ถ้ามีการประชุมพนักงานแล้วหัวหน้าหรือประธานของที่ประชุมตั้งคำถามว่า “ใครเห็นแก่ได้ ยกมือขึ้น” ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครในที่ประชุมยกมือ บางทีอาจจะเห็นผู้เข้าประชุมมองซ้ายมองขวาหรือมองข้างหน้ามองข้างหลังเพื่อดูว่า จะมีใครยกมือแสดงตัวบ้าง
ผมเชื่อว่าแม้มีคนเห็นแก่ได้นั่งอยู่แต่คงไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะยกมืออย่างแน่นอน เพราะคงไม่มีใครอยากถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ได้ เพราะดูเป็นคนไม่ดี เป็นคนงก ไม่น่าคบหาสมาคม หรืออาจถึงขึ้นไม่น่าจ้างให้เป็นพนักงานว่าไหมครับ
ทั้ง ๆ ที่สัญชาติญาณเบื้องลึกของคนทุกคนเห็นแก่ได้ทั้งนั้นแหละ ผมไม่ได้ว่าใครนะครับเพราะผมก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ถูกอบรมหรือสั่งสอนให้ควบคุมไว้ภายในไม่แสดงให้ใครรู้ เดี๋ยวจะกลายเป็นคนอันตรายไม่น่าคบหาสมาคมด้วย จึงไม่ค่อยมีใครยอมรับความจริงที่ไม่งามง่าย ๆ หรอก เชื่อผมเถอะ
ดังนั้นผู้ที่เป็นนักบริหารจึงควรที่จะระลึกถึงเรื่องนี้ เวลาต้องการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำอะไรให้เราหรือบริษัทด้วยความเต็มอกเต็มใจและเต็มที่ สิ่งที่ควรต้องใช้ประกอบการขอให้พนักงานปฏิบัติคือ ถ้าเขาทำแล้วเขาจะได้ผลประโยชน์อะไร เช่น ถ้าต้องการให้พนักงานมาทำงานวันหยุด คงต้องบอกให้ชัดเจนไม่มีข้อพะวงสงสัยว่า “เสาร์อาทิตย์นี่ ช่วยมาทำโอทีกันทุกคนนะ” ได้ยินอย่างนี้พนักงานก็สบายใจว่ามาทำงานวันหยุดเสาร์อาทิตย์นี้ ยังไงก็ได้เงินค่าโอทีแน่นอนเพราะเจ้านายบอกชัดถ้อยชัดคำ ถึงไม่อยากมาแต่จำเป็นต้องมาเพราะเจ้านายขอร้อง ก็พอปลอบใจตัวเองได้ว่า “เออ ไปเอาโอทีก็ดีเหมือนกัน ยังไงก็ดีกว่าอยู่เปล่า ๆ”
ไม่ใช่พูดกำกวม “เสาร์อาทิตย์นี้มาช่วยกันหน่อยนะ ถึงเป็นวันหยุดก็ต้องมาช่วยกัน เดี๋ยวของเสร็จไม่ทันออเดอร์” ได้ยินแบบนี้พนักงานบางคนชักไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้ว่าเป็นงานที่ได้ค่าจ้างโอทีหรือเปล่า หรือเป็นงานกาชาดทำเป็นกุศล ได้ยินแล้วอาจถึงขั้นนอนไม่หลับเพราะกลัวทำงานกุศลนี่แหละ วันเสาร์มาทำงานด้วยความอิดโรยเพราะอดนอน พอมาถึงเขาให้เซ็นชื่อรับโอที ค่อยหายใจโล่งอก แต่ประสิทธิภาพในการทำงานลดไปแยะเพราะนอนน้อยไปหน่อย
นี่ถ้าคนเป็นหัวหน้าเข้าใจธรรมชาติของคนว่าเห็นแก่ได้ พูดแบบสมบูรณ์ครบวงจรเสียแต่แรกว่า “มาทำโอที” ก็คงไม่มีใครนอนไม่หลับ อาจนอนหลับฝันดีเสียอีกเพราะอยากได้โอทีอยู่แล้วก็ได้
เพราะฉะนั้น ถ้านักบริหารคนใดเกิดหลงลืมแบบไม่ได้เจตนา บอกกับลูกน้องแบบสั้น ๆ ห้วน ๆ ว่า “เสาร์อาทิตย์นี้มาช่วยกันทำงานหน่อยนะ” แล้วมีพนักงานบางคนกล้าหาญร้องถามว่า “มีโอทีไหมครับ ลูกพี่” ต้องถือว่าโชคดีว่ามีตัวช่วยมาเติมให้เต็ม ต้องฉวยโอกาสเลยนะครับ “ขอบคุณน้องที่ถาม ผมก็ลืมบอกไป มีโอทีทั้งเสาร์อาทิตย์” รับรองว่าพูดจบลูกน้องทุกคนต้องพอใจเพราะหายสงสัย
ไม่ใช่โดนถามแล้วกลับโมโหโทโสสวนกลับไปว่า “ถามทำไมวะ ไม่น่าถามเลย ให้มาทำงานวันหยุดยังไงก็ต้องโอทีอยู่แล้ว ไม่งั้นก็ผิดกฎหมาย กูรู้น่า”
การขอให้คนทำนั่นทำนี่ ถ้าทำแล้วได้ผลประโยชน์ตอบแทนด้วย ก็ย่อมทำให้ผู้ถูกสั่งให้ทำมีกำลังใจในการทำเพิ่มขึ้น เมื่อรู้เข่นนี้แล้วนักบริหารต้องพูดให้ชัดเจนอย่าคลุมเครือ แม้ว่าสิ่งที่ได้นั้นจะต้องได้อยู่แล้วตามกฎระเบียบ ก็พูดย้ำไปไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน มีแต่จะได้ ขอให้เชื่อ
หรือถ้ามีอะไรเพิ่มเติมมากไปกว่าโอทีก็บอกไปด้วย เช่น “มาทำโอทีทุกคนนะ กลางวันมีเลี้ยงข้าวด้วย” ฟังแล้วจะทำให้เต็มอกเต็มใจมาทำงานเพิ่มขึ้นก็ได้ ไม่เชื่อก็ลองทำดู ลงทุนมากขึ้นหน่อยคือค่าอาหาร แต่ได้ใจได้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นแน่ ๆ ผมรับรอง
ผลประโยชน์นี่อาจไม่ใช่เป็นข้าวของเงินทองก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่คนรู้สึกว่าได้ก็แล้วกัน เช่น อยากให้พนักงานแต่งเครื่องแบบมาทำงานก็ต้องคิดว่าเขาได้อะไร ไม่ใช่แค่ “ขอให้แต่งเครื่องแบบทุกคนนะครับ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เจริญหูเจริญตา” เพราะคนฟังอาจจะเป็นพวกไร้ระเบียบก็ได้
หรือ “แต่งเครื่องแบบนะครับ เพื่อความสวยงาม” บางคนอาจไม่ได้ต้องการความสวยงาม หรือความสวยงามในทัศนะบริษัทอาจไม่ตรงกับความสวยงามในสายตาพนักงานก็ได้
แต่ถ้าบอกว่า “ขอให้แต่งเครื่องแบบทุกคนเพื่อความสะดวกในการเข้าออกบริษัท ขณะนี้มีข่าววินาศกรรมมากมาย ทางบริษัทจะเข้มงวดการเข้าออก ถ้าแต่งเครื่องแบบก็จะทำให้ผ่านการตรวจได้เร็วขึ้น” น่าจะจูงใจพนักงานให้แต่งได้แรงกว่า เพราะคงไม่มีใครไม่ชอบความสะดวกหรอกนะ
หรือถ้าถึงขั้น “ขอให้แต่งเครื่องแบบทุกคนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของท่าน” ผมเชื่อว่าจะเรียกความสนใจติดตามฟังมากขึ้น “เพราะทางบริษัทตระหนักถึงภัยจากการทำงานกับเครื่องจักรกลว่าอันตรายแค่ไหน จึงออกแบบเครื่องแต่งกายให้รัดกุม ถ้าแต่งกันเองเกิดรุ่มร่ามไปก็อาจโดนเครื่องเกี่ยวดึงเข้าไป แต่งฟิตเปรี๊ยะก็อาจได้รับอันตรายจากคนคุมเครื่อง แต่งเครื่องแบบดีกว่า ปลอดภัยแน่ ๆ”
ข้อเสนอแนะต่อนักบริหารว่า เมื่อจะให้พนักงานทำอะไรขอให้จินตนาการก่อนออกปากกับพวกเขาว่า ถ้าเขาทำตามที่เราบอกเขาจะได้ผลประโยชน์อะไร ถ้าเป็นเงินเป็นทองได้ยิ่งดี แต่ถ้าไม่ได้ถึงขนาดนั้นลองวิเคราะห์ต่อไปซิว่า มีผลประโยชน์อย่างอื่นที่ทำให้คนฟังรู้สึกว่า “ได้” ไหม ดังตัวอย่างที่ผมยกมาข้างต้น
ขอให้เชื่อเถอะครับ คนเรานั้นไม่ค่อยแสดงตัวหรอกครับว่า “เห็นแก่ได้” แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่ค่อยเห็นอะไรเหมือนกัน