรายได้จากรูปีเป็น 2 กอง โดยแบ่งให้กับพวกเจ้าหลวงทั้งหลายที่เป็นเจ้าของเดิมส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะเข้าพระคลังของรัฐบาลสยาม แต่ขนาดแบ่งแล้วนะครับพวกเจ้านายฝ่ายเหนือนี่กินค่าตอไม้รายปีก็ร่ำรวยไม่รู้จะทำอะไรต่อแล้ว มีหนังสือที่ พ.ต.อ.อนุ เนินหาด นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเขียน เล่าว่า มีเจ้านายหญิงฝ่ายเหนือท่านหนึ่งที่ได้ส่วนแบ่งค่าตอไม้รายปีขนาดที่ต้องใช้กะบุงมาใส่ 2 กะบุงจนพูนแล้วใช้ไม้คานสอดหามกลับไป มันหนักมากเพราะเหรียญรูปีสมัยก่อนนี่ทำจากเงินล้วนๆ หาบกันชนิดไม้คานโก่งเอาเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ปริมาณเงินรูปีจึงมีมาก ใช้แพร่หลายในตลาดทั่วไปในภาคเหนือ!
ก็ตลาดมันเป็นที่นิยมขนาดนี้ต่อให้รัฐบาลสยามใช้เงินบาทหรือพิมพ์ธนบัตร เดินใส่ชุดขุนน้ำขุนนางหอบเงินมาพร้อมกับกองทหารตำรวจมีอำนาจรัฐสั่งโน่นนี่ แต่ก็ใช้เงินบาทซื้อของกินตามตลาดไม่ได้ จนสงครามโลกนั่นล่ะ ฝรั่งทำไม้ถูกญี่ปุ่นไล่ไป ญี่ปุ่นปั๊มเงินบาทใช้ รัฐบาลไทยจึงค่อยสถาปนาอย่างมั่นคง เป็นที่เชื่อถือสำหรับสกุลเงินสื่อกลางแลกเปลี่ยนในภาคเหนือ
จบประเด็นตำนานรูปีขยี้เงินบาทแล้ว แต่เรื่องยังไม่จบ มีเลี้ยวเข้าซอยให้พอเก็บตกอยู่หน่อย… คือรูปีน่ะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การค้าการขายของเราหลายเรื่อง ไม่ใช่แผ่อิทธิพลแค่ภาคเหนือล้านนาเท่านั้น เงินรูปีนี่ช่วยชีวิตสยามมาแล้วนะครับ !
ก็เพราะเงินถุงแดงในท้องพระคลังซึ่งรัชกาลที่ 3 ท่านสะสมมาซึ่งต่อมาได้เอาไปจ่ายชดใช้ให้ฝรั่งเศสนักล่าอาณานิคมเมื่อ ร.ศ.112 นี่ส่วนใหญ่เป็นตราต่างประเทศ เพราะรัชกาลที่ 3 ท่านเป็นนักการค้า ยุคสมัยแรกๆ ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ท่านก็ทรงคุมกรมท่า คุมคลัง แล้วก็แต่งสำเภาค้าขายร่ำรวยชนิดพระบิดาตรัสสัพยอกเรียกว่า “เจ้าสัว” แรก ๆ ท่านก็ค้ากับจีน จนฝรั่งเริ่มแผ่อิทธิพลไปรังแกจีน การค้ากับทางจีนก็เริ่มซบเซาลง ขณะที่การค้าฝ่ายฝรั่งเริ่มมีมากขึ้น บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษไปตั้งสถานีการค้าที่สิงคโปร์ สยามเราก็เริ่มหันไปค้าขายกับฝรั่งที่เมืองท่าสิงคโปร์ที่เป็นฟรีพอร์ต (สังเกตนะครับ สิงคโปร์นี่วางยุทธศาสตร์เป็นเมืองท่าปลอดภาษีมาตั้งแต่ยุคโน้น) แล้วแรกๆ เราก็ได้ดุลเขาครับ กำไรกลับมามากมาย เอกสารของพวกพ่อค้าฝรั่งเองก็ยอมรับว่าสยามได้ดุล
แล้วกำไรที่ได้มานั้นก็เงินรูปีล้วนๆ แหละครับ เพราะอังกฤษเพิ่งเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินสเตรทดอลลาร์ในยุคหลัง
เงินในถุงแดงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เอาจากท้องพระคลังไปใช้ให้ฝรั่งเศสสมัย ร.ศ.112 นี่ มีเงินรูปีเยอะมาก !