ในการค้ามีตำนาน ตอนสะพานนริศ : บัณรส บัวคลี่


สะพานนริศ เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของตลาดบ้านดอน เมืองสุราษฏร์ธานี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตาปีติดกับศูนย์กลางตลาดการค้าขายของตัวอำเภอเมือง ถัดลงมาเล็กน้อยคือท่าเทียบเรือเกาะสมุย-เกาะพงัน เวลามีกิจกรรมของเมืองอย่างงานสงกรานต์เขาก็ไปจัดกันที่บริเวณนั้นชื่อ สะพานนริศเป็นชื่อติดปากคู่กับท่าเรือเกาะ อันหมายถึงเรือที่ไปเกาะสมุย เกาะพงัน เรียกกันติดปากแต่ก็น่าแปลกที่น้อยคนจะรู้ถึงที่มาที่ไปของชื่อๆ นี้  นั่นเพราะว่ากิจกรรมอันเป็นที่มาของชื่อ สะพานนริศ ได้ยุติไปกว่า 60 ปีแล้ว

 

สะพานนริศ ก็คือ สะพานเทียบเรือกลไฟ หรือเรือเมล์ที่แล่นรับ-ส่งผู้โดยสารและสินค้าจากตลาดบ้านดอนไปยังกรุงเทพฯ ซึ่งดำเนินการโดย บริษัทเรือไฟไทยทุน จำกัด ซึ่งถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องก็คือกิจการในเครือของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก ที่ได้แบ่งหุ้นให้กับทางการสยามเข้าร่วมถือในกิจการขนส่งสาธารณะสำคัญ

 

เมื่อราว 100 ปีก่อนต่อเนื่องมาถึงก่อนสงครามโลก บริษัทอีสต์เอเชียติ๊กสำคัญมากสำหรับการคมนาคมขนส่งและการค้าของสยาม บริษัทนี้มีกิจการด้านขนส่งทางน้ำครบวงจร ตั้งแต่เรือเมล์ไปสิงคโปร์เชื่อมต่อไปยุโรป อเมริกา ตลอดถึงกิจการเรือเมล์รับส่งในประเทศ มีศูนย์กลางที่ท่าเรือย่านเจริญกรุงใต้อันเป็นที่ตั้งของเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ในปัจจุบัน  เรือเมล์ในประเทศนี่มีหลายสายเชื่อมกับหัวเมืองทางใต้เช่น ชุมพร ปากพนังก็มีเรือรับส่งเป็นประจำ

 

ชื่อของสะพานนริศ มาจากชื่อเรือนามว่า นริศ ซึ่งบริษัทอีสต์เอเชียติ๊กได้ขอประทานชื่อจาก สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ นำไปตั้งเป็นชื่อเรือ ใช้แล่นรับส่งระหว่างบ้านดอน กับ กรุงเทพฯ ไม่วิ่งเส้นทางอื่น ดังนั้นสะพานเทียบท่าเรือก็พลอยเรียกเป็น สะพานนริศ ไปด้วย จุดที่เป็นท่าเรือรับส่งจุดดังกล่าวจึงเป็นศูนย์กลางกิจกรรมการค้าการขนส่งสำคัญของตลาดบ้านดอนมายาวนานมานับแต่ครั้งกระโน้นร่วมร้อยปีแล้ว ในยุคต่อมาคือสงครามโลกไปแล้วเรือเมล์ก็หยุดวิ่งเพราะมีการคมนาคมทางอื่นที่เร็วกว่าสะดวกกว่าแต่ชื่อสะพานนริศและความเป็นศูนย์กลางกิจกรรมการค้าการธุรกิจคมนาคมยังคงอยู่

 

 

สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เจ้าของชื่อเรือและชื่อสะพานเทียบท่าเคยเสด็จมาที่นั่น  ทรงนิพนธ์ไว้ใน สาส์นสมเด็จ ทำให้คนรุ่นเราได้เห็นภาพกิจกรรมการขนส่งระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองปักษ์ใต้เมื่อพ.ศ. 2478 ได้ชัดเจนขึ้นทั้งๆ ที่ยุคนั้นมีรถไฟวิ่งแล้วแต่ความนิยมในการเดินทางโดยเรือกลไฟเข้าเมืองหลวงก็ยังคงมีอยู่ตามหัวเมืองชายทะเลโดยเฉพาะการขนส่งสินค้า กรมพระยานริศฯ บอกว่าเรือเมล์สายปากพนัง และ ชุมพร ปรับพื้นที่นั่งโดยสารให้น้อยลงและเพิ่มพื้นที่บรรทุกสินค้ามากขึ้นกว่าเรือนริศ เพราะสัดส่วนความนิยมของลูกค้าเน้นไปที่การขนส่งมากกว่าคนโดยสาร

 

พระนิพนธ์ทำให้เราได้รู้ด้วยว่าการเดินเรือเมล์กลไฟด้วยเรือเดินทะเลกินน้ำลึกอย่างเรือนริศกว่าจะแล่นจากปากอ่าวผ่านแม่น้ำตาปีเข้าไปถึงตัวบ้านดอนที่ลึกเข้าไป 7-8 ก.ม.มันยากลำบากพอสมควรเพราะอ่าวบ้านดอนน้ำตื้น แม่น้ำตาปีก็ไม่ลึกมาก ต้องใช้เรือเล็กนำร่องแล่นนำทางให้เรือนริศไปจนสุดปากอ่าวทั้งขาไปขากลับ ผู้คนในยุคโน้นกว่าจะเดินทางเข้าเมืองหลวงกันทีไม่ได้สะดวกสบายเหมือนเช่นทุกวัน ถ้าไปรถไฟก็หนึ่งวันหนึ่งคืนส่วนเรือกลไฟอย่างน้อยก็สองวัน พื้นที่ห่างไกลออกไปอย่างสงขลา ปัตตานีก็เพิ่มวันไปอีก 1-2 วัน

 

 

บริษัทอีสต์เอเชียติ๊กที่เราท่านเคยได้ยินมาดูเหมือนจะเน้นไปที่การค้าไม้สักทางภาคเหนือและกิจการเดินเรือกลไฟ แต่ที่แท้กว้างขวางกว่านั้นเยอะ ยังขยายปีกมีกิจการในพื้นที่ภาคอื่นด้วยอย่างที่สุราษฏร์ธานีนอกจากมีเรือนริศขึ้นล่องกรุงเทพฯ แล้ว บริษัทยังมีสัมปทานทำไม้ในป่าตอนในของลุ่มน้ำตาปี แถวเคียนซา พระแสงใช้การล่องซุงตามน้ำมาถึงตัวเมืองบ้านดอนก็จะมีโรงเลื่อยใหญ่ มีบ้านพักของนายฝรั่งและผู้ดูแล ปัจจุบันคือบริเวณด้านข้างของโรงแรมวังใต้ติดกับสวนสาธารณะศรีตาปี สมเด็จกรมพระยานริศฯ ยังได้ประทับอยู่ที่บ้านพักรับรองบริเวณนั้นด้วย  เมื่อหมดสมัยของอีสต์เอเชียติ๊กแต่การทำป่าไม้ในพื้นที่สุราษฏร์ธานียังคงอยู่ต่อผ่านสัมปทานให้กับเอกชนรายใหญ่ในพื้นที่ มีการล่องซุงมายังโรงเลื่อยจุดดังกล่าวต่ออีก  มีเพลงดังชื่อ หนุ่มล่องซุง ที่จูเลี่ยม กิ่งทอง ประพันธ์ โดยใส่เรื่องราวของการตัดไม้ล่องซุงผ่านแม่น้ำตาปีให้นักร้องดังอย่าง สาริกา กิ่งทอง  ขับร้อง สะท้อนเรื่องราวการทำไม้ในเขตดังกล่าวได้น่าฟัง

 

สะพานนริศเป็นหนึ่งในท่าเรือกลไฟวิ่งเชื่อมหัวเมืองกับบางกอกเพียงไม่กี่แห่งที่ยังเหลือร่องรอยอยู่ ประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกและเล่าขานกันว่าด้วยการคมนาคมขนส่งของประเทศเราส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การก่อสร้างและระบบรถไฟหรือไม่ก็กล่าวถึงเรือเมล์ของพื้นที่ภาคกลาง ไม่ใคร่มีใครพูดถึงเรือเมล์ที่วิ่งในอ่าวไทยมากนัก ทั้งๆ นี่ก็คือรากฐานการสาธารณูปโภคด้านคมนาคมขนส่งยุคแรกๆ หลังการปฏิรูปใหญ่ให้ประเทศทันสมัย Westernization ในสมัยรัชกาลที่ 5

 

บริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก นั้นมีความใกล้ชิดกับราชสำนักสยามมาก ไม่ได้เป็นแค่บริษัททำไม้ในภาคเหนือธรรมดา กิจการของบริษัทชาวเดนมาร์คบริษัทนี้เติบโตขยายออกจากการทำไม้ไปสู่การค้าและการขนส่งจนครอบคลุมเอเชียอาคเนย์ นอกจากเรือเมล์ที่วิ่งระหว่างบางกอกกับสิงคโปร์เชื่อมต่อเส้นทางยุโรปอเมริกาแล้ว ยังมีเส้นทางภายในประเทศอีกหลายเส้น แต่ราชสำนักสยามคงเห็นว่ากิจการขนส่งเป็นเส้นเลือดสำคัญควรที่รัฐเข้าไปมีบทบาทรู้เห็น ต่อมาจึงได้มีพระบรมราชโองการตั้งบริษัทเรือไฟไทยทุน เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ.2451 (ร.ศ.127) โดยบริษัทดังกล่าวมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมติอมรพันธุ์ และหม่อมไพชยนต์เทพ ร่วมถือหุ้นกับฝรั่ง (ห้างอีสต์เอเชียติ๊ก) รวม 7 รายเป็นผู้ก่อตั้งด้วยทุน 2 ล้านบาท (ต่อมาประกาศกระจายหุ้นเพิ่ม) วัตถุประสงค์เพื่อ ทำการเดินเรือเมล์ในอ่าวสยาม และ รับซื้อเรือ โอนจากบริษัทอีสต์เอเชียติ๊กที่เคยใช้ในอ่าวสยามและอ่าวใกล้เคียงมาไว้ใช้ในกิจการ

 

 

แม้ว่า อีสต์เอเชียติ๊กนั้นจะมีความใกล้ชิดและจงรักภักดีกับราชสำนักสยาม แต่ทว่าการคมนาคมเป็นกิจการสำคัญของรัฐไม่อาจปล่อยให้บริษัทเอกชนต่างชาติดำเนินการเองโดยเอกเทศ จึงต้องมีกิจการที่มีฝ่ายสยามเข้าร่วมถือหุ้นตลอดถึงรับซื้อเรือขนส่ง เรือลำเลียงต่างๆ ของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊กทั้งหมดมาเป็นสมบัติของบริษัทเรือไฟไทย ที่แม้จะเป็นหุ้นของฝ่ายไทยส่วนน้อยแต่รัฐก็สามารถรับรู้ถึงกิจกรรมการดำเนินการภายในได้ละเอียดในฐานะผู้ร่วมถือหุ้น

 

นี่คือรูปแบบและนโยบายการคมนาคมทางเรือในสมัยที่เทคโนโลยีและกิจการใหม่ๆ แบบของฝรั่งเริ่มเข้ามา และก็ยังสะท้อนว่าบรรพบุรุษของเราระมัดระวังกับผลประโยชน์ประเทศชาติกันแบบไหน